xs
xsm
sm
md
lg

“ซากตีนไดโนเสาร์” บอกให้เรารู้อะไรบ้าง ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่มีสัตว์ชนิดใดในโลกที่สามารถทำให้คนทั่วไปรู้สึกตื่นเต้นได้มากเท่าไดโนเสาร์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ใครๆ ก็สนใจ ทั้งๆ ที่สัตว์อสูรเหล่านี้ (plesiosaur, ichthyosaur, brontosaurus, triceratops หรือ tyrannosaurus ฯลฯ) ก็ได้สูญพันธุ์ไป ตั้งแต่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน แต่ผู้คนก็ยังติดตามข่าวการพบฟอสซิล (fossil) ของมัน ไม่ว่าจะเป็นฟอสซิลของกระดูก กะโหลก ฟองไข่ รัง ตลอดจนรอยตีนที่มันเคยเหยียบย่ำไปมาบนดินโคลนเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน และต่อมาดินโคลนนั้นก็ได้กลายสภาพเป็นหินแข็งไปแล้วก็ตาม ผู้คนก็ยังติดตามดูโครงกระดูกและสนใจรอยตีนเหล่านั้น ทั้งที่มีเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ และในสวนสาธารณะ ทุกครั้งที่มีข่าวการพบฟอสซิลใหม่ ๆ จนหลายคนได้กลายเป็น FC ของไดโนเสาร์ ในภาพยนตร์แนว Jurassic Park และในหนังสือชื่อ The Lost World ของ Arthur Conan Doyle




เพราะผู้คนมีความประสงค์จะรู้รายละเอียดทุกเรื่องที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ เช่น ว่ามีรูปร่างหน้าตา ขน เกล็ดสีอะไร กินอะไรเป็นอาหาร เลี้ยงลูกอย่างไร ล่าเหยื่ออย่างไร อาศัยอยู่กันเป็นฝูง หรือชอบอยู่อย่างโดดเดี่ยว สืบพันธุ์อย่างไร มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์อะไร และตัวมันได้วิวัฒนาการไปเป็นสัตว์อะไรก่อนที่จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ทุกคนก็อยากจะรู้ว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้ไดโนเสาร์คืนพันธุ์ คือ กลับมามีชีวิตอยู่บนโลกได้อีกหรือไม่

ในการตอบคำถามเหล่านี้ นักบรรพชีวินวิทยา นักธรณีวิทยา นักชีววิทยา ตลอดจนนักฟิสิกส์ ได้พึ่งพาอาศัยการศึกษาฟอสซิลที่เป็นกระดูก ซึ่งฝังลึกอยู่ใต้ดินในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา


สำหรับคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า ในอดีตเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ได้มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ได้พุ่งชนโลก ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) ที่อยู่ใกล้คาบสมุทร Yucatan การระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดจากแรงปะทะในครั้งนั้น ได้ทำให้ภูเขาไฟทั่วโลกระเบิด ไฟป่าระบาด ฝุ่นควันปริมาณมากได้ลอยขึ้นท้องฟ้า บดบังแสงอาทิตย์เป็นเวลานานหลายปี ทำให้พืชหลายชนิดล้มตาย และสัตว์ที่กินพืชหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ เพราะพืชบนโลกไม่ได้รับแสงแดด เพื่อช่วยในการสังเคราะห์อาหาร

การพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อย ยังได้ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ไหลท่วมพื้นแผ่นดินทั่วทวีป ทำให้สัตว์บกหลายชนิดสูญพันธุ์ การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในครั้งนั้นยังทำให้มหาทวีป Pangaea ได้แตกกระจายแยกจากกันเป็นทวีปเล็กทวีปน้อยด้วย

ความร้ายแรงของมหาวินาศภัยในครั้งนั้น จึงทำให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด


ความจริงการศึกษาเรื่องฟอสซิลของสัตว์และพืช ได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 6 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยปราชญ์กรีก Xenophanes (570-480 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งได้เห็นซากฟอสซิลของปลาในก้อนหินที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลมาก และได้ตั้งสมมติฐานว่า ดินแดนแถบนั้น เคยจมอยู่ใต้น้ำ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 Leonardo da Vinci (1452-1519) ก็ได้เคยบันทึกการเห็นเปลือกหอยปรากฏอยู่บนยอดเขาสูง นี่เป็นหลักฐานที่คนเคร่งศาสนาในสมัยนั้นเชื่อว่า น้ำเคยท่วมโลก ตามคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล และหอยก็ได้ลอยตัวขึ้นตามกระแสน้ำ แต่เวลาน้ำลด หอยลอยตัวลงจากยอดเขาไม่ทัน ดังนั้นจึงติดค้างอยู่บนยอดเขา แต่ da Vinci กลับคิดว่า ยอดเขาที่มีหอย เกิดจากการยกตัวของพื้นน้ำใต้ทะเล

