xs
xsm
sm
md
lg

ความพยายามของมนุษย์ที่จะรู้ใจ “ภัยหิมะถล่มและภัยดินถล่ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มนุษย์ดึกดำบรรพ์ได้เผชิญมหันตภัยธรรมชาติ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิด ซึ่งภัยที่ต้องผจญ ได้แก่ ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยภูเขาไฟระเบิด ภัยพายุไต้ฝุ่น ภัยคลื่นสึนามิฯลฯ ซึ่งในบางเวลาภัยเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แบบไม่มีใครทันตั้งตัว แล้วทุกคนก็ประจักษ์ว่า เมื่อภัยยุติ ความสูญเสียทั้งทางวัตถุ ด้านชีวิต และจิตใจนั้น มีค่ามาก จนไม่มีใครต้องการจะให้มันเกิดขึ้นอีก




ถึงวันนี้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของภัยดีกว่าในสมัยโบราณมาก เช่น เราสามารถจะเห็นพายุทอร์นาโดที่กำลังจะเกิด โดยใช้ดาวเทียมถ่ายภาพ สามารถดักฟังความผิดปกติของคลื่นแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้านาน ๆ ก่อนที่แผ่นดินจะไหวจริง ฯลฯ กระนั้นความรู้และความสามารถในการพยากรณ์ภัยพิบัติ ก็ยังเป็นความรู้และความสามารถในระดับอนุบาลเท่านั้นเอง

องค์การสหประชาชาติได้สำรวจพบว่า ทุกปีจะมีคนเสียชีวิตด้วยภัยธรรมชาติ ตั้งแต่ 30,000-40,000 คน สถิติของปี 2022 แสดงว่า มีคนตาย 30,704 คน และ 185 ล้านคนได้รับผลกระทบข้างเคียง ส่วนความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจนั้น ก็มากถึง 2.24 แสนล้านดอลลาร์

แม้ผลกระทบด้านเสียจะมีมาก แต่ผลกระทบด้านดีก็มีเหมือนกัน เช่น ประสบการณ์ร้ายได้ทำให้คนเรารู้จักสร้างบ้านเรือนที่แข็งแรงขึ้น จนผู้อาศัยมีความปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม และเหตุการณ์ร้ายได้สอนให้เรารู้ว่า ตึกและอาคารจะถล่ม เวลาถูกพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง หรือเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังนั้นเวลาจะสร้างบ้านเรือน เจ้าบ้านจะต้องรู้จักสภาพของธรรมชาติในบริเวณที่จะสร้างบ้านก่อน รวมถึงควรจะรู้ด้วยว่า ถ้าเกิดภัยธรรมชาติจะมีวิธีช่วยชีวิตตนเองและคนอื่นๆ ได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร


การที่มนุษย์มีจิตวิญญาณเช่นนี้ แสดงให้เห็นความเข้มแข็งและพลังใจของมนุษย์ว่า จะมีมากพอๆ กับพลังทำลายของธรรมชาติ เพื่อเราจะสามารถดำรงชีพต่อไปบนโลกนี้ได้
กรณีภัยที่จะยกเป็นตัวอย่างในที่นี้ คือ ภัยหิมะถล่มกับภัยดินถล่ม ซึ่งเป็นคนละเรื่องที่คล้ายกัน

เมื่อฤดูหนาวมาเยือน นักกีฬาสกีจำนวนแสนคนทั่วโลกจะกระวีกระวาดอย่างเก็บอาการไม่อยู่ เพราะทุกคนตั้งใจจะมีความสุข จากการได้ออกกำลังกายบนภูเขา และชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติไปในเวลาเดียวกัน ไม่เพียงแต่นักสกีเท่านั้น ที่ต้องการจะสัมผัสธรรมชาติบนเทือกเขา Andes, Rocky Mountains, Alps ตลอดไปจนจรดเทือกเขา Himalaya


