xs
xsm
sm
md
lg

รางวัล Kavli ปี 2024 สำหรับการศึกษาบรรยากาศบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ สถาบัน Norwegian Academy of Science and Letters (NASL)ได้ประกาศข่าวการมอบ รางวัล Kavli ประจำปี 2024 ให้แก่ David Charbonneau(1974-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย Harvard กับ Sara Seager (1971-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในสหรัฐอเมริกา จากผลงานที่ได้พบดาวเคราะห์จำนวนมากที่อยู่นอกระบบสุริยะ และได้ศึกษาธรรมชาติของบรรยากาศเหนือดาวเคราะห์เหล่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถชี้บอกความเป็นไปได้ว่า จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เหล่านั้นหรือไม่




รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ Fred Kavli (1927–2013) ซึ่งเป็นวิศวกรชาวอเมริกัน เชื้อชาตินอร์เวย์ได้จัดตั้งขึ้น โดยกำหนดให้องค์กร NASL กระทรวงศืกษาธิการและวิจัยของนอร์เวย์ กับมูลนิธิ Kavliเป็นผู้ตัดสินทุก 2 ปี สำหรับผลงาน 3 ด้าน คือ ด้าน astrophysics, ด้าน nanoscience และด้าน neuroscience ที่ Kavli สนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เล็กที่สุด และซับซ้อนที่สุด ในเอกภพ เงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์จะมอบให้แก่ผู้พิชิตจำนวนไม่เกิน 3 คน ต่อ 1 รางวัล


นับตั้งแต่ปี 2008 ที่มีการแจกรางวัลเป็นครั้งแรก จนนับถึงวันนี้ได้มีผู้ได้รับรางวัลไปแล้ว 73 คน จาก 19 ประเทศ และมีคน 10 คนที่หลังจากได้รับรางวัล Kavli แล้ว ก็ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา


สำหรับรางวัลในสาขา astrophysics นั้น ในอดีตมี Kip Thorne (1940-ปัจจุบัน) กับ Rainer Weiss (1932-ปัจจุบัน) ซึ่งได้รับรางวัล Kavli ประจำปี 2016 และได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ในปีต่อมา ส่วน Ronald Drever (1931–2017) ซึ่งได้รับรางวัล Kavli ร่วมกับ Thorne และ Weiss กลับไม่ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ในปี 2017 เพราะได้เสียชีวิตไปก่อน


ตามปกติในการตัดสินผู้สมควรได้รับรางวัล Kavli องค์กร NASL ของนอร์เวย์จะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ โดยได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลจากสถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น The Chinese Academy of Sciences ของจีน, The Max Planck Society ของเยอรมนี, The National Academy of Sciences ของสหรัฐอเมริกา, The French Academy of Sciences ของฝรั่งเศส และ The Royal Society ของอังกฤษ เป็นต้น


Fred Kavli ผู้จัดตั้งรางวัล Kavli เป็นชาวนอร์เวย์ ซึ่งได้ถือกำเนิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Eresfjord ในนอร์เวย์เมื่อปี 1924 ในวัยเด็ก Kavli สนใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยีมาก จึงได้เข้าศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ Norwegian University ณ เมือง Trondheim เมื่อสำเร็จการศึกษาได้อพยพไปทำงานที่ Canada แล้วเดินทางไปทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อจัดตั้งบริษัท Kavli Corporationผลิตอุปกรณ์วัด (sensor) ซึ่งมีความไวสูงมาก และสามารถอ่านข้อมูลปริมาณมากได้อย่างถูกต้อง ภายในเวลารวดเร็ว ในปี 1958 บริษัท Kavlico สามารถทำกำไรได้มาก เพราะอุปกรณ์ sensors ได้ถูกนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในบ้าน และในวงการอุตสาหกรรมหนักก็มีการใช้ sensor มาก แม้แต่ในเครื่องบินจารกรรมสอดแนมที่มีความเร็วสูง เช่น เครื่องบิน SR-71 Blackbird กับกระสวยอวกาศก็ใช้ sensors ของ Kavlico อย่างแพร่หลาย ทำให้บริษัท Kavlico มีทุนสำรองมากถึง 340 ล้านดอลลาร์ Kavli จึงได้จัดตั้งมูลนิธิ The Kavli Foundation ขึ้น เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และมูลนิธิก็ได้จัดตั้งรางวัล Kavli ขึ้นมา เพื่อให้กำลังใจแก่นักวิจัยที่ได้อุทิศตัวทำงานอย่างตรากตรำมาเป็นเวลานาน

