xs
xsm
sm
md
lg

บพข. มอบรางวัล “PMUC Country 1ST Award” ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ โชว์ 13 โครงการเด่นชูผลิตผลงานครั้งแรกในไทยสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพ ฯ ภายในงาน “อว.แฟร์ :SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดพิธีมอบรางวัล “ PMUC Country 1ST Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ ” เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการ ที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างผลกระทบ( Impact)ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากทุน บพข. โดยได้รับเกียรติจาก .สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ บพข. มุ่งยกระดับผู้ประกอบการ โดยเร่งให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดย บพข. เน้นสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงที่มีมาตรฐานระดับสากล สร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม หรือ IDE สร้างความเชื่อมโยง และส่งเสริมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนวิจัยเพื่อเร่งผลักดันนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก รวมถึงการให้ทุนเพื่อเพิ่มกำลังคนทักษะสูง รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ไทย
ปัจจุบัน บพข. สนับสนุนทุนวิจัย ใน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต และกลุ่มลอจิสติกส์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนแผนงานกลไกขับเคลื่อนประเทศอีก 4 แผนงาน ได้แก่ แผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) แผนงานการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Global Partnership) แผนงานการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerator Platform) และแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs)
“ บพข. ได้รับงบอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. เพื่อนำมาจัดสรรทุนวิจัยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 เราได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยไปแล้วกว่า 1,265 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 7,692 ล้านบาท และหากนับรวมจนถึงปัจจุบัน เราให้การสนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 1,600 โครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชน ได้ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยจากตัวเลขการร่วมทุนวิจัยจากภาคเอกชน ตลอด 4 ปี ปรากฏว่า มีภาคเอกชนร่วมทุนกับ บพข. ไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท ในเกือบ 800 โครงการ และหากวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขการสุ่มประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ค่าตัวเลขผลกระทบ ไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี ของการประเมินในปี 2563 – 2564”
รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย กล่าวว่า เพื่อสร้างแรงบันดาล และเป็นต้นแบบเส้นทางความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงหรือ ดีพเทคในการประกอบธุรกิจ บพข. จึงจัดพิธีมอบรางวัล “ PMUC Country 1ST Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ” ขึ้น โดยคัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับทุน บพข. ซึ่งมีผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ หรือใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมออกสู่ตลาด และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง 
 
ทั้งนี้ 13 โครงการที่ได้รับรางวัล PMUC Country 1ST Award ประกอบด้วย 1. เมติคูลี่ กระดูกเทียมเฉพาะบุคคล จากบริษัทเมติคูลี่ จำกัด ซึ่งเข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

 2. Pegfilgrastim ยาชีววัตถุกระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นยาชีววัตถุที่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย.ช่วยเพิ่มความสะดวกในการฉีดยาให้ผู้ป่วย 

 3. โรงงานต้นแบบผลิตสารสกัดกระท่อมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ จากสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบ ฯ ที่ได้มาตรฐาน GMP 

4. รถไฟสุดขอบฟ้า (beyond horizon): รถไฟไทยทำ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด เป็นรถไฟไทยทำ และเป็นตู้โดยสารต้นแบบคันแรกของไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศและ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

5. CIRCULAR MARK จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นนวัตกรรมระบบรับรองและฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคและระดับโลก 

6. Zero Wastewater Discharge จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำอุตสาหกรรมอาหารที่มีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยปล่อยน้ำเสียสู่สาธารณะเป็นศูนย์

7. น้ำมันหม้อแปลงชีวภาพชนิดติดไฟยาก จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้เองทางชีวภาพเมื่อหมดอายุการใช้งาน


 8.แพลตฟอร์มจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเล เพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานผู้ประกอบการ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด 


 9. การยกระดับมาตรฐานสุข อนามัยระดับสากล GBAC STAR ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ บริษัท พิโซน่า ทัวร์ จำกัด, บริษัท เอส อี เอ คอนซัลติ้ง จำกัด, บริษัท ซี พาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท บางแสนบีชรีสอร์ท จำกัด 


 10. Winona Probio ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยสำหรับสตรีเจ้าแรก จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด 

11. “Thailand’s Taste of Tomorrow 2024” Fostering the Future of Food, Faith and Flavors จาก แพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจ หรือ FOREFOOD (สวทช.) ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KUSCR) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และภาคเอกชนซึ่งเป็นการต่อยอดนวัตกรรมอาหารไทยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำในตลาดโลก ด้วยการนำเสนอในมิติใหม่ผ่านสื่อสร้างสรรค์ 

12.แฟลตฟอร์มเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) 

 และ13. ความสำเร็จธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งมาตรฐาน ISO 20387 แห่งแรกของไทย จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานวิจัยจะเป็นประจักษ์พยาน ถึงความเป็นเลิศของนักวิจัยไทยที่ไม่แพ้ชาติใด รวมถึงภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันทุ่มเทจนเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ มีคุณภาพกับประเทศ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น และดำเนินต่อไป จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ ซึ่ง บพข. จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม ให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในทุกๆ ด้านต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย กล่าว 

อย่างไรก็ดี งาน “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดขึ้น เพื่อยกระดับทักษะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแก่ประชาชนไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ พร้อมแสดงศักยภาพของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งานดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.mhesifair.com และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/MHESIThailand










กำลังโหลดความคิดเห็น