ถึงปี 1779 Georges Cuvier (1769-1832) นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ได้วาดภาพของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากการศึกษาโครงกระดูกของสัตว์ ภาพเหล่านี้ได้ทำให้ผู้คนในเวลานั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก เสมือนกับการได้เดินทางย้อนกลับไปสู่โลกในอดีต


ในปี 1841 Richard Owen (1804-1892) ซึ่งเป็นศัตรูทางความคิดกับ Charles Darwin (1809–1882) ได้ศึกษาโครงกระดูกของตัว Megalosaurus, Iguanodon กับ Hylaeosaurus และพบว่าโครงกระดูกเหล่านี้ มีเอกลักษณ์หลายอย่างร่วมกัน คือ เป็นโครงกระดูกของกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นในปี 1842 Owen จึงตั้งชื่อสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนี้ว่า Dinosauria ซึ่งเป็นคำในภาษากรีกที่แปลว่า กิ้งก่าที่น่าสะพรึงกลัว ให้โลกได้รู้จักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

Megalosaurus จึงเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์แรกที่นักชีววิทยารู้จัก จากการรู้สรีรวิทยาของมัน โดยได้ศึกษาจากฟอสซิลที่เป็นกระดูกแต่การศึกษาฟอสซิลของกระดูกไดโนเสาร์ ได้ช่วยให้เรามีความรู้เพียงด้านสรีรวิทยาของมันเท่านั้น หาได้ช่วยให้เรารู้การดำรงวิถีชีวิตของมัน เช่น ไม่รู้ว่าสังคมของมันมีลักษณะเป็นเช่นไร มันออกล่าเหยื่อพร้อมกันอย่างเป็นฝูงหรือฉายเดี่ยว มันต่อสู้ศัตรูอย่างไร กระดูกฟอสซิลยังไม่สามารถบอกสภาพของสิ่งแวดล้อม ณ เวลาที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่ได้


แต่คำถามดังที่กล่าวนี้ สามารถมีคำตอบที่แสวงหาได้จากการศึกษารอยตีนของไดโนเสาร์ ซึ่งพบในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะสภาพของรอยตีนสามารถบอกลักษณะการเดิน ความเร็วในการวิ่ง เส้นทางอพยพของมันในยามที่ภาวะอาหารขาดแคลน และสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง การเห็นรอยตีนของมันควบคู่กับรอยตีนของสัตว์อื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง สามารถบอกสไตล์การล่าเหยื่อของมันได้ หรือแม้แต่คำถามที่ว่า ไดโนเสาร์ว่ายน้ำเป็นหรือไม่ ก็สามารถจะตอบได้จากการศึกษาความลึกรอยตีนที่ปรากฏอยู่ไม่ลึกนัก ในดินโคลนใต้ท้องน้ำ เพราะน้ำหนักตัวของไดโนเสาร์จะลดลง ด้วยแรงพยุงของน้ำ


เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2024 ที่เพิ่งผ่านมานี้ Rodrigo Temp Müller แห่งมหาวิทยาลัย Federal University of Santa Maria กับคณะได้รายงานการพบฟอสซิลกะโหลกไดโนเสาร์ ที่คาดว่ามีอายุมากที่สุดซากหนึ่งในรัฐ Rio Grande do Sul ณ บริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำในแคว้น São João de ที่อยู่ทางใต้ของบราซิล นักวิจัยคาดว่า กระดูกไดโนเสาร์ที่พบนี้ มีอายุ 233 ล้านปี ซึ่งถ้าตัวเลขอายุนี้ถูกต้อง ไดโนเสาร์ซึ่งเป็นเจ้าของฟอสซิลก็จะเคยมีชีวิตอยู่ในยุค Triassic ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมีทวีปเพียงหนึ่งเดียว คือ Pangaea และการมีพื้นแผ่นดินเดียวเป็นซูเปอร์ทวีปนี้ ได้ทำให้ไดโนเสาร์ในเวลานั้นสามารถเดินเพ่นพ่านไป-มาได้ทั่วโลก


