ในปัจจุบัน! ความแปรปรวนของสภาพอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเกษตรกรที่รอคอยผลผลิตจากพืชผัก - ผลไม้ที่ปลูกไว้ และ “ลิ้นจี่” ก็ถือเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ในบางปีผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ สร้างผลกระทบในเรื่องรายได้ให้กับชาวสวน
ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้มีการคิดวิธีในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ด้วยการนำ นวัตกรรมเพิ่มผลผลิตลิ้นจี่ ใน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ลงพื้นที่สนับสนุนให้เกษตรกรเตรียมพร้อมต้นพันธุ์ ไม่ต้องกังวลอากาศแปรปรวน สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลของ “ลิ้นจี่ค่อม” ผลไม้ขึ้นชื่อของ จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยการดำเนินงานลงพื้นที่เพื่อทดสอบการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่ ในพื้นที่ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 7 พื้นที่ จำนวนกว่า 200 ต้น ตัวอย่างเช่น แปลงสาธิตที่ 1 ณ สวนนายบุญมา นวมสุคนธ์ และแปลงสาธิตที่ 2 ณ สวนลิ้นจี่ 200 ปี เป็นต้น
โดยมีขั้นตอนกระบวนการผลิต ดังนี้
1. เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้เกษตรกรฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล
2. เมื่อลิ้นจี่ติดผล ให้เกษตรกรฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่ จากการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (โดยเปรียบเทียบต้นให้สารและไม่ให้สาร) ดังนี้ การออกดอกของต้นให้สารจะหนาแน่นกว่าประมาณ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ และต้นไม่ให้สารจำนวน 50 ต้น ไม่ออกดอกและผล 6 ต้น ส่วนในต้นให้สาร 150 ต้น ไม่ออกดอกและผล 1 ต้น แต่ในปีไม่หนาวต้นให้สารและไม่ให้สารจะออกดอกและผลแตกต่างมากกว่าปีที่มีอากาศหนาวยาวนานแบบปีนี้
นวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพโดย วว. มีจุดเด่น คือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อน ช่วยเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ณ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พบว่า ผลผลิตลิ้นจี่มีปริมาณสูงขึ้น ผลมีขนาดโต เกรดและคุณภาพลิ้นจี่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต ทำให้รายได้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น วว. พร้อมขยายผลการดำเนินงานในรูปแบบโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