xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” เน้นย้ำการลงทุนใน “ทุนมนุษย์” ขณะปาฐกถาพิเศษที่ STS forum 2024 ในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” ปาฐกถาพิเศษในการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 21 เวที STS forum 2024 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ชี้ไทยให้ความสำคัญกับ “ทุนมนุษย์” มุ่งพัฒนาการศึกษา ด้าน STEM ความรู้ด้านดิจิทัล ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานหมุนเวียนพร้อมเชื่อมมหาวิทยาลัย -  อุตสาหกรรม - สถาบันวิจัย ผลักดันการวิจัยที่มีผลกระทบสูงเพื่อนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม สาธารณสุข สุขภาพ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 21 (Science and Technology Minsters' Roundtable) ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ กว่า 21 ประเทศ ในการประชุม STS forum 2024 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในประเด็น “Transformative Science, Technology and Innovation Policy to Strengthen Innovation Ecosystems” ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับนานาชาติ โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมผู้บริหาร นักวิจัย และตัวแทนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วมอย่างคับคั่ง 

โอกาสนี้ น.ส.ศุภมาส ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ปัจจุบันทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายระดับโลก ที่ต้องใช้แนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวกันในการร่วมรับมือและแก้ไขปัญหา ซึ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมคือกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการเผชิญกับปัญหาความท้าทายเหล่านั้น โดยทุกฝ่ายควรร่วมกันปรับเปลี่ยนนโยบายและสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง โดยในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและพัฒนาในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย “ทุนมนุษย์” ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา นโยบายการศึกษาไทยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาในด้าน STEM ความรู้ด้านดิจิทัล และทักษะที่จำเป็น เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานหมุนเวียน 

รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การพัฒนาความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมยังถือเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัย เพื่อผลักดันการวิจัยที่มีผลกระทบสูงและสามารถประยุกต์ใช้ในภาคส่วนสำคัญอย่างเกษตรกรรม สาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ รวมถึงเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม โดยผ่านความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมและนักวิจัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการคิดค้นและพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาสุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเครื่องมือดิจิทัลจะเป็นรากฐานของนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
 
“ความร่วมมือระหว่างประเทศและการแบ่งปันองค์ความรู้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน ซึ่งการพัฒนาและการขับเคลื่อนนวัตกรรมในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก และเราต้องใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อผลักดันวาระการพัฒนาร่วมกัน” น.ส.ศุภมาส กล่าว














กำลังโหลดความคิดเห็น