xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป ) “วงแหวนแห่งไฟ” แห่งซีกโลกใต้ ภาพงดงามอันตราตรึง สุริยุปราคาครั้งที่ 2 ของปี 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




หลังจากที่ทั่วโลกได้ชมความงดงามของสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวสหรัฐอเมริกาที่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้กับตา แนวคราสในครั้งนั้นได้ผ่านจากเม็กซิโก เข้าสู่สหรัฐอเมริกา มุ่งสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศแคนาดาทางตอนใต้ของรัฐออนตาริโอ ออกจากทวีปอเมริกาเหนือบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา โดยจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานประมาณ 4 นาที

สำหรับ “สุริยุปราคาวงแหวน” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2024 นี้ เป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จึงทำให้บดบังได้ไม่หมดยังเหลือขอบของดวงอาทิตย์ ทำให้มองแล้วเหมือนวงแหวน


แนวคราสวงแหวนครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนแผ่นดินที่สามารถเห็นสุริยุปราคาวงแหวนคือตอนใต้ของประเทศเปรู ชิลี และอาร์เจนตินา ในทวีปอเมริกาใต้ ที่กึ่งกลางคราสเกิดสุริยุปราคาวงแหวน กินระยะเวลาประมาณ 7 นาที ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏ 95.2% ของดวงอาทิตย์

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่ได้เกิดขึ้นทำให้ผู้คนซีกโลกใต้ได้เห็นความสวยงามของดวงจันทร์ที่บดบังดวงอาทิตย์ และบริเวณแนวขอบของดวงอาทิตย์ที่โดยปกติไม่สามารถสังเกตได้ง่าย และทั่วโลกยังได้ชมภาพที่ถูกบันทึกไว้อย่างตราตรึงใจ ไม่แพ้ภาพความงดงามสุริยุปราคาเต็มดวงที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้


"สุริยุปราคา" เป็นปรากฏการณ์ที่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ สุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง




ชมภาพ “สุริยุปราคาเต็มดวง 2024” ความงดงามที่ทำให้ทั่วโลกตราตรึง ภาพดวงจันทร์บดบังดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด รอชมครั้งต่อไปปี 2026 >>>  https://mgronline.com/science/detail/9670000030935


ข้อมูล – ภาพอ้างอิง

-  thaiastro.nectec.or.th สมาคมดาราศาสตร์ไทย
-  nasa.gov NASA
-  VDO : SpaceBalls , Todo NoticiasNegro
-  Picture :  Diario Río Negro , Timeanddate


กำลังโหลดความคิดเห็น