หลังจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เผชิญกับสภาพอากาศร้อนและวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการประกาศว่าในปี พ.ศ. 2567 ปีนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จาก ปรากฏการณ์เอลนีโญ สู่ ปรากฏการณ์ลานีญา และจะมีความรุนแรงที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้มีปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและระดับอุณหภูมิลดลง
ในการเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ - ลานีญา กรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปรากฏการณ์เอนโซได้อยู่ในสภาวะปกติ โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเย็นลงเกือบทั่วทั้งบริเวณ สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างจากค่าปกติประมาณ - 0.1 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตร
ในช่วที่ผ่านมาพบว่า บริเวณอุณหภูมิน้ำทะเลที่ต่ำกว่าค่าปกติยังคงอยู่บริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทรฯ และขยายพื้นที่ขึ้นมาที่พื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ส่วนที่ระดับลึกบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร อุณหภูมิน้ำทะเลยังคงต่ำกว่าค่าปกติ แต่ที่ระดับใกล้ผิวน้ำทะเลอุณหภูมิเริ่มอุ่นขึ้นบ้างเล็กน้อย ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ระบบการหมุนเวียนบรรยากาศที่ระดับ 850 มิลลิบาร์ (เฮกโตปาสคาล: hPa) หรือที่ความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมตะวันออกที่มีกำลังใกล้เคียงกับค่าปกติพัดปกคลุมบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร
สำหรับลมที่ระดับ 200 มิลลิบาร์ (เฮกโตปาสคาล: hPa) หรือที่ความสูงประมาณ 11 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมที่มีกำลังแรงกว่าปกติพัดข้ามแถบศูนย์สูตรบริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร การคาดหมาย จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ และระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร ประกอบกับเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัตแล้ว คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567 ถึงมกราคม 2568 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ยืนยันว่า เดือนพฤศจิกายน 2567 ปรากฏการณ์ลานีญาจะรุนแรงที่สุด
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ พบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝนลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน สำหรับอุณหภูมิปรากฏว่า ลานีญามีผลกระทบต่ออุณหภูมิในประเทศไทยชัดเจนกว่าฝน โดยทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น
“ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญนี้จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 0.5 °C และผลกระทบของลานีญามักจะตรงกันข้ามกับของเอลนีโญ เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเสียงเนื่องจากสามารถมีผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพอากาศของทั้งชายฝั่งชิลี เปรูและออสเตรเลีย รวมทั้งอีกหลายประเทศ ลานีญามักเกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง
ข้อมูล – รูปอ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา , NASA