แต่ในเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์หิมะถล่ม (snow avalanche) ก็ตระเตรียมตัวทำงานด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้นักกีฬาสกีจำนวนมากเสียชีวิต และเกิดการทรุดพังของอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา รวมถึงการเสียชีวิตของชาวบ้านจำนวนมากที่ถูกหิมะฝังทั้งเป็น และการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการเสียชื่อเสียงว่า สถานที่นั้นไม่ปลอดภัยสำหรับใครเลย ซึ่งนับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจจิตใจที่สำคัญ


ในการป้องกันอุบัติภัยที่จะเกิด นักวิทยาศาสตร์จึงต้องพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ และหาวิธีป้องกันให้ทุกชีวิตปลอดภัย ด้วยการสร้างสถานการณ์จำลองของเหตุการณ์หิมะถล่มขึ้นในห้องปฏิบัติการ และในคอมพิวเตอร์ เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น มีห้องปฏิบัติการ Cryospheric Environment Simulator (CES) และมี Nagaoka institute of Snow กับมี Ice Studies ที่เมือง Shinjo เพื่อศึกษาดูว่า เหตุการณ์หิมะถล่ม เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง

ห้องทดลองที่นั่นจึงมีเครื่องจักรผลิตหิมะเทียม มีกล้องถ่ายภาพเพื่อดูการเคลื่อนที่ของหิมะที่อยู่บนราง ดูความเร็วของหิมะที่ระยะลึกต่าง ๆ มีดวงไฟที่ให้ความสว่าง เพื่อดูอิทธิพลของแสงแดดที่มีต่อการเคลื่อนที่ของหิมะ มีเครื่องตรวจจับภาพการเกิดผลึกหิมะ มีอุปกรณ์สร้างกระแสลม ที่มีความเร็วต่าง ๆ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของกระแสหิมะที่อยู่ตามเนินเขา มีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิของหิมะ วัดอุณหภูมิของอากาศ และวัดอุณหภูมิของดินบนภูเขา เพื่อจะให้รู้ชัดว่า เหตุการณ์หิมะถล่ม เกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง และพยายามสร้างทฤษฎีการเกิดเหตุการณ์หิมะถล่ม เพื่อช่วยในการพยากรณ์เวลาที่เกิดเหตุการณ์ และความรุนแรงของภัยหิมะถล่มที่มีต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อม


ตามปกติเทือกเขา Alps เป็นบริเวณที่มีคนไปเล่นสกีมากถึงปีละหลายล้านคน จึงมีผลทำให้ประเทศ Austria มีรายได้จากนักท่องเที่ยว คิดเป็น 6% ของ GDP โดยเฉพาะที่ภูเขา Adamberg และในฝรั่งเศส ก็มีสถานเล่นสกีที่หุบเขา Chamonix และที่ Switzerland มีเทือกเขา Weisshorn ที่เมือง Sion เมืองสำหรับนักทัศนาจรเหล่านี้ จึงต้องปราศจากภัยหิมะถล่ม และเมืองจะต้องมีหน่วยเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น ถ้าเวลาใดที่มีหิมะตกน้อย นักสกีก็จำต้องขึ้นไปเล่นบนที่สูง แต่ที่ยิ่งสูง ภัยหิมะถล่มก็จะยิ่งมาก คือ เกิดขึ้นบ่อย ดังนั้นนักเล่นสกีจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะที่สูงลมมักจะพัดแรง และลมยิ่งแรง ภัยหิมะถล่มก็จะเกิดยิ่งบ่อย ดังนั้น การเตือนภัยสำหรับนักสกีก็จะต้องดำเนินการเตือนแบบ real time โดยมีการใช้ drone และ helicopter สำรวจความเปราะบางของหิมะที่ปกคลุมยอดเขาตลอดเวลา มีการใช้อุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน (seismometer) เพื่อเตือนภัยหิมะถล่ม มีการสร้างกำแพง รั้วเหล็ก และรั้วซีเมนต์ เพื่อหยุดยั้งการไถลของมวลหิมะ ไม่ให้เข้าถึงอาคารที่อยู่ตามเชิงเขา แต่ถ้าเป็นกรณีภัยหิมะถล่มอย่างรุนแรงมาก กำแพงเหล่านี้ก็ไม่มีความหมายใด ๆ เลย คือ จะหมดสภาพในการทำงาน เสมือนเป็นกำแพงทราย ที่เด็กๆ สร้างตามชายหาด เวลาคลื่นสึนามิมา

