นักประวัติศาสตร์และนักนิรุกติศาสตร์ ได้ตั้งประเด็นสงสัยมานานแล้วว่า ผู้คนในชาติต่างๆ คิดสร้างตัวอักษรที่ใช้ในภาษาเขียนของชาติตนอย่างไร โดยได้แนวคิดจากใคร หรือจากสถานที่ใด ตลอดจนถึงความต้องการจะรู้เวลาที่ภาษาเขียนนั้นๆ ถือกำเนิด
ชาวจีนมีตำนานเล่าสู่กันฟังว่า Ts'ang Chien ผู้มีสี่ตา เป็นคนที่ประดิษฐ์ตัวอักษรจีนขึ้นใช้เป็นคนแรก หลังจากที่ได้เงยหน้าดูดาวบนท้องฟ้า และเห็นดวงดาวอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ครั้นเมื่อเขาก้มหน้ามองที่พื้นก็ได้เห็นลวดลายต่าง ๆ ปรากฏอยู่บนหลังเต่า และเมื่อมองไปในสวน ก็ได้เห็นรอยตีนของนกที่ขุดคุ้ยไป-มาบนดินเพื่อหาอาหาร และจากรูปร่างของร่องรอยทั้งหมดนี้ Ts'ang Chien ก็ได้ประดิษฐ์ตัวอักษรให้ชาวจีนได้ใช้มาจนทุกวันนี้
ในอียิปต์ก็มีตำนานเล่าขานเช่นกันว่า เทพ Thoth ซึ่งทรงมีพระเศียรเป็นหัวนกกระสา (ibis) คือ ผู้ให้กำเนิดภาษาเขียนสำหรับชาวอียิปต์โบราณทุกคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำ Nile ดังนั้นเวลาจิตรกรวาดภาพขององค์เทพ Thoth ก็จะวาดให้พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือแปรงระบายสี และพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงถือจานผสมสี ความเชื่อของคนอียิปต์โบราณยังมีอีกว่า Thoth นอกจากจะทรงประทานระบบการเขียนตัวอักษร hieroglyphics ซึ่งแปลตรง ๆ ว่า รูปแกะสลักที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้ให้กำเนิดศาสตร์และศิลป์ทุกรูปแบบด้วย
ในอินเดียมีเทพนิยายที่ได้เขียนไว้ว่า เมื่อพระพรหมทรงประสงค์จะให้ทุกคำสอนในพระองค์ปรากฏชัดเป็นหลักฐาน และทรงพบว่า ชาวอินเดียในสมัยนั้นไม่มีตัวอักษรให้ใช้เขียน พระองค์จึงทรงทอดพระเนตรที่กะโหลกศีรษะของมนุษย์ และเห็นรอยแยกที่ประสานติดกันเป็นตะเข็บ จึงทรงใช้ลวดลายเหล่านั้น สร้างตัวอักษรให้ชาวอินเดียใช้
ด้านชาวกรีกก็มีประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงวีรบุรุษ Cadmus ซึ่งเป็นพระโอรสในกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟินิเชีย (Phoenicia ซึ่งอยู่ใน Syria ปัจจุบัน) คือ ผู้ประดิษฐ์อักษรกรีกทั้งหมด 16 ตัว โดยได้อาศัยความคิดในการประดิษฐ์จากชาว Phoenician ซึ่งได้ภาษาของตนมาจากการดัดแปลงอักษร hieroglyphics ของชาวอียิปต์อีกทอดหนึ่ง
โลกมีภาษาที่ใช้กันในปัจจุบันมากกว่า 7,000 ภาษา ภาษาเหล่านี้มีรูปแบบ มีตัวอักษร มีไวยากรณ์ที่ใช้ในการเขียนแตกต่างกัน มีประวัติความเป็นมาก็แตกต่างกัน และได้เริ่มใช้ ณ เวลาที่แตกต่างกันด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๆ วิวัฒนาการของอารยธรรมของชาติต่าง ๆ ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาษาไปทีละน้อย ๆ จนทำให้ภาษาที่ใช้ในปัจจุบันมีรูปลักษณ์การเขียน และกฎการใช้ที่แตกต่างไปจากภาษาในอดีตเป็นอย่างมาก ดังนั้นประวัติการใช้และการเขียนภาษา จึงเป็นปริศนาอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนปัจจุบัน
