จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย การใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในการจัดการภัยพิบัติเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ ข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้ในการติดตามและประเมินสภาพอากาศ การเกิดน้ำท่วม หรือพายุ ทำให้สามารถวางแผนการป้องกันและการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูและเยียวยาหลังเกิดเหตุ
การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นภาพจาก ดาวเทียมไทยโชต (ดาวเทียมธีออส 1) และ ดาวเทียมธีออส 2 ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ ในเรื่องการให้ข้อมูลภาพรวมของพื้นที่ที่กว้างใหญ่และละเอียดแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงภูมิภาค ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของผู้ใช้งาน
“ดาวเทียมไทยโชต” หรือ “ดาวเทียมธีออส 1” เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย ที่สามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบ ออฟติคคอล (Optical Imagery) ทำให้สามารถบันทึกข้อมูลภาพ ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Visible band) จนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (Near Infrared) ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบช่วงคลื่นของดาวเทียมธีออสกับดาวเทียม อื่นๆ พบว่า 3 ช่วงคลื่นของดาวเทียมธีออส มีความคล้ายคลึงกับช่วงคลื่นของดาวเทียม SPOT ยกเว้นช่วงคลื่น สีน้ำเงิน ที่มีเพิ่มมากกว่าของดาวเทียม SPOT และมีความคล้ายคลึงกันกับช่วงคลื่นของดาวเทียม
ในส่วน “ดาวเทียมธีออส 2” เป็นดาวเทียมสำรวจรายละเอียดสูงดวงแรกของไทย โดยฝีมือคนไทย สามารถถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลที่ได้นั้น สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ และนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000
ด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล นอกจากจะเห็นลักษณะของวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50x50 เซนติเมตรแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของวัตถุนั้นๆด้วย เช่น ชนิดของต้นไม้ สีและประเภทของรถยนต์ สภาพของตัวอาคาร ลักษณะความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาของเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้การเก็บข้อมูลที่มีความละเอียดและเชื่อถือได้มากขึ้น ทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่มีความทันสมัยและแม่นยำช่วยในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ด้วยความสามารถในการให้ข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่กว้าง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยในการวางแผนและการตัดสินใจในหลายๆ ด้าน เช่น การใช้ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการภัยพิบัติ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ตรวจสอบพื้นที่พร้อมรายงานสรุปพื้นที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัด เพิ่มเติมได้ที่ https://disaster.gistda.or.th