เราจะเริ่มบทความนี้ด้วยคำจำกัดความของดาวเคราะห์ก่อน จากเดิมที่เคยให้คำจำกัดความว่า เป็นดาวที่ไม่มีแสงในตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นคาบที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อถึงปี 2006 IAU (จากคำเต็ม International Astronomical Union)ก็ได้เปลี่ยนคำจำกัดความของดาวเคราะห์ใหม่ว่า เป็นวัตถุท้องฟ้าที่โคจรรอบดาวฤกษ์ มีแรงโน้มถ่วงในตัวเอง ที่สามารถดึงดูดเนื้อดาวให้อยู่ในสมดุลได้ อีกทั้งมีวงโคจรที่เป็นเอกเทศ คือ ไม่ตัดกับวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ


จากคำจำกัดความใหม่ของของเคราะห์นี้ดาว Pluto จืงต้องลดสถานภาพจากดาวเคราะห์ธรรมดาไปเป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ เพราะคิดว่ามันเป็นการกระทำโดยพลการของนักดาราศาสตร์ในที่ประชุมวิชาการ โดยใช้วิธีลงคะแนน แล้วตัดสิน โดยใช้เสียงข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์เลย

แต่ในความเป็นจริง ความรู้วิทยาศาสตร์ทุกเรื่อง ถ้ามีการพบองค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้อง ซื่งแตกต่างไปจากเดิม และองค์ความรู้นั้นมีเหตุผล การโล๊ะทิ้งความรู้เก่าก็จำเป็นต้องทำ ในกรณีของดาว Plutoนั้น เดิมเราเคยคิดกันว่า Pluto มีมวลมากพอ ๆ กับโลก แต่การศึกษาดาวดวงนี้ในเวลาต่อมา ได้พบว่ามันมีมวลประมาณ 1/475 เท่าของโลกเท่านั้นเง อีกทั้งมีระนาบวงโคจรที่เบี่ยงเบนไปจากระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆมาก จนในบางเวลาได้เข้ามาอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาว Neptune เสียอีก ดังนั้นตามคำจำกัดความใหม่ Pluto จึงไม่สามารถดำรงสถานภาพเป็นดาวเคราะห์ได้อีกต่อไป


ในความเป็นจริง มนุษย์ได้พยายามค้นหาดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะมาเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่ปลายคริสตวรรษที่ 16 เมื่อนักบวชชาวอิตาเลียนชื่อ Giordano Bruno (1548-1600) ได้แถลงความเชื่อส่วนตัวว่า เอกภพมีดาวเคราะห์อีกเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

ถ้อยแถลงนี้ ได้ทำให้โลกมนุษย์หมดความสำคัญลงไปในทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาสนจักรในเวลานั้นยอมรับไม่ได้ Bruno จึงถูกตัดสินนำตัวไปเผาทั้งเป็นที่จัตุรัส Campi de Fiori ในกรุงโรม เมื่อปี 1600

ในเวลาต่อมา Christiaan Huygens (1629-1695) นักฟิสิกส์และดาราศาสตร์ชาวดัชต์ก็ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะตามความเชื่อของ Bruno แต่ไม่พบ เพราะกล้องที่ Huygens ใช้ มีประสิทธิภาพต่ำ และดาวเคราะห์เหล่านั้นในความเป็นจริงอยู่ไกลจากโลกมาก นอกจากนี้ การไม่มีแสงในตัวเองก็ยิ่ง ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นมันได้ยาก เปรียบเสมือนการที่เรายืนอยู่บนดวงจันทร์ แล้วพยายามจะเห็นตัวหิ่งห้อยที่บินอยู่ใกล้บ้านที่กำลังถูกไฟไหม้บนโลก


วันเวลาได้ผ่านไปอีกนานกว่าสามศตวรรษ จนถึงวันที่ 9 มกราคม ปี 1992 สองนักดาราศาสตร์ชื่อ Aleksander Wolszczan (1946-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania State กับ Dale Frail (1961-ปัจจุบัน) ก็ได้พบดาวเคราะห์ 2 ดวง โคจรอยู่รอบดาว pulsar PSR B1257+12 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ที่ประเทศ Puerto Rico ในการ”เห็น”ครั้งนั้นว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวง มีมวล 3.4 กับ 2.8 เท่าของโลก และมีวงโคจรที่ทำให้มันอยู่ห่างจากดาว pulsar เป็นระยะทาง 0.38 AU กับ 0.47 AU ตามลำดับ (1 AU Astronomical Unitคือ ระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ยเท่ากับ 150 ล้านกิโลเมตร)