โดยทั่วไป เหตุการณ์หิมะถล่ม มักจะเกิดบนภูเขา ส่วนที่เป็นหน้าผา ซึ่งเป็นบริเวณโล่ง กว้าง ไม่มีต้นไม้ขวางทางการเลื่อนไหลของมวลหิมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ บริเวณที่อยู่บนเนินเขา ซึ่งมีความชันมากกว่า 20 องศา

สถิติการเกิดเหตุการณ์หิมะถล่ม แสดงให้เห็นว่า 90% ของเหตุการณ์มักจะเกิดขึ้นตรงบริเวณหน้าผาที่มีความชันตั้งแต่ 30 ถึง 45 องศากับพื้นราบ ส่วนบริเวณที่ชันยิ่งกว่านี้ หิมะจะเกาะจับกันได้น้อย ดังนั้นภัยหิมะถล่มจึงไม่มี


เพราะเหตุการณ์หิมะถล่มมีความรุนแรงมาก ดังนั้นนักวิจัยเรื่องหิมะถล่ม จึงได้ตั้งฉายาของเหตุการณ์ว่า “มังกรขาว” (white dragon) ที่กำลังหลับ แต่เวลามังกรถูกกระตุ้นให้ตื่น มันก็จะอาละวาดจนป่าแตก

เหตุการณ์หิมะถล่มจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการมากมายหลายสาขา ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติของเหตุการณ์ จึงต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์จากนักธรณีวิทยา วิศวกร นักฟิสิกส์ และนักอุตุนิยมวิทยามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้รู้ชัดว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะทำให้มังกรขาวออกอาละวาด

กฎทั่วไปที่ใช้ในการพยากรณ์เรื่องนี้มีเพียงสั้น ๆ ว่า ถ้าหิมะตกยิ่งหนัก โอกาสการเกิดเหตุการณ์หิมะถล่มก็จะยิ่งมีมาก ส่วนสาเหตุทางวิชาการที่ทำให้มังกรตื่นนั้น ก็อาจจะเข้าใจได้ โดยการเปรียบเทียบหิมะที่ตกทับถมบนยอดเขาว่า เป็นเสมือนเค้กที่ถูกแบ่งออกเป็นชั้น ๆ ดังนั้นเวลาเราเอียงจานใส่เค้ก ถ้าแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อชั้นเค้กในแนวเอียงมีค่าไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงเสียดทานระหว่างเค้กในแต่ละชั้น เค้กทั้งหมดก็จะคงสภาพอยู่ได้ นั่นคือ ภัยหิมะถล่มไม่บังเกิด แต่ถ้าแรงโมถ่วงที่กระทำต่อชั้นเค้กมีค่ามากกว่าแรงเสียดทาน เค้กทั้งก้อนก็จะไถลออกจากจาน

หรือถ้าจะพูดแบบวิชาการ ก็คือ เมื่อ shear load ตามความชันของเชิงเขา ซึ่งเป็นแรงที่เกิดจากแรงโน้มถ่วง มีค่ามากกว่า shear strength ที่มีอยู่ระหว่างชั้นหิมะ ภัยหิมะถล่ม ก็จะบังเกิดทันที


ในส่วนของรายละเอียดที่เกี่ยวกับเกล็ดหิมะก็ยังมีอีก เช่นว่า หิมะมี 2 ชนิด คือ หิมะเปียก (wet snow) กับหิมะแห้ง (dry snow) สำหรับในกรณีแรก เกล็ดหิมะจะมีการอัดตัวกันแน่น ทำให้นักสกีไม่ชอบ เพราะหิมะเปียกจะเกิดเวลาอุณหภูมิใกล้พื้นดินมีค่าสูงกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้เกล็ดหิมะบางส่วนต้องละลายและหลอมเหลวก่อนจะตกถึงพื้น หิมะจึงมีความเหนียวและจับยึดติดกันง่าย เพราะมันมีน้ำปน ด้วยเหตุนี้เวลาหิมะเปียกเกาะจับกิ่งไม้หรือหลังคาในปริมาณมาก กิ่งไม้และหลังคาจะหักหรือพัง

