ข่าวการพบรอยตีนไดโนเสาร์ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ทำให้หลายคนสนใจและมีการตั้งคำถามว่าทำไมรอยเท้ากิ้งก่ายักษ์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว จึงยังคงอยู่ให้ได้พบเห็น
รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบในครั้งนี้ เป็นรอยที่ปรากฎบนหินทรายและหินโคลน มีจำนวนมากกว่า 10 รอย แม้ว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วแต่เหล่ากิ้งก่ายักษ์ก็ทิ้งหลักฐานที่เป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาเรื่องราวในยุคไว้ รอยตีนนี้ถือเป็นหนึ่งใน “รอยตีนสัตว์” (footprint) ที่เกิดจากการที่สัตว์ได้เดินบนชั้นตะกอนดินขณะยังไม่แข็งตัว เมื่อตะกอนดินบริเวณนั้นแข็งตัวเป็นหิน ก็จะเก็บร่องรอยเหล่านี้ไว้ เช่น รอยเท้าไดโนเสาร์ หรือรอยเท้าสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็สามารถมีรอยในชั้นหินได้เช่นกัน
การค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญที่หลงเหลืออยู่จากยุคบรรพกาล เนื่องจากรอยตีนสามารถบอกถึงพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของสัตว์ชนิดนั้น สรีระวิทยา อายุทางธรณีวิทยา และแหล่งที่อยู่อาศัยทางภูมิศาสตร์ การกระจายตัวของสัตว์ในพื้นที่
สำหรับประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากไดโนเสาร์กลุ่มเดินสองขาที่เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เนื่องจากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตเป็นที่หากินของไดโนเสาร์กินพืช ไดโนเสาร์กินเนื้อจึงต้องมายังบริเวณนี้เพื่อล่าอาหาร รอยตีนแห่งใหม่ที่ได้ค้นพบนี้ เป็นรอยที่ปรากฎบนหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปี
ข้อมูล – รูปอ้างอิง : กรมทรัพยากรธรณี / สำนักอุทยานแห่งชาติ