การค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ในครั้งนี้ได้ทำให้ชาวโปแลนด์ทั้งประเทศรู้สึกยินดีมาก เพราะคิดว่ามันเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าการค้นพบของ Nicolaus Copernicus (1473-1543) ผู้ได้พบว่า ดวงอาทิตย์ คือ ศูนย์กลางของระบบสุริยะ

แต่ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวง มิได้โคจรรอบดาวฤกษ์ กลับโคจรรอบดาว pulsar ดังนั้นจึงมิอาจจัดได้ว่า เป็นระบบสุริยะตามความเข้าใจของคนทั่วไป


โลกต้องคอยอีกนาน 3 ปี จึงประจักษ์ว่า จินตนาการของ Bruno เป็นเรื่องจริง เมื่อ Michel Mayor (1942-ปัจจุบัน) กับ Didier Queloz (1966-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ ได้พบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ (exoplanet) จริง ๆ โดยดาวเคราะห์นี้กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อ 51 Pegasi ในกลุ่มดาวม้าบิน Pegasus เพราะคนทั้งสองได้เห็นดาวฤกษ์ดวงนี้เคลื่อนที่แบบโยกไป-โยกมา คือ เข้า ๆ ออก ๆ เพราะถูกอิทธิพลแรงโน้มถ่วงที่ดาวลึกลับกระทำต่อดาวฤกษ์ (นี่เป็นเหตุการณ์ปกติ ในกรณีของดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดี และดวงอาทิตย์กับโลกนั้น แรงโน้มถ่วงที่ดาวพฤหัสบดีกับโลกกระทำต่อดวงอาทิตย์ จะทำให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 12 เมตร/วินาที และ 0.1 เมตร/วินาทีตามลำดับ) ความเร็วที่เกิดขึ้นนี้ จะเปลี่ยนความยาวคลื่นแสงที่ดวงฤกษ์เปล่งออกมา จืงเป็นไปตามหลักของ Doppler


ดังนั้นการรู้ความยาวคลื่นแสงของดาวฤกษ์ที่เปลี่ยนไป จะทำให้เรารู้ความเร็วของดาวฤกษ์ และจะมีผลทำให้เรารู้มวลของดาวเคราะห์ที่ดึงดูดดาวฤกษ์ดวงนั้นด้วย ในที่สุด Mayor กับ Queloz ก็ได้พบว่า ดาวเคราะห์ลึกลับมีมวล 0.5 เท่าของดาวพฤหัสบดี และอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ 51 Pegasi ประมาณ 8 ล้านกิโลเมตร จึงโคจรไปรอบดาวฤกษ์ โดยใช้เวลาเพียง 4.33 วันเท่านั้นเอง และดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า 51 Pegasi b

ผลงานนี้ทำให้ Mayor กับ Queloz ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2019 เพราะได้บุกเบิกโลกวิทยาการสาขาใหม่ exoplanet scienceหรือ extra-solar planet science

หลังจากนั้นการสำรวจค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่ 2, 3, 4… ก็ได้ตามมา จนถืงวันที่ 19 กันยายน ปี 2024นี้ สถิติจำนวนดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะมีทั้งสิ้น 5,759 ดวงแล้ว โดยโคจรอยู่ในระบบสุริยะทั้งหมด 4,300 ระบบ และมี 963 ระบบ ที่มีดาวเคราะห์เป็นจำนวน มากกว่า 1 ดวงขื้นไป


ความสำเร็จในการพบดาวเคราะห์ทั้งหลายนี้ เกิดจากการใช้กล้องโทรทรรศน์ทั้งที่อยู่ในอวกาศ และที่ติดตั้งอยู่บนโลกซึ่งทำงานประสานกัน และมีอุปกรณ์ spectrometer ที่นักดาราศาสตร์ใช้วิเคราะห์แสงทั้งจากดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ เช่น กล้อง HARPS (High Accuracy Radial-Velocity Planet Searcher)ที่อยู่บนเกาะ La Palma ในสเปน ซึ่งทำงานร่วมกับกล้อง European Southern Observatory (ESO) ที่มีเลนส์ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 3.6 เมตร และกล้องนี้ติดตั้งอยู่ที่ที่ราบสูง La Silla ซึ่งอยู่กลางทะเลทราย Atacama ในประเทศชิลี นอกจากนี้ในบางโอกาสนักดาราศาสตร์ก็ยังต้องพื่งพากล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ด้วย จนทำให้คนทั้งโลกได้เห็นความหลากหลายทางกายภาพของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดฝันมาก่อน