ส่วนหิมะแห้งมักจะเกิดเวลาอุณหภูมิของอากาศมีค่าต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หิมะจึงยึดติดกับพื้นดินเท่านั้น โดยไม่จับเกาะกันเอง การเล่นสกีจึงสะดวกและผู้เล่นก็จะปลอดภัย

ชนิดของหิมะ มิได้มีความสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะจำนวนคนที่มาเล่นสกี เพราะถ้าคนเล่นสกีมีจำนวนน้อย จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะน้อยตาม แต่ถ้าคนเล่นมีจำนวนมาก การกระตุ้นโดยลีลาการเล่นของนักกีฬาสกีจำนวนมากก็จะมีมาก จนทำให้เสถียรภาพของมวลหิมะบนภูเขาเสียสมดุล จนเกิดเป็นภัยหิมะถล่มได้


การสำรวจสถิติตัวเลขการเสียชีวิตของนักสกีที่ถูกหิมะถล่มในแต่ละปี ได้สร้างความกดดันให้นักวิเคราะห์ภัยพิบัติ ได้พัฒนาวิธีการพยากรณ์ภัยหิมะถล่มล่วงหน้าให้ดีขึ้น และแม่นยำขึ้นว่า ภัยจะเกิดเมื่อใด มีความรุนแรงเพียงใด และเป็นเวลานานหรือไม่ จากนั้นนักวิจัยก็จะเสนอผลการวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหาวิธีป้องกันภัยที่จะเกิด เช่น บอกให้รู้ว่ามวลหิมะถล่มจะพุ่งไปในทิศทางใด อาคารบ้านเรือนใดจะอยู่บนเส้นทางอันตรายบ้าง และสิ่งแวดล้อมใดจะได้รับผลกระทบกระเทือนมากเพียงใด
นักพยากรณ์ภัยหิมะถล่ม มักจะยึดหลักการง่าย ๆ ว่า เกล็ดหิมะที่ตกใหม่ๆ จะพอกพูนมวลของมันตามบริเวณไหล่เขา จนกระทั่งแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อหิมะชั้นบนสุด มีค่ามากกว่าแรงเสียดทานระหว่างหิมะในชั้นล่างลงไป และเมื่อเงื่อนไขนี้บังเกิด หิมะชั้นบนก็จะไถลลงผ่านหิมะชั้นล่าง ซึ่งจะไถลลงผ่านหิมะที่อยู่ชั้นล่างกว่า จนเกิดเป็นเหตุการณ์หิมะถล่มในที่สุด


โดยทั่วไป มวลหิมะเวลาตกจากหน้าผาจะเดินทางไปได้ไกลตั้งแต่ 200 ถึง 300 เมตร แต่ถ้ามันตกจากยอดเขาสูงมากๆ มวลก็อาจจะเดินทางไปได้ไกลถึง 15 กิโลเมตร และมีความเร็วตั้งแต่ 50 ถึง 80 เมตร/วินาที และด้วยความเร็วที่สูงมากเช่นนี้ มวลหิมะก็จะมีพลังงานจลน์มาก อำนาจในการทำลายล้างจึงสูงตามไปด้วย ที่หุบเขา Chamonix ในฝรั่งเศส พายุหิมะถล่มที่รุนแรงมากสามารถทำลายกำแพงคอนกรีตที่หนา 1.5 เมตร และสูง 7 เมตรได้ราบคาบ

