สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย นักวิทยาศาสตร์จีนเผยผลการวิเคราะห์องค์ประกอบดินดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 บ่งชี้ว่าดินบนดวงจันทร์มีแร่ธาตุที่มีโมเลกุลน้ำแทรกตัวอยู่ สนับสนุนสมมติฐานว่าดวงจันทร์อาจมี “น้ำและน้ำแข็ง” อยู่บนพื้นผิวของดาวบริวารของโลกเรา
"ฉางเอ๋อ 5" เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของประเทศจีน ที่เป็นการส่งยานอวกาศลงจอดฝั่งด้านใกล้ของดวงจันทร์ พร้อมด้วยรถสำรวจขนาดเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ แล้วส่งกลับมาศึกษาโดยละเอียดที่ห้องทดลองภาคพื้นโลก ซึ่งสามารถส่งตัวอย่างดินปริมาณ 1.7 กิโลกรัมกลับมาได้สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020
ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดินล่าสุด พบหลักฐานของโมเลกุลน้ำที่แทรกตัวอยู่ในเกลือไฮเดรต (hydrated salt) และพบว่ามีโมเลกุลน้ำคิดเป็นมวลกว่า 41% ของมวลตัวอย่างดินที่นำกลับมา และด้วยพื้นที่ลงจอดของยานฉางเอ๋อ-5 ที่ละติจูด 43.1 องศาเหนือ (บริเวณละติจูดปานกลางของดวงจันทร์) การค้นพบครั้งนี้จึงช่วยยืนยันว่า แม้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ แต่ก็มีโอกาสที่จะพบโมเลกุลน้ำได้เช่นกัน โดยจะแทรกตัวอยู่ในแร่ธาตุที่เสถียร และคงสภาพโมเลกุลได้แม้จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์
การค้นพบในครั้งนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินได้ว่า มีโอกาสที่จะพบโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการ “กลับไปดวงจันทร์” อีกครั้งของหลายประเทศในปัจจุบันนี้ ก็เพื่อค้นหาทรัพยากรบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่จะเป็นประโยชน์
การพบ “น้ำ” นี้เป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมาก ต่อความเป็นไปได้ของการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้ การที่สามารถพบน้ำได้แม้กระทั่งในบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์ ย่อมหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถสกัดน้ำออกมาเป็นปริมาณมากจากดินของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกไปจากนี้ น้ำยังอาจจะเป็นสารตั้งต้นที่จะสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจรวดได้อีกด้วย
ตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ที่พบน้ำในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่ได้มาจากภารกิจ “ฉางเอ๋อ-5” ซึ่งเป็นตัวอย่างดินจากภารกิจเดียวกันกับ “ดินจากดวงจันทร์” ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำมาจัดแสดงในงาน อว. แฟร์ ในระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งชาวไทยนับเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับชมดินดวงจันทร์นี้นอกประเทศจีน เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่ตัวอย่างนี้ได้เคยถูกนำออกมาจัดแสดงนอกแผ่นดินจีน
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT
- www.stsbeijing.org