สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมวิจัยจาก กรมประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวเปิดโครงการความร่วมมือ ‘ชริมป์การ์ด’ (ShrimpGuard): การพัฒนาสูตรผสมของแบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) หรือฟาจ (phage) และสารเสริมชีวนะเพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp. ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกุ้งเลี้ยง’ หรือ ‘ชริมป์การ์ด’ โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 41,605,962 บาท จากศูนย์วิจัยการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Centre: IDRC) ประเทศแคนาดา และกระทรวงสาธารณสุขและสังคม (Department of Health and Social Care) แห่งสหราชอาณาจักร ระยะเวลาดำเนินการ 32 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2569
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยเคยเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยมาจากการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศมากกว่า 90% แต่ในช่วงหลังนี้ประเทศไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศคู่แข่งเช่นเวียดนามและจีน เนื่องจากโรคระบาดในกุ้ง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะต่าง ๆ การห้ามส่งออก และนโยบายการค้าที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกยังทำให้การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการเพาะเลี้ยงมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอัตราการรอดของกุ้ง และนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
ปัจจุบันโรค Vibriosis ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp. นับเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้กุ้งตายในฟาร์มเลี้ยงและโรงเพาะฟัก เกษตรกรจึงอาจใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีเพื่อควบคุมเชื้อและป้องกันโรค แต่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรือเกินขนาดอาจนำไปสู่ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาและยีนดื้อยาในสภาพแวดล้อม รวมถึงการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อกุ้ง
ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาทางเลือกเพื่อลดปัญหาดังกล่าวในการเพาะเลี้ยงกุ้งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน สวทช. นำโดย ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค สวทช. และหัวหน้าโครงการ ‘ชริมป์การ์ด’ จึงได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรมประมง ดำเนินโครงการ ‘ชริมป์การ์ด’ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะมีส่วนช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งให้มีความยั่งยืน ด้วยการลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะแบบดั้งเดิม
ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ ‘ชริมป์การ์ด’ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ร่วมกันดำเนินโครงการที่มุ่งพัฒนาสารชีวภาพที่เราเรียกว่า ‘ชริมป์การ์ด’ ซึ่งเป็นแบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) หรือไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการเข้าทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งได้อย่างจำเพาะเจาะจงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในระบบการเลี้ยงกุ้งและในลำไส้กุ้ง ภายใต้โครงการนี้ ‘ชริมป์การ์ด’ จะถูกพัฒนาให้ใช้ได้ทั้งในน้ำเลี้ยงกุ้งและในสูตรอาหารกุ้ง โดยใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความคงตัวของ ‘ชริมป์การ์ด’
รศ.ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ โอราน ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการร่วมในโครงการวิจัยนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาสูตรอาหารกุ้งจะพัฒนา ‘ชริมป์การ์ด’ ร่วมไปกับการพัฒนาสารชีวภาพอื่นอีก 3 ชนิดที่มีรายงานการวิจัยว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งในการต้านการก่อโรคของเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย สูตรอาหารดังกล่าวจะนำไปใช้ระหว่างการเลี้ยงลูกกุ้งเพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยง
ดังนั้น ‘ชริมป์การ์ด’ จะเป็นสารชีวภาพที่นำมาใช้ในการป้องกันและควบคุมเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในระหว่างการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เป็นต้นเหตุของการเกิดเชื้อดื้อยาในการเลี้ยงกุ้ง สามารถพัฒนากุ้งพรีเมียมปลอดโรค ปลอดภัยและปราศจากยาปฏิชีวนะเพื่อยกระดับสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนแนวทางการใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา - แดงติ๊บ หัวหน้าโครงการ‘ชริมป์การ์ด’ กล่าวว่าโครงการวิจัยนี้จะพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกับศูนย์เครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน (ASEAN Network on Aquatic Animal Health Centres: ANAAHC) ที่มีประเทศไทยโดยกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง เป็นผู้นำศูนย์เครือข่าย และโครงการวิจัยนี้ยังมีคณะที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในสัตว์น้ำจากองค์กรทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) อีกด้วยผลสำเร็จจากโครงการวิจัยนี้จะได้รับการเผยแพร่ผ่านเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ เช่น กรมประมง และภาคเอกชน เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและข้อมูลแก่เกษตรกรในประเทศ โดยเน้นไปที่การใช้เป็นแนวทางที่สามารถทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงกุ้ง เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและการสร้างกระบวนการเพาะเลี้ยงที่ยั่งยืนและปลอดภัยในระยะยาว