xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาคมเดือนแห่งการชม “ดาวหาง” จื่อจินซาน – แอตลัส (C/2023 A3) และ แอตลัส (C/2024 S1) ที่สว่างจนมองได้ด้วยตาเปล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ทั่วโลกได้ชมความงดงามของ ดาวหางจื่อจินซาน – แอตลัส (Tsuchinshan – ATLAS) ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ดาวหางดวงนี้ก็ยังคงปรากฏให้เห็นจนถึงช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม แต่ในช่วงเดือนตุลาคมนั้น ดาวหางดวงจะเปลี่ยนเวลาในการปรากฏให้เห็น มาเป็นช่วงเวลาหัวค่ำในทางทิศตะวันตกโดยจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 18:35 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จากนั้นในวันถัด ๆ ไปจะสังเกตการณ์ได้นานขึ้น โดยในวันที่ 13 ตุลามคม จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อยๆ





นอกจากจะได้ชมดาวหางจื่อจินซาน – แอตลัส เกือบตลอดทั้งเดือนตุลาคมแล้ว ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ได้มีการเผยว่า มีการค้นพบดาวหางดวงใหม่ คือ ดาวหางแอตลัส (ATLAS) ที่จัดเป็นดาวหางในกลุ่ม Kreutz sungrazer ดังเช่นดาวหาง Ikeya-Seki ที่เคยปรากฏสว่างจนมองเห็นบนท้องฟ้ายามกลางวันเมื่อปี พ.ศ. 2508

ดาวหางแอตลัส หรือ C/2024 S1 (ATLAS) หรือชื่อเดิม A11bP7I ค้นพบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ณ หมู่เกาะฮาวาย จากการคำนวณเบื้องต้นชี้ว่า ดาวหางดวงนี้กำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และมีทิศทางการเคลื่อนที่สอดคล้องกับดาวหางกลุ่ม “Kreutz sungrazer” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และเป็นกลุ่มเดียวกับดาวหางอันโด่งดัง ได้แก่ Lovejoy และ Ikeya-Seki จึงมีโอกาสสูงมากที่ดาวหางจะเพิ่มความสว่างมากกว่านี้หลายเท่าตัว


ข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ ดาวหางแอตลัสมีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวงูไฮดรา และมีความสว่างปรากฏล่าสุดอยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 13.1 คาดว่าจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 131 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ระยะห่างประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เฉียดใกล้มาก ในช่วงเวลานี้เองที่ดาวหางจะปรากฏสว่างมาก และเราต้องมาลุ้นกันว่าดาวหางจะอยู่รอดหรือไม่

ดาวหางกลุ่ม “Kreutz sungrazer” เป็นกลุ่มของดาวหางที่มีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งดาวหางบางดวงอาจเฉียดเข้าใกล้เพียงไม่กี่ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ช่วงที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดก็จะมีระยะห่างออกนับร้อยเท่าของระยะห่างโลก - ดวงอาทิตย์ ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหางกลุ่มนี้มีต้นกำเนิดมาจากดาวหางขนาดใหญ่ดวงเดียว แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ดาวหางแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และยังคงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป จึงเกิดเป็นดาวหางกลุ่มนี้ขึ้น




ข้อมูล – ภาพอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT , สมาคมดาราศาสตร์ไทย , Picture : Gerald Rhemann, Michael Jager, Denis Moller


กำลังโหลดความคิดเห็น