ก่อนหน้านี้ “ส้มโอ” หนึ่งในผลไม้ขึ้นชื่อของไทยยังไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากส้มโอไทยยังไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดของไทยได้ 7 ชนิด คือ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด ซึ่งจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติม ให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักวิจัยไทย ในการนำงานวิจัยการฉายรังสีผลไม้ มาต่อยอดให้ส้มโอไทยได้ส่งออกสู่ตลาดสากล
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจากศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้มีการพัฒนาการฉายรังสีส้มโอไทยให้ประสบความสำเร็จพร้อมส่งออกไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสวนส้มโอ
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ม.นเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
การดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ดำเนินการวัดการกระจายปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ (กล่องที่บรรจุส้มโออยู่ภายใน) โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา มาร่วมดำเนินการรับรองผลไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยโครงการดังกล่าวมีเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 2 ราย ได้แก่ คุณแล โพธิ์วัด แห่งสวนลุงแล และคุณบุญเกิด มีทวี แห่งศูนย์ส่งออกส้มโอบ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างดี
สำหรับโครงการวิจัยครั้งนี้ ทาง สทน.ได้ดำเนินในขั้นตอนการฉายรังสี ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนส่งออก โดยทีมนักวิจัยได้นำส้มโอหลากหลายพันธุ์มาฉายรังสีแกมมาที่ปริมาณรังสี 400 เกรย์ แล้วศึกษาความ สม่ำเสมอในการกระจายของรังสี (dose mapping) ในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพส้มโอ ส้มโอที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาหรือรังสีเอกซ์สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 - 15 เซลเซียสได้นาน 60 วัน โดยไม่มีผลต่อคุณภาพและรสชาติเมื่อเทียบกับส้มโอที่ไม่ผ่านการฉายรังสี