"ศุภมาส" นำทีมผู้บริหาร นักวิจัย กระทรวง อว.เข้าร่วมประชุม STS forum 2024 เวทีหารือด้านนโยบาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ชูสร้างคนรุ่นใหม่นำพาประเทศไทยมุ่งสู่อนาคตพร้อมแก้ปัญหาท้าทายทั้งโลกร้อน วิกฤติสิ่งแวดล้อม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้นำคณะผู้บริหาร นักวิจัยและอาจารย์จากสถาบันวิจัยชั้นนำและสถาบันอุดมศึกษาของไทยภายใต้กระทรวง อว. เข้าร่วมการประชุม STS forum 2024 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้ระหว่างผู้นำจากหลายสาขาเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคม โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นักวิจัยและผู้นำรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน
น.ส.ศุภมาส ได้ร่วมภิปรายกับรัฐมนตรีและผู้นำหน่วยงานชั้นนำจากประเทศต่างๆ ในหัวข้อ “Opening Plenary Session: The World in 2024 -- What do we need from S&T?” ว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย เช่น ข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การเผชิญกับปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ โดยขณะนี้ ประเทศไทยภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังนำพาประเทศไทยมุ่งสู่อนาคตด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียว และยานยนต์แห่งอนาคตด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน เรายังเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ AI เพื่อการศึกษา และยังเตรียมพร้อมเผชิญความท้าทายสำคัญ คือ วิกฤติภูมิอากาศที่ทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมในหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของสะเต็มศึกษา (STEM Education) ในการเตรียมคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย
“ดิฉันเชื่อว่าการทำความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาและแบ่งปันความรู้ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันผ่านนวัตกรรม” น.ส.ศุภมาส กล่าว