ถึงวันนี้ ความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์หิมะถล่มก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะปัจจัยที่มีบทบาทในการกำหนดภัยชนิดนี้ มีสมบัติที่ขึ้นกับเวลา และสมบัติความหนืดของมวลหิมะในการไหล ก็แตกต่างจากสมบัติความหนืดของน้ำที่มีค่าคงตัว (น้ำจึงไหลไปได้เรื่อย ๆ) แต่สัมประสิทธิ์ความหนืดของมวลหิมะมีมากกว่า ดังนั้นมวลหิมะจึงไหลไปได้ไม่ไกล

ความไม่สม่ำเสมอของผิวภูเขา ก็มีส่วนในการควบคุมของเร็วและทิศทางการไหลของมวลหิมะ ดังนั้นความเร็วของมวลหิมะจึงไม่ “สม่ำเสมอ” เหมือนความเร็วของกระแสน้ำ แต่เราก็อาจจะรู้ความเร็วได้ โดยใช้ sensor ที่ติดตั้งบนภูเขาส่งสัญญาณคลื่นมาเข้าเครื่องรับ หรือใช้กล้องถ่ายภาพที่ให้รายละเอียดสูงถ่ายภาพดิจิทัล ตลอดเวลาก็จะให้ข้อมูลละเอียดของเหตุการณ์ได้


การรู้ข้อมูลอย่างละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผลกระทบทุกรูปแบบที่ตามมาจะสามารถช่วยให้นักวิชาการเข้าใจภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดี จนสรรพชีวิตและสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบปลอดภัย

ประเทศไทยเราไม่มีภัยหิมะถล่ม แต่เรามีภัยน้ำท่วมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนหนึ่งของภัยนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างสุดขั้วที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไม่แน่นอน และทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา การไม่รู้สภาพภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และอุกทกวิทยาของบริเวณที่มวลน้ำไหลผ่าน แม้จะมีภาพถ่าย โดยใช้ดาวเทียมก็ตาม และการมีวัสดุหลากหลายรูปแบบ เช่น เขื่อนและฝาย ที่มีโครงสร้างไม่มั่นคง หรือแข็งแรงพอจะต้านแรงปะทะของน้ำได้ ทำให้การพยากรเหตุการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

นอกจากภัยหิมะถล่มแล้ว ประเทศไทยเรา ณ วันนี้ ก็ยังมีภัยดินถล่ม (landslide) ด้วย นี่เป็นภัยที่เกิดจากดิน หิน ขยะ ฯลฯ ที่มีมวลมาก เคลื่อนตัวลงจากไหล่เขาหรือเนินเขา ลงสู่เชิงเขาเบื้องล่างอย่างทันทีทันใด แต่ในบางกรณีภัยดินถล่มก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เหมือนการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง (glacier) การเคลื่อนที่นี้เกิดจากแรงโน้มถ่วงที่โลกกระทำต่อมวลดิน ที่อยู่บนเนินเขาหรือหน้าผา ซึ่งถ้าแรงนี้มีค่ามากกว่าแรงเสียดทานที่มวลดินถูกผิวภูเขาด้านล่างกระทำ เหตุการณ์ดินถล่มก็จะเกิดขึ้นทันที

การเลื่อนตัวของมวลดิน อาจจะเกิดขึ้นได้จากปรากฏการณ์แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิดในบริเวณใกล้เคียง หรือเกิดจากการก่อสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่บนยอดเขาก็ได้ เพราะการตอกเสาเข็ม หรือการขุดดินเป็นหลุมขนาดใหญ่ และการสร้างอาคารต่าง ๆ สามารถรบกวนเสถียรภาพที่สมดุลอย่างเปราะบางของดินบนภูเขาได้ทั้งสิ้น และการไร้เสถียรภาพนี้อาจจะเกิดและสิ้นสุดได้ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือใช้เวลานานก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นกับสภาพการสึกกร่อนของดินบนเขา ความชื้นของดินหลังจากที่มีฝนตกหนัก หรือการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้ทำให้หน้าดินถูกทำลายไป หรือโดยปัจจัยทั้งหมดนี้รวมกัน