เพราะแม้ว่าภาษาหลายภาษาในปัจจุบันจะเขียนด้วยตัวอักษรที่เหมือนกัน เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส ภาษาอิตาเลียน ภาษาเนเธอร์แลนด์ ภาษาเยอรมัน ภาษาโปแลนด์ จะเหมือนกัน แต่การผสมอักษร และการอ่านออกเสียงก็ไม่เหมือนกัน สำหรับภาษานอร์เวย์ ภาษาสวีเดน และภาษาเดนมาร์กนั้น ก็เป็นอีกกลุ่มชาติหนึ่งที่ใช้ภาษาเขียนใกล้เคียงกัน
ในความพยายามจะเข้าใจประวัติความเป็นมาของภาษาเขียนที่คนเราใช้ เราจะเริ่มที่อียิปต์ เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน แทนที่จะเริ่มที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 500,000 ปีก่อน เพื่อความกระชับและความเหมาะสม และตามด้วยภาษา Phoenician
ตามปกติเวลาใครเอ่ยถึงจารึกโบราณ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงศิลา Rosetta อันเป็นจารึกของชาวอียิปต์โบราณที่มีอายุร่วม 4,000 ปี แต่ปัจจุบัน ศิลา Rosetta ได้ถูกนำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์ British Museum ในอังกฤษ เพราะหลังจากที่ Jean-François Champollion (1790-1832) สามารถถอดความในจารึกได้แล้ว คนทั้งโลกก็ได้ล่วงรู้ประวัติความเป็นมาของอารยธรรมอียิปต์ และใช้หลักการอ่านภาษาอักษรภาพของ Champollion อ่านจารึกต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนกระดาษ papyrus บนเสาในวิหาร และบนผนัง pyramid ได้หมด
ความสามารถในการถอดความบนจารึกได้ จึงมีความสำคัญเพราะเปรียบเสมือนการมีตัวช่วยให้เราปัจจุบันสามารถเดินทางกลับไปรู้และเห็นเหตุการณ์ที่เกิดในอดีตได้
เมื่อการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในฝรั่งเศสได้ยุติในปี 1789 และ นายพล Napoleon Bonaparte (1769-1821) ได้ขึ้นครองอำนาจ อีก 9 ปีต่อมา Bonaparte ได้ยกกองทัพบุกอียิปต์ด้วยกำลังพล 50,000 คน และม้าศึก 800 ตัว กองทัพนั้นยังมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและศิลปินอีก 160 คน เพื่อศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในอียิปต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ อารยธรรม ภูมิศาสตร์ ประเพณี และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพีระมิด
ดังนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1798 Bonaparte จึงได้จัดตั้งสถาบัน Institute of Egypt ขึ้น โดยมี Gaspard Monge (1746–1818) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นประธาน และได้แบ่งภาระงานของสถาบันออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ที่จะต้องได้รับการสำรวจและเก็บต้องข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ความสำเร็จชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ Gaspard Monge สามารถอธิบายการเกิดปรากฏการณ์ภาพลวงตา (mirage) เหนือทะเลทราย เพราะ เกิดการหักเหของแสงแบบสะท้อนกลับหมดภายในบรรยากาศเหนือทะเลทราย
