xs
xsm
sm
md
lg

สทน.-กฟผ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือต่อ 5 ปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระยะที่สอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระยะที่สอง ผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิธีลงนามจัดขึ้น ณ อาคารปฏิบัติการโทคาแมค สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สทน. และ กฟผ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน 2562 มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (ปี 2562 – ปี 2566) ซึ่งระยะแรกจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมคซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็กเพื่อเป็นเครื่องต้นแบบของไทย ระยะเวลาความร่วมมือดังกล่าวได้สิ้นสุดแล้ว แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้มีการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันอย่างต่อเนื่อง สทน. และ กฟผ. จึงเห็นพ้องร่วมกันเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระยะที่สอง มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี (ปี 2567 - ปี 2571) นับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2567 ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และงานบริการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 2) สนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแบบพื้นฐานและการประยุกต์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย 3) สนับสนุนการพัฒนาเครื่องโทคาแมคของประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น และเครื่องเร่งพลาสมาเชิงเส้น (Plasma Linear Device) ตลอดจนอุปกรณ์สนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง 4) ร่วมกันจัดอบรมและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย บุคลากรทางการศึกษา เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และ 5) ร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางดังกล่าว ตลอดจนเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และศึกษาพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถเครื่องโทคาแมคของประเทศไทย
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาเครื่องโทคาแมคของประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น ด้วยการรวมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน มุ่งมั่นที่จะผลักดันนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส่งเสริมบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และแสวงหานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืนและล้ำสมัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันที่เป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาด ปลอดภัย และปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ นำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของทั้งสองหน่วยงาน จะช่วยผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และความสามารถของเครื่องโทคาแมคของประเทศไทย กฟผ. เชื่อว่าการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการเติบโตนวัตกรรมพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต






















กำลังโหลดความคิดเห็น