xs
xsm
sm
md
lg

ชุดทดลองปลูกพืชอวกาศ ม.มหิดล เดินทางสู่อวกาศพร้อมดาวเทียม Shijian - 19 เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยมหิดล และ GISTDA ร่วมภารกิจการทดลองด้านชีววิทยาอวกาศภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและรังสีคอสมิก ขึ้นสู่อวกาศไปกับดาวเทียมวิจัย Shijian-19 (Recoverable Satellite) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย อ. ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany (PBA lab) ร่วมกับ GISTDA ดำเนินโครงการ “Multi-omics analysis of Germinating Rice Seedlings Under Extreme Environmental Conditions” ซึ่งได้รับการเห็นชอบให้เข้าร่วมภารกิจ Shijian-19 (Recoverable Satellite) จากองค์การอวกาศแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (China National Space Administration, CNSA) ดาวเทียม Shijian-19 (SJ-19) ได้ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขับเคลื่อน Long March 2D จากท่าอวกาศยาน Jiuquan เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น


โครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งสายพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกขึ้นไปทดลองการเจริญเติบโตภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและสัมผัสกับรังสีคอสมิกเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจะส่งต้นกล้ากลับมายังพื้นโลกเพื่อวิเคราะห์ผลการทดลองด้วยเทคนิคมัลติโอมิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการค้นพบข้าวที่มีความสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมรุนแรง และพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารภายใต้สภาวะวิกฤติและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต


โดยการนำส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จำนวน 35 หลอด ขึ้นสู่อวกาศภายใต้ภารกิจ SJ-19 ในครั้งนี้ ได้บรรลุวัตถุประสงค์และประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทั้งจากหน่วยงานของฝ่ายไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ CNSA/Ministry of Foreign Affairs of China/China Academy of Space Technology (CAST)/ Beihang University/ และ Asia-Pacific Space Cooperation Organization (APSCO)/กองการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)/กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ/ดร.พสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่าย อว. ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง/กรมการข้าว/ และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)


โครงการนี้นอกจากเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศและการวิจัยในอวกาศ ระหว่างไทย-จีน อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ยังเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะมหาวิทยาลัยแรกในประเทศที่ได้ดำเนินการวิจัยด้าน live science in space


กำลังโหลดความคิดเห็น