ครั้นเมื่อถึง ยุค Jurassic (152 ล้านปีก่อน) ซูเปอร์ทวีป Pangaea ได้เริ่มแยกจากกัน คือ Antarctica ได้แยกจาก Africa และ America ใต้ ได้แยกตัวออกจาก America เหนือ และเมื่ออุณหภูมิของโลกในเวลานั้นสูงกว่าอุณหภูมิของโลกในปัจจุบัน ไดโนเสาร์ก็สามารถเดินทางขึ้นไปอาศัยอยู่ในเขตหนาวของโลกได้

ทีมวิจัยของ Müller ยังได้รายงานอีกว่า หลังจากที่ฝนได้ตกหนัก เป็นเวลา 4 วัน แล้ว กระบวนการ weathering ของดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้ทำให้หินและดินที่ฝังทับถมฟอสซิลไดโนเสาร์ถูกน้ำพัดพาไป เหลือไว้แต่ซากฟอสซิลให้โลกได้เห็น

การวิเคราะห์ซากฟอสซิลได้แสดงให้เห็นว่า มันเป็นไดโนเสาร์ในวงศ์ Herrerasauridae ที่มีลำตัวยาว 2.5 เมตร จากการวัดหัวจรดหาง และโครงกระดูกทั้งหมดนี้อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ 100%

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าการกลบฝังฟอสซิลก็มีส่วนดี คือ ได้ช่วยอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ให้คงสภาพอยู่ได้ แต่ผลร้ายก็มีเช่นกัน คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในสถานที่นั้น และในครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่ม และทะเลโคลนได้คร่าชีวิตผู้คนไป 182 คน

ขณะนี้ ทีมวิจัยของ Müller ก็กำลังหาข้อมูลเชิงลึกของซากฟอสซิลนี้อยู่ เพื่อให้รู้ชัดว่า มันเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่หรือไม่


ด้านทีมวิจัยภายใต้การนำของ Louis L. Jacobs (1948-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย Southern Methodist University (SMU) ที่ Texas ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้รายงานในวารสาร New Mexico Museum of Natural History & Science ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2024 ว่า ได้พบรอยตีนไดโนเสาร์ ornithopod เรียงกันเป็นเส้นทางยาว ในบริเวณแอ่งน้ำชื่อ Sousa ใกล้เมือง Passagem das Pedras ในบราซิล ว่า มีลักษณะเหมือนรอยตีนของไดโนเสาร์ ornithopod ที่พบในประเทศ Cameroon ที่อยู่ในแอฟริกาทุกประการ ซึ่งสถานที่พบรอยตีนจำนวนกว่า 260 รอยนี้ อยู่ห่างกันเป็นระยะทางประมาณ 6,000 กิโลเมตร ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า เมื่อ 120 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์ได้เดินทางไปมาหาสู่กันได้ เพราะในยุคนั้นทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอฟริกายังติดกัน เป็นมหาทวีป Gondwana

โดยรอยตีนของไดโนเสาร์ ornithopod ที่พบมี 3 นิ้ว และเมื่อทวีปทั้งสองได้แยกจากกัน หินเหลวร้อน (magma) ที่อยู่ใต้โลกก็ได้ไหลทะลักขึ้นมาที่ผิว ทำให้เกิดมหาสมุทร Atlantic ที่ขวางกั้นทวีปทั้งสอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในขณะที่ Brazil และ Cameroon มีรอยตีนไดโนเสาร์จำนวนมากนับร้อยรอย ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan), จีน, โบลิเวีย (Bolivia) และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ มีรอยตีนไดโนเสาร์นับพันนับหมื่นรอยขึ้นไป ดังนั้นการศึกษารอยตีนไดโนเสาร์ในดินแดนเหล่านี้ จึงทำให้นักบรรพชีวินวิทยามีความรู้ด้านพลศาสตร์การเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ได้ค่อนข้างมาก