ด้าน Etienne Geoffroy Saint-Hilaire (1772-1844) ซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ก็ได้พบปลาชนิดใหม่หลายสายพันธุ์ ส่วนจิตรกร Henri-Joseph Redouté (1766-1852) เมื่อได้เห็นดอกไม้และพืชรูปร่างแปลก ๆ ก็ได้วาดภาพของสิ่งที่เห็นเหล่านั้น ด้านวิศวกร Jean Baptiste Prosper Jollois (1776–1842) ได้สเก็ตช์ภาพของอนุสาวรีย์ที่เมือง Thebes, Karnak และ Abydos สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสจำนวนมากแปลกใจก็คือการได้พบว่า ชาวอียิปต์ในเวลานั้น มีความรู้เทคโนโลยีบางด้านสูงกว่าชาวฝรั่งเศส เช่น รู้วิธีทำปูนพลาสเตอร์ได้ในปริมาณมากและเร็ว รู้จักสร้างเตาสำหรับฟักไข่ไก่และไข่นก อีกทั้งรู้วิธีสร้างไหเก็บเบียร์ให้มีอุณหภูมิต่ำได้เป็นเวลาหลายวัน
แต่การค้นพบที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ การพบศิลาจารึกที่ทำด้วยหินบะซอลต์ (basalt) โดย Pierre Francois Bouchard (1771–1822) ซึ่งเป็นทหารชาวฝรั่งเศสยศร้อยโท ขณะคุมงานก่อสร้างที่หมู่บ้าน Rashid (ชื่อ Rosetta ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Nile หินก้อนนี้สูง 1.123 เมตร กว้าง 75.7 เซนติเมตร และหนา 28.4 เซนติเมตร ตัวศิลาฝังจมดินอยู่ครึ่งตัว
เมื่อ Bouchard เห็นศิลา Rosetta เขาก็ตระหนักในความสำคัญของสิ่งที่พบได้ในทันที เพราะมันมีคำจารึกเป็น 3 ภาษา คือ ภาษา hieroglyph ที่นักบวชใช้ ภาษา demotic ที่คนอียิปต์ทั่วไปใช้ในการสนทนากัน และภาษา Greek ซึ่งใครก็ตามที่เห็น ก็จะรู้ในทันทีว่า ถ้าอ่านภาษาใดภาษาหนึ่งออก ก็จะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งสามภาษา เพราะคำจารึกทั้งสามมีความหมายเหมือนกัน หลังจากนั้นแม่ทัพฝรั่งเศสก็ได้นำศิลา Rosetta ขึ้นเรือไปกรุง Cairo แล้วไปเก็บที่เมือง Alexandria จากนั้นก็นำขึ้นเรือ เพื่อนำไปเก็บที่ฝรั่งเศส
ในปี 1799 ได้เกิดการสู้รบทางเรือระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และกองทัพฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้ ดังนั้นในวันที่ 2 กันยายน ปี 1800 ทหารฝรั่งเศสจึงถูกบังคับให้อพยพออกจากอียิปต์ไปก่อนวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1801 แล้วกองทัพอังกฤษก็ได้ยึดครองสรรพสิ่งที่ฝรั่งเศสยึดได้จากอียิปต์ไปเป็นของตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่อังกฤษยึดได้ในครั้งนั้น คือ ศิลา Rosetta ซึ่งได้ถูกนำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอังกฤษ (British Museum) และยังอยู่ที่นั่นจวบจนทุกวันนี้
อักษรภาพ hieroglyph คำๆ นี้มาจากคำ hiero ที่แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเมื่อนำมาสมาสกับคำ glyph ที่แปลว่า สลัก ภาษา hieroglyph จึงเป็นภาษาที่เขียนเป็นรูปวาด โดยนักบวช เพื่อใช้ในการสื่อสารสิ่งที่เป็นสัจจะชั่วนิรันดร เช่น พระราชกรณียกิจในฟาโรห์ รายงานข่าวการสู้รบในสงคราม ข่าวการเสียชีวิตของชนชั้นนำ ตลอดจนเนื้อหา และความหมายในบทสวดมนต์ โดยเวลาอ่านอักษรภาพนี้ ให้เริ่มอ่านจากซ้ายไปขวา แล้ววนกลับจากขวา วนไปอีกเรื่อย ๆ ในลักษณะเดียวกับการไถนา