ความแตกต่างที่เห็นได้ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องจำแนกประเภทของดาวเคราะห์เหล่านี้ เพื่อจะได้รู้และเข้าใจที่มาของดาวเคราะห์ทุกดวงในอดีต และล่วงรู้ที่ไปของมันในอนาคต

ผลงานการพบดาวเคราะห์จำนวนมากเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ Charbonneau กับ Seeger ผู้พิชิตรางวัล Kevli ประจำปี 2024นี้

ในภาพรวมนักดาราศาสตร์จืงได้จำแนกชนิดของดาวเคราะห์ตามลักษณะทางกายภาพของมัน ดังนี้


1. Hot Jupiter เป็นดาวเคราะห์ที่มีเนื้อดาวซื่งประกอบด้วยแก๊ส มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 50 เท่า และโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ประมาณ40% ของดาวเคราะห์ที่พบแล้ว เป็น Hot Jupiter

2. Puffy planet มีลักษณะคล้าย Hot Jupiter ในด้านมวล และมีวงโคจรที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก แต่ดาวเคราะห์ชนิดนี้มีความหนาแน่นน้อยกว่า ดังนั้นผิวดาวเคราะห์จึงพองฟู ตัวอย่างของดาวเคราะห์ชนิดนี้ คือ HAT-P-1

3. Hot Neptune มีมวลตั้งแต่ 10. ถืง50 เท่าของโลก และโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากเช่นกัน ดาวเคราะห์ตัวอย่างได้แก่ Gliese 436 b

4. Mini Neptune เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลน้อยกว่าดาว Neptune ในระบบสุริยะ แต่มีบรรยากาศหนาแน่น ที่อุดมด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม ตัวอย่างดวงเคราะห์ชนิดนี้ได้แก่ Kepler-11 b, c, d, e, และ f

5. Super Earth เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลตั้งแต่ 2-10 เท่าของโลก จึงมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจาก Mini Neptune มาก ตัวอย่างดาวประเภทนี้ได้แก่ Kepler-62 e และ f

6. Earth-mass planet เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากพอ ๆ กับโลก แต่มิได้โคจรรอบดาวฤกษ์ และโคจรอยู่ในบริเวณที่สิ่งมีชีวิตสามารถถือกำเนิดได้ ตัวอย่างดาวชนิดนี้ได้แก่ Alpha Centauri 8 b

7. Exo-Earth เป็นดาวเคราะห์ที่มีผิวเป็นหินแข็ง มีมวลตั้งแต่ 1-10 เท่าของโลก และโคจรอยู่ในบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ นักดาราศาสตร์จึงเรียกดาวเคราะห์ประเภทนี้ว่า Twin Earth, Earth 2.0 หรือ Earth analog

8. Pulsar planet เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาว pulsar ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนที่หลงเหลือจากการระเบิดของ supernova และสะเก็ดดาวที่เกิดขึ้นหลังการระเบิดได้กลายเป็นดาวเคราะห์ประเภทนี้ ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ตัวอย่างดาวเคราะห์ชนิดนี้ ได้แก่ PSR 1257+12 b, c, d ที่นักดาราศาสตร์ได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1992


9. Rogue planet เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่อย่างอิสระเสรี คือไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด เพราะเป็นดาวเคราะห์ที่ถูกทำให้กระเด็นหลุดออกจากระบบโดยอันตรกิริยาโน้มถ่วงของดาวอื่น ดาวชนิดนี้อาจจะมีมวลมากถึง 13 เท่าของดาวพฤหัสบดี และเมื่อไม่มีดาวฤกษ์ดวงใดอยู่ใกล้ อุณหภูมิของดาวประเภทนี้จึงต่ำมาก นักดาราศาสตร์บางคนเรียกดาวเคราะห์ชนิดนี้ว่า orphan planet (ดาวกำพร้า) homeless planet (ดาวไร้บ้าน) หรือ nomad planet (ดาวร่อนเร่) ตัวอย่างดาวชนิดนี้ได้แก่ CFBDSIR 2149-0403