Turkmenistan เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางติดกับ Afghanistan, Uzbekistan และ Iran มีเมืองหลวงชื่อ Ashgabat ในอดีตเคยเป็นเมืองสำคัญในทางการค้า เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม แต่ปัจจุบันประเทศนี้มีสวนสาธารณะแห่งชาติ ชื่อ Koytendag และมีที่ราบสูงไดโนเสาร์ (Dinosaur Plateau) ซึ่งทางรัฐบาล Turkmenistan กำลังยื่นองค์การ UNESCO เพื่อขอจดทะเบียนให้ที่ราบสูงไดโนเสาร์นี้เป็นมรดกโลก เพราะมีจำนวนรอยตีนไดโนเสาร์มากที่สุดในโลก ปรากฏอยู่บนแผ่นหินปูน ที่อยู่บนภูเขา Koytendag และแผ่นหินปูนนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้าน Hojapil ที่อยู่สูง 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ได้เห็นรอยตีนสัตว์ขนาดยักษ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และคิดว่าเป็นรอยตีนของช้างในกองทัพของจักรพรรดิ Alexander มหาราช เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงกรีฑาทัพบุกอินเดีย (ชื่อ Hojapil เป็นคำในภาษาท้องถิ่น ที่แปลว่า ช้างศักดิ์สิทธิ์)


วันเวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงปลายคริสตวรรษที่ 20 เมื่อนักประวัติศาสตร์และนักธรณีวิทยาของชาติ Turkmenistan ได้เดินทางไปเยือนหมู่บ้านและศึกษาซากรอยตีนไดโนเสาร์ หลังจากนั้นโลกวิทยาศาสตร์ก็เริ่มตื่นตัว และรับรู้ในความสำคัญของซากรอยตีนเหล่านั้น ครั้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียจากองค์กร U.S.S.R. Academy of Sciences ได้มาสำรวจรอยตีนอย่างจริงจัง จึงได้เรียกบริเวณนั้นว่าที่ราบสูงไดโนเสาร์ (Dinosaur Plateau)

ที่ราบสูงนี้มีความยาวโดยประมาณ 400 เมตร และกว้าง 300 เมตร มีรอยตีนไดโนเสาร์ประมาณ 3,000 รอย ซึ่งนับว่า เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก แทบทุกรอยอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี รอยตีนหลายรอยของไดโนเสาร์ 26 ตัว ที่อยู่เรียงกันเป็นทางยาว 31 เส้นทาง และมี 4 เส้นทางทีมีความยาวมากที่สุด คือ ยาว 195 เมตร, 226 เมตร, 266 เมตร และ 311 เมตร รอยตีนเหล่านี้เป็นของไดโนเสาร์สายพันธุ์ Megalosaurus ในยุค Jurassic

นักธรณีวิทยาได้ศึกษาพบว่า ที่ราบสูงนี้ได้ถือกำเนิดเมื่อ 145-150 ล้านปีก่อน ในปลายยุค Jurassic ณ เวลานั้น บริเวณนี้เป็นทะเลสาบน้ำตื้น เพื่อให้ไดโนเสาร์สามารถเดินย่ำไปมาได้ และเมื่อน้ำในทะเลสาบเหือดแห้ง หินปูนที่อยู่ใต้ท้องทะเลสาบได้ถูกยกตัวขึ้น เมื่อมีการเลื่อนตัวของเปลือกทวีป หลังจากนั้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้ชะล้างดินที่ทับถมซากตีนออกไป จนเหลือให้โลกได้เห็นที่แผ่นราบเอียงทำมุมประมาณ 20 องศากับแนวราบ

รอยตีนไดโนเสาร์แต่ละรอยมีความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร กว้าง 65 เซนติเมตร และมีช่วงก้าวยาวถึง 2 เมตร (จึงสั้นกว่าก้าวของ T-rex) และระยะห่างระหว่างตีนซ้ายกับตีนขวาของมัน มีค่าประมาณ 90 เซนติเมตร การพิจารณาทิศทางการเดินของมันแล้ว ทำให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถสรุปได้ว่า ลักษณะการเดินของมันเป็นแบบเป๋ไป เป๋มา


Megalosaurus เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ มีหัวโต ฟันคม กรามใหญ่ เดินด้วย 2 ขาหลัง ที่มี 4 นิ้ว ขาหน้า 2 ขา มี 3 นิ้ว และมีความยาวค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับขาหลัง

จำนวนรอยตีนนับพันรอยที่มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน ได้แสดงให้เห็นว่า ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เดินล่าหาเหยื่อพร้อมกัน โดยเฉพาะไดโนเสาร์ therapod (คำนี้แปลว่า สัตว์ที่มีเท้า) ชอบหาเหยื่อในบริเวณน้ำตื้น ส่วนไดโนเสาร์ brontosaur เป็นไดโนเสาร์ที่สูงใหญ่ ชอบหากินในสถานที่อยู่ไกลจากฝั่ง ซึ่งมีต้นไม้สูงอุดมสมบูรณ์ การมีฝูงสัตว์มาอยู่รวมกัน เพื่อดื่มน้ำในสถานที่นั้น ทำให้สถานที่นี้เปรียบเสมือนพื้นที่คุ้มครอง Serengeti ใน Tanzania ปัจจุบัน