ข้อจำกัดประการหนึ่งของจารึก hieroglyph คือ การไม่สามารถเขียนความนึกคิดที่เป็นนามธรรม และความรู้สึกต่าง ๆ ออกมาเป็นภาพวาดได้ ดังนั้นนักบวชอียิปต์ในสมัยโบราณ จึงมิอาจเขียนเรื่องความเชื่อและจินตนาการได้เลย ด้วยเหตุนี้เมื่ออียิปต์ถูกกองทัพโรมันยึดครอง ชาวโรมันที่นับถือศาสนาแตกต่างจากชาวอียิปต์ จึงบังคับให้นักบวชอียิปต์เลิกเขียนจารึก hieroglyph วันเวลาที่ผ่านไปนาน ๆ ทำให้คนที่รู้และเขียนภาษานี้ได้ล้มตายไป ภาษาภาพวาดจึงดับสูญ เพราะไม่มีใครอ่านและใช้ภาษานี้ออกเป็นเวลาร่วม 2,000 ปี
จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักนิรุกติศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ Johan David Akerblad (1763–1819) ได้พยายามถอดรหัสของภาษา hieroglyph โดยเปรียบเทียบทุกตัวอักษรของภาษานี้กับภาษา demotic แต่ก็ถอดความไม่ได้ เพราะอักษรภาพ hieroglyph ไม่มีสระ และมีแต่พยัญชนะ เช่น เวลาเขียนคำ f….d คนอ่านก็ต้องเติมสระ o o ลงไปเอง จึงจะอ่านได้ความ ด้าน Silvestre de Sacy (1758-1838) นักนิรุกติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่เชี่ยวชาญการอ่านภาษาเอเชียตะวันออกก็ถอดความไม่ได้เช่นกัน
ในปี 1818 Thomas Young (1773-1829) ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง จากการได้พบว่า แสงสามารถแสดงพฤติกรรมของคลื่นได้ คือ แทรกสอดกันได้ และเป็นผู้ที่เสนอทฤษฎีการเห็นสีของตาว่า สีที่เห็นเกิดจากการผสมกันระหว่างแสงเขียว (G) แสงแดง (R) และแสงน้ำเงิน (B) อีกทั้งยังได้ศึกษาสมบัติความยืดหยุ่นของวัสดุด้วย และพบว่าอัตราส่วนระหว่างความเค้น (stress) ต่อความความเครียด (strain) ซึ่งความเค้นสามารถหาได้จากแรงที่กระทำ (F) ต่อพื้นที่หน้าตัด (A) และความเครียด ซึ่งหาได้จากอัตราส่วนระหว่างความยาวที่ยืดออกมา (E) ต่อความยาวเดิม (L) คือ E/L
นั่นคือ Y มีค่าคงตัวที่เรียกว่า Young’s modulus = (F/A)/(E/L)
นอกจากจะสนใจวิทยาศาสตร์แล้ว Young ยังสามารถพูดได้อีก 14 ภาษาด้วย ในสมัยนั้น Young จึงได้รับฉายาว่า เป็นมนุษย์คนสุดท้ายของโลกที่มีความรู้เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถอดรหัสของอักษรภาพ hieroglyphics
Young ได้เริ่มศึกษา cartouche (คาร์ทูช) ที่องค์ฟาโรห์ทรงใช้เป็นอาภรณ์ประดับพระองค์ก่อน ซึ่ง cartouche นี้มีลักษณะเป็นวงรี (เหมือนสนามกีฬาในปัจจุบัน) โดยภายในมีพระนามขององค์ฟาโรห์ อีกทั้งมีเส้นตรงอยู่ใต้พระนาม แสดงการอารักขาปกป้ององค์ฟาโรห์ให้ปลอดภัยจากความชั่วร้ายต่างๆ
การเปรียบเทียบอักษร hieroglyph แต่ละตัวอักษร กับตัวอักษรในภาษา demotic และภาษากรีก ทำให้ทุกคนรู้ว่า อักษรใดตรงกับอักษรใดในแต่ละภาษา ในที่สุด Young ก็ได้พบว่า cartouche แรกที่เขาอ่าน มีพระนามของฟาโรห์ Ptolemy เพราะเมื่อเขาถอดรหัสแล้ว ได้พบอักษร p-t-ole-ma-i-os (Ptolemy)
ความพยายามของ Young ในเวลาต่อมา ทำให้ได้พบพระนามขององค์ฟาโรห์ต่าง ๆ มากมาย แต่ Young ได้คาดหวังจะได้เห็นความรู้ทางดาราศาสตร์ ความรู้โหราศาสตร์ และความรู้ภูมิศาสตร์ของปราชญ์อียิปต์โบราณ ดังนั้นเมื่อพบแต่ชื่อของฟาโรห์ในจารึก เขาจึงหมดความสนใจจะอ่านต่อ และได้ทิ้งงานอ่านอักษร hieroglyph ให้ Jean-François Champollion มาทำต่อและสานต่อจนเสร็จ