ทั่วโลกมีเหตุการณ์เลื่อนไถลของมวลดิน ทั้งใน Alaska, Peru, America, Philippines ฯลฯ แต่เหตุการณ์ครั้งที่ใหญ่ที่สุดได้เกิดขึ้นในปี 1980 เมื่อภูเขาไฟ St. Helens ในรัฐ Washington ของสหรัฐอเมริการะเบิด พ่นมวลดินปริมาตร 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตรออกมา และไปไกลเป็นระยะทางถึง 20.5 กิโลเมตร


สถิติสูงสุดในการเสียชีวิตของภัยดินถล่ม ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 1920 ที่เมือง Haiyuan ในมณฑล Gansu มีคนเสียชีวิต 200,000 คน เพราะได้เกิดเหตุการณ์ดินถล่มมากถึง 675 ครั้ง

ในอเมริกา สถิติคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดินถล่มมีมากประมาณปีละ 25-50 คน และทั่วโลกจะมีประมาณ 2,000 คน บริเวณที่เกิดเหตุการณ์มักจะเป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน ก่อนจะเกิดเหตุ ผู้คนอาจจะเห็นต้นไม้ในบริเวณนั้นเอนลง ๆ หรือเห็นก้อนหิน ก้อนดินขนาดต่าง ๆ ร่วงหล่นลงตามไหล่เขาบ่อย ดังนั้นจึงไม่ควรมีการสร้างอาคารบ้านเรือนใกล้บริเวณเหล่านี้มาก ยิ่งถ้าบนภูเขาลูกใดมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อยู่บนยอดเขาด้วย ชาวบ้านก็ยิ่งต้องยิ่งระวังภัย

เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนรู้สึกว่า ได้เกิดเหตุการณ์ดินถล่มแล้ว หลายคนจะพยายามวิ่งหนี แต่มักจะหนีไม่ทัน เพราะความเร็วของดินถล่มอาจจะมาก คือ ตั้งแต่ 5-10 เมตร/วินาที วิธีที่ดีในการป้องกันชีวิต คือ ให้วิ่งขึ้นชั้นบน พยายามเปิดหน้าต่างและประตูบ้านให้ทะเลดินไหลทะลุผ่านบ้านไป และให้หาที่ยืนบนเฟอร์นิเจอร์สูง ๆ แล้วพยายามเกาะให้แน่น เพื่อไม่ให้ตกจากเฟอร์นิเจอร์ เพราะถ้าตกก็จะจมโคลน และขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ก็พยายามไม่อยู่ใกล้อาคารที่กำลังมีการก่อสร้าง เพราะจะถูกวัสดุที่ใช้สร้างอาคารนั้นหล่นทับ และพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างบ้านบนเนินเขาหรือที่เชิงเขา โดยไม่รู้สภาพทางภูมิศาสตร์ของภูเขาหรือเนินเขาเหล่านั้นเลย นอกจากนี้ก็ไม่ควรปรับแต่งภูมิทัศน์แถบเนินเขามาก เพราะการกระทำเช่นนั้น อาจทำลายสมดุลของธรรมชาติในบริเวณนั้นได้


และคนใดถ้าตกอยู่ในทะเลโคลน ก็ให้พยายามเดินลุยขึ้นเนินเขา อย่าปล่อยตัวให้ลอยตัวตามกระแสโคลน เพราะกระแสโคลนจะทับถมตัวมากขึ้น ๆ และควรประคองตัวบนเฟอร์นิเจอร์ที่ลอยอยู่เหนือทะเลโคลน จนกว่าทะเลโคลนจะหยุดไหล เมื่อทุกอย่างยุติก็ขอบคุณทุกคนที่ช่วยให้รอดมาได้

อ่านเพิ่มเติมจาก
Scaringi, Gianvito; Loche, Marco (2022-03-15). "A thermo-hydro-mechanical approach to soil slope stability under climate change". Geomorphology. 401: 108108. Bibcode:2022Geomo.40108108S. doi:10.1016/j.geomorph.2022.108108. ISSN 0169-555X. S2CID 245941223.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น