รอยตีนเหล่านี้ มิได้เป็นของไดโนเสาร์เท่านั้น แต่ยังเป็นรอยตีนของสัตว์ชนิดอื่นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นลีลาการล่าเหยื่อของไดโนเสาร์ว่า มันจะวิ่งขนานไปกับเหยื่อ แล้วได้พยายามปรับจังหวะการก้าวย่างของเท้ามันให้เข้ากับความเร็วของเหยื่อ จากนั้นก็จะเอี้ยวตัวโจมตี เพราะรอยตีนของมันได้ปรากฏปนพัลวันไปกับรอยตีนของเหยื่อ ขณะลงมือฆ่าเหยื่อ


แต่ถ้าจะให้พูดถึงสถานที่ๆ มีรอยตีนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก สถานที่นั้นก็คือ ที่ประเทศ Bolivia ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีรอยตีนมากกว่า 12,000 รอย ณ ที่ Parque Cretacico (Cretaceous Park) รอยตีนเหล่านี้ได้ปรากฎอยู่บนผนังหินที่ตั้งอยู่ในแนวดิ่ง เพราะพื้นที่โลกส่วนนั้น ได้ถูกยกตัวสูงขึ้นจากแนวราบ จนตั้งดิ่ง เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกทวีป กำแพงหินนี้มีอายุมากกว่า 80 ล้านปี และมีรอยตีนของไดโนเสาร์สายพันธุ์ Abelisaur ที่เดิน 2 เท้า ชอบกินเนื้อ และมีลำตัวยาว 12 เมตร


นอกจากที่นี่แล้ว Bolivia ก็ยังมี Toro Toro National Park ด้วย (คำ Toro Toro เป็นคำในภาษาพื้นเมืองที่แปลว่า อุดมสมบูรณ์ด้วยดินโคลน) ที่นี่มีรอยตีนไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า และ 4 เท้า ในยุค Cretaceous จนถึงยุค Mesozoic ซึ่งมีชื่อเรียกโดยรวมว่า ยุคไดโนเสาร์ครองโลก และเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ sauropod, anquilosaurus และ coelurosaur

การพบรอยตีนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ได้ทำให้ Bolivia เป็นดินแดนสวรรค์ของนักบรรพชีวินวิทยาและนักธรณีวิทยา ที่มุ่งศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ (ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการพบซากกระดูกไดโนเสาร์ใน Bolivia เลยก็ตาม)

ด้วยเหตุนี้ Bolivia จึงเป็นประเทศที่น่าสนใจมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นสวนสวรรค์ของไดโนเสาร์แล้ว Bolivia ยังมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งแร่ lithium ที่อุดมสมบูรณ์มากถึง 21 ล้านตัน ณ บริเวณที่ราบ Salar de Uyuni อีกทั้งยังมีแร่พลวง (antimony) มากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีแร่เงินมากเป็นอันดับ 8 ของโลกด้วย


นอกจากสถานที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ โลกก็ยังมีสถานที่ ๆ เป็นพิพิธภัณฑ์รอยตีนไดโนเสาร์ที่จีน ณ เมือง Linyi ในมณฑล Guangdong ก็มีการพบรอยตีนไดโนเสาร์จำนวนมากเช่นกัน ส่วนที่หุบเขา Purgatory ในรัฐ Colorado ตรงบริเวณแม่น้ำ Purgatoire ก็มีรอยตีนของไดโนเสาร์ sauropod และ allosaurus มากประมาณ 1,900 รอย รอยตีนเหล่านี้มีอายุ 150 ล้านปี เรียงกันเป็นเส้นทาง 130 สาย ตลอดระยะทางที่ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และที่ Dinosaur National Monument รัฐ Utah กับที่ Paluxy River ในรัฐ Texas ของอเมริกาก็มีการพบซากรอยตีนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากเช่นกัน


อ่านเพิ่มเติมจาก
Guest Farm Namibia – Dinosaur Tracks-Footprints National Monument von Namibia". www.dinosaurstracks-guestfarm.com. Retrieved 2021-11-06.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น