ในวันที่ 23 ธันวาคม ปี 1821 Jean-François Champollion ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และนักอ่านจารึกโบราณที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ได้เข้ามาถอดรหัส hieroglyph และประสบความสำเร็จ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของวิทยาการด้านอียิปต์วิทยา (Egyptology)
ประวัติของ Champollion โดยย่อมีว่า ความสามารถทางภาษาของเขา ได้เริ่มฉายแสงตั้งแต่เมื่อเขามีอายุ 16 ปี เพราะสามารถอ่านภาษาโบราณ ละติน กรีก บาลี สันสกฤต เปอร์เซีย อิหร่าน เอธิโอเปีย และอารบิก) ได้อย่างคล่องแคล่ว ถึงขนาดได้เคยนำเสนอผลงานด้านภาษาโบราณนี้ในที่ประชุมของ Academie de Francais หลังจากที่ได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษาจากสถาบัน Institut National des Langues et Civilisations Orientales (INALCO) ที่ Paris แล้วได้ไปทำงานที่มหาวิทยาลัย Grenoble ในฝรั่งเศส
ในปี 1822 Champollion ได้ติดตามงานถอดรหัสของ Young และได้เปรียบเทียบคำในภาษา hieroglyph 1,419 คำ กับพยางค์ในภาษากรีกและพบว่า คำ 1,419 คำ มีความหมายเหมือน 486 พยางค์ในภาษากรีก จากนั้นก็ได้หาความหมายของสัญลักษณ์ จนพบคำที่มีความหมายใกล้เคียงในภาษากรีก และพบว่าสัญลักษณ์บางตัว คือ พยัญชนะ แต่ในบางครั้งก็หมายถึงสิ่งที่ได้เขียนไปแล้ว
ความพยามยามของ Champollion ในเวลาต่อมา คือ ได้พบว่าใน cartouche ทุกอันมีพระนามกษัตริย์และจักรพรรดิ เช่น Alexander, Tiberius, Cleopatra, Germanicus (Julius Caesar), Trajan, Ramesses และ Thutmose
สำหรับภาพคนที่มีมือปิดปาก ภาพนี้แทนคำว่า eat ภาพวงกลมใช้แทน sun และในเวลาเดียวกัน วงกลมก็อาจจะใช้แทนคำว่ากลางวันได้ด้วย ส่วนมือที่ปิดปากอาจหมายถึงการนั่งเงียบ ๆ อักษร hieroglyph จึงอาจใช้เป็นตัวอักษรโดด ๆ หรือใช้เป็นกลุ่มอักษรก็ได้
Champollion ได้พยายามหาชื่อองค์ฟาโรห์ต่างๆ จาก cartouche ให้มากที่สุด และได้พบว่าชื่อ Cleopatra มาจาก
รูปวาด เข่า แทนด้วยตัวอักษร K
รูปวาด สิงโต แทนด้วยตัวอักษร L
รูปวาด ใบไม้ แทนด้วยตัวอักษร I หรือ E
รูปวาด เชือกที่มีปม แทนด้วยตัวอักษร O
รูปวาด สี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนด้วยตัวอักษร P
รูปวาด นกอินทรี แทนด้วยตัวอักษร A
รูปวาด มือ แทนด้วยตัวอักษร D หรือ T
รูปวาด ริมฝีปาก แทนด้วยตัวอักษร R
ใน cartouche ชิ้นนั้น จึงมีชื่อของ Kliopatra
และในบางเวลาชาวอียิปต์ก็จะใช้ตัวอักษรปนกับภาพในการเขียน เช่นในกรณีต้องการเขียนคำว่า Kliopatra ผู้ศักดิ์สิทธิ์ เขาก็จะเขียนรูปวาดที่แสดงคำว่า Kliopatra ประกอบกับรูปวงกลม ซึ่งแสดงความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์
ในภาพรวมอักษรภาพวาดมีจำนวนมากกว่า 3,000 อักษร แต่มีเพียง 300 อักษรเท่านั้นที่ใช้บ่อย นอกจากนี้เวลาดูคำจารึก เราก็จะเห็นภาพสัตว์หลายชนิด เช่น นก งู สิงโต นกเค้าแมว นกอินทรี และเห็นภาพคนที่มีศีรษะเป็นสัตว์ และเห็นสัตว์ที่มีหัวเป็นคนด้วย เช่น ตัว sphinx เป็นต้น ทั้งนี้เพราะศาสนาอียิปต์นับถือสัตว์ และถือว่าสัตว์มีความประเสริฐ เพราะเป็นตัวนำโชค เช่น นับถือนกอินทรี ว่าเป็นสัตว์ที่แทนดวงวิญญาณของมนุษย์หลังความตาย
