xs
xsm
sm
md
lg

NIA ร่วมกับ ADB หนุนต่อยอดสตาร์ทอัพไทยสายเกษตร ปรับวิถีทำนาสู้โลกร้อนอย่างยังยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือ ADB จับมือผสานเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ จากฝีมือสตาร์ทอัพด้านเกษตรไทย 5 ราย ได้แก่ ไบโอม (BIOM Company Limited), ลิสเซินฟิลด์ (ListenField) อีซี่ไรซ์ (Easy Rice Digital Technology) - อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี, บอร์นไทยแลนด์ (Born Thailand แหล่งรวมสินค้าชุมชนเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วไทย) และวาริชย์ (Warich แปรรูปสินค้าเกษตร) จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรมากกว่า 50 ราย พร้อมแถลงข่าวและเยี่ยมชมแปลงนาสาธิต 12 ไร่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแสดงถึงแนวทางยกระดับการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ด้วยการทำการเกษตรแม่นยำ เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พร้อมด้วย นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA และ ดร.ศรีนิวะสัน อันชา ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงาน


ดร.กริชผกา กล่าวว่า การปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ผ่านมาการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมต้องอาศัยปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรม ผลผลิตลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากชาวนาต้องการพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการแปลงเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้

ดังนั้น สตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA มีนวัตกรรมหลากหลายที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการปลูกข้าว ผ่านการจัดทำโครงการ “ต้นแบบการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank: ADB ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน ซึ่งการทำแปลงนาสาธิตจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมการปลูกข้าวสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”


ด้าน ดร.ศรีนิวะสัน กล่าวเสริมว่า ... “โครงการสาธิตการปลูกข้าวยั่งยืนฯ เป็นหนึ่งโครงการที่ ADB ให้การสนับสนุน เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวในอนาคต ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคแม่โขงที่เรียกว่า Greater Mekong Subregion ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหากโครงการสาธิตนี้ประสบความสำเร็จ ADB อาจขยายผลเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต เช่นเดียวกับโครงการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำคุณภาพสูงในเวียดนาม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์”

รวมทั้งยังมีกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั้ง 5 ทีม ให้กับเกษตรกรมากกว่า 50 ราย เพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติให้เข้าใจถึงการนำไปใช้งานกับการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น