xs
xsm
sm
md
lg

ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าติดตาม ในช่วงค่ำคืนเดือนตุลาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากการมาเยือนของ “ดาวหางจื่อจินซาน - แอตลัส” ที่สามารถชมความสวยงามกันได้เกือบตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2567 ในเดือนนี้ ก็ยังมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลของเราที่น่าสนใจ ปรากฏให้ได้เห็นบนท้องฟ้าให้ได้ชมความสวยงามได้ด้วยตาเปล่า ในช่วงตั้งแต่เวลาหัวค่ำ – จนถึงรุ่งเช้า ได้แก่  ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี และ ดาวอังคาร


โดยช่วงเวลาที่ดาวต่างๆ จะปรากฏให้เห็นมีดังนี้

1. ดาวศุกร์ : สามารถเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก ตั้งแต่เวลา 18.15 – 19.50 น.

ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ เป็นลำดับที่ 2 เมื่อมองจากโลกในตอนกลางคืน ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าซึ่งสว่างรองลงมาจากดวงจันทร์ ดาวดวงนี้มีวงโคจรอยู่ภายในวงโคจรของโลก ทำให้เมื่อสังเกตแล้วจะไม่ปรากฏว่าห่างจากดวงอาทิตย์มากนัก กล่าวคือ จะเห็นในตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่า "ดาวประจำเมือง" หรือเห็นในตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่า "ดาวประกายพรึก"


2. ดาวเสาร์ : สามารถเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ เริ่มปรากฏทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ตั้งแต่เวลา 18.20 – 03.20 น.

ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 6 จากดวงอาทิตย์ ถัดจาก ดาวพฤหัสบดี และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของระบบสุริยะ รองจาก ดาวพฤหัสบดี มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือวงแหวนที่งดงาม จนได้รับฉายา "ราชาแห่งวงแหวน" และยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีดาวบริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ


3. ดาวพฤหัสบดี : เริ่มปรากฏทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ตั้งแต่เวลา 21.45 – รุ่งเช้า

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 ดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และยังเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุด เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ


4. ดาวอังคาร : เริ่มปรากฏทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน – รุ่งเช้า

ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 จากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์เล็กที่สุดอันดับที่สองในระบบสุริยะ รองจากดาวพุธ ด้วยมีวงโคจรถัดจากโลกของเรา ดาวอังคารจึงสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลกโดยง่าย ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเป็นดาวสีออกแดง มีความส่องสว่างปรากฏเป็นรองเพียง ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดวงจันทร์

________________________________________________________________

ข้อมูล – ภาพอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น