10.Waterworld เป็นดาวเคราะห์ประเภท super-Earth ที่ผิวของดาวถูกปกคลุมด้วยน้ำ น้ำแข็ง ทะเล และมีบรรยากาศที่อุดมด้วยไอน้ำ ตัวอย่างดาวเคราะห์ชนิดนี้ได้แก่ Gliese 1214 b


11. Circumbinary planet เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์คู่ ดังนั้นระบบนี้จึงมีดวงอาทิตย์ 2 ดวง แทนที่จะมีดวงเดียวเหมือนระบบสุริยะของเรา ตัวอย่างดาวเคราะห์ประเภทนี้ ได้แก่ Kepler 16 b และ Tatooine

12. Eccentric planet เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรซื่งมีลักษณะรีมาก จนในบางเวลาที่ดาวอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ ดาวจะมีอุณหภูมิสูงมาก และในบางเวลาที่อยู่ไกลจากดาวฤกษ์มาก ดาวก็จะมีอุณหภูมิต่ำมาก ตัวอย่างดาวชนิดนี้ได้แก่
HD 80606 b

ความหลากหลายที่มีมากลักษณะเช่นนี้ ยังเป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำอธิบายได้ว่า ดาวเคราะห์แต่ละชนิดถือกำเนิดได้อย่างไร


สำหรับการศึกษาและวิเคราะห์บรรยากาศของดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ ซื่งเป็นผลงานสำคัญที่ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ทั้งสองคนได้รับรางวัล Kavli ประจำปีนี้ ก็มีที่มาจากผลงานในอดีตของ Mikhail Lomonosov (1711-1765)

พหูสูตชาวรัสเซีย ผู้ได้เห็นบรรยากาศของดาวศุกร์ในระบบสุริยะเป็นคนแรก อีกทั้งเป็นคนที่พบกฎทรงมวลในปฏิกิริยาเคมีด้วย


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1761 Lomonosov ได้เห็นดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ การเฝ้าดูเหตุการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ทำให้ Lomonosov เห็นดาวศุกร์เป็นวงกลมดำเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ และที่ขอบของวงกลมดำนั้นมีความมัว คือ ไม่คมชัด ในการอธิบายสิ่งที่เห็นนี้ Lomonosov ได้ชี้แจงว่า แสงจากดวงอาทิตย์ที่อยู่เบื้องหลังดาวศุกร์ ได้ถูกบรรยากาศบนดาวศุกร์ดูดกลืนและหักเห ทำให้ความเข้มแสงลดลง ขอบของวงกลมจืงปรากฏไม่คมชัด

Lomonosov นับเป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นบรรยากาศบนต่างดาว ที่อยู่ในระบบสุริยะ แต่ Carbonneau กับ Seeger เป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นบรรยากาศบนต่างดาวที่อยู่นอกระบบสุริยะ โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Corot ที่มีเลนส์เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 27 เซนติเมตร เพื่อดูเหตุการณ์ดาวเคราะห์โคจรตัดหน้าดาวฤกษ์ 120,000 ดวง ขณะ Corot โคจรอยู่ที่ระยะสูง 800 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน เพื่อจะดูความสว่างของดาวฤกษ์ที่ลดลง300ส่วนจาก1,000,000 ส่วน ขณะดาวฤกษ์ดวงนั้นถูกดาวเคราะห์บดบัง

ในปี 2015 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Corot ได้ทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ Terrestrial Planet Finder (TPF) เพื่อวิเคราะห์สเปกตรัมของธาตุและสารประกอบที่มีในบรรยากาศเหนือดาวเคราะห์ HD 209458 b และพบว่าในบรรยากาศนั้นมีธาตุ sodium, carbon, hydrogen ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอินทรีย์โมเลกุล

แต่กล้องก็ยังไม่ได้เห็นทะเล ไม่ได้เห็นขยะที่อยู่ในอวกาศเหนือดาว อีกทั้งไม่ได้เห็นขยะในทะเล หรือขยะบนผิวดาว และไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของสภาพอากาศ ตลอดจนไม่ได้เห็นการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งถ้าได้เห็นสิ่งเหล่านี้ นั่นแสดงว่า บนดาวเคราะห์ดวงนั้นมี ETแน่นอน

อ่านเพิ่มเติมจาก
“Life through Time and Space” โดย Wallace Arthur จัดพิมพ์โดย Harvard University Press; Unabridged edition (August 7, 2017)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น