ในเวลาต่อมา ชาวอียิปต์ก็ได้แปลงสัตว์เป็นเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น เทพธิดา Taweret ซึ่งมีพระวรกายเป็นฮิปโปโปเตมัสที่เดินสองเท้าได้ เป็นต้น
ผลงานของ Champollion ได้รับการต่อต้านมากในเบื้องต้น แต่ในที่สุดผลงานนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง ในปี 1826 Champollion ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Louvre ในกรุง Paris
ความสำเร็จของ Champollion ได้ทำให้คนฝรั่งเศสทั้งประเทศรู้สึกภูมิใจมากที่คนฝรั่งเศสสามารถอ่านภาษา hieroglyph ได้เป็นคนแรก และ Champollion เป็นคนที่มีความสำคัญคนหนึ่งของโลก เพราะได้เปิดประตูของอาณาจักรอียิปต์โบราณให้โลกภายนอกได้เข้าไปศึกษา และรู้จัก
หลังจากที่ได้ทำงานคร่ำเคร่งมาเป็นเวลานาน 14 ปี Champollion ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคเบาหวานและวัณโรค เขาจึงได้สวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้าให้ยืดชีวิตเขาต่ออีก 2 ปี เพื่อจะได้เขียนพจนานุกรมและไวยากรณ์ของภาษา hieroglyph นี้ แต่ไม่เป็นผล
เพราะเมื่อถึงวันที่ 4 มีนาคม ปี 1832 Champollion ก็ได้จากโลกไปในวัย 42 ปี ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน
คำถามที่นักประวัติศาสตร์สนใจ คือ อักษรภาพ hieroglyph ได้มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของภาษาอื่นๆ อย่างไรบ้าง ในการตอบคำถามนี้ นักประวัติศาสตร์ก็ได้พบว่า ผลงานของชาวอียิปต์ในเรื่องนี้ได้มีอิทธิพลมากต่อการพัฒนาภาษาของชาว Phoenician
ดินแดนของชาว Phoenician เป็นชายฝั่งทางด้านตะวันออกของทะเล Mediterranean (ตรงบริเวณที่เป็นประเทศ Syria ในปัจจุบัน) มีอาชีพเป็นชาวประมง พ่อค้า ที่ขยันขันแข็ง ชอบทำงานหนัก และใช้ภาษา Phoenician ในการทำธุรกิจ จดรายการสินค้า เพราะดินแดนภายในอาณาจักรแห้งแล้ง ชาว Phoenician จึงชอบอาศัยอยู่ริมทะเลมากกว่าอาศัยอยู่ลึกในแผ่นดินใหญ่ ชาวกรีกนิยมเรียกชาว Phoenician เพราะคำนี้มีความหมายว่า “แดงเหมือนเลือด” จากการที่ชาวเรือ Phoenician ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
แม้จะเป็นชนชาติที่แข็งขัน แต่ในที่สุดชาว Phoenician ก็ถูกปกครองโดยอำนาจของฟาโรห์อียิปต์ ตั้งแต่เมื่อ 3,200-2,880 ปีก่อน และก็ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ แต่ก็ถูกชาว Assyrian, Babylonian, Persian และ Macedonian ปกครองอีก ในที่สุดจักรพรรดิ Alexander มหาราช ก็ได้สังหารชาว Phoenician ไป 8,000 คน และนำ 30,000 คนไปเป็นทาส แต่ก่อนจะสูญพันธุ์ ชาว Phoenician ก็ได้นำภาษาของชาวอียิปต์ไปดัดแปลงเป็นของตนเอง แล้วถ่ายทอดให้ชาวกรีกได้นำไปใช้เป็นต้นแบบของภาษากรีกในเวลาต่อมา
อ่านเพิ่มเติมจาก Selden, Daniel L. (2013). Hieroglyphic Egyptian: An Introduction to the Language and Literature of the Middle Kingdom. University of California Press. ISBN 978-0-520-27546-1
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์