xs
xsm
sm
md
lg

การพบภาพวาดสัตว์ที่มีอายุโบราณที่สุดในโลก ในถ้ำที่อินโดนีเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่เพิ่งผ่านมานี้ วารสาร Nature ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการพบภาพวาดบนผนังถ้ำ Leang Karampuang ซึ่งอยู่ในเทือกเขาทางตอนใต้ของเกาะ Sulawesi ในประเทศอินโดนีเซีย การวัดอายุของภาพวาดดังกล่าว โดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ภาพมีอายุประมาณ 51,200 ปี ตัวเลขนี้จึงทำให้มันเป็นภาพวาดที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะมีอายุมากกว่าภาพวาดที่พบในถ้ำ Maros-Pangkep karst บนเกาะ Sulawesi เช่นกัน ซึ่งภาพนั้นมีอายุเพียง 43,900 ปี เท่านั้นเอง


Sulawesi เป็นเกาะใหญ่ในทะเล Greater Sunda และเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งชาวโปรตุเกตเคยเรียกชื่อเกาะนี้ว่า Celebes ที่มีชื่อเสียงว่า เกาะเครื่องเทศ เพราะมีลูกจันทร์เทศ กานพลู พริกไทย ฯลฯ อุดมสมบูรณ์ และมีพืชกับสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ที่สามารถพบได้ทั้งในเอเชียและออสเตรเลีย เกาะ Sulawesi มีเกาะ Borneo ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เกาะ Maluku อยู่ทางตะวันออก และเกาะ Mindanao อยู่ทางทิศเหนือ นักโบราณคดีได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในถ้ำบนเกาะนี้หลายแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะตั้งแต่เมื่อ 30,000 ปีก่อน (มาบัดนี้ตัวเลขอายุของภาพวาด 51,200 ปี จึงทำให้ตัวเลข 30,000 ต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่)


ในรายงานการวิจัยข้างต้น Maxime Aubert จากมหาวิทยาลัย Griffith ในออสเตรเลีย ซึ่งทำงานวิจัยร่วมกับทีมวิจัยชาวอินโดนีเซียจาก Indonesia ในสังกัด National Council for Archaeological Research (NCAR) ได้เห็นภาพวาดรูปหมูป่า 1 ตัว ที่ทาสีแดงเข้มกับภาพลักษณะคล้ายคน 3 คน ยืนอยู่ข้างๆ เสมือนว่าเป็นพรานที่กำลังล่าหมูตัวนั้น ภาพวาดนี้มีความยาว 92 เซนติเมตร และกว้าง 38 เซนติเมตร


นอกจากภาพจะแสดงความสามารถด้านศิลปะของคนวาดแล้ว ภาพยังได้บรรยายเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยว่า มันเป็นภาพของการล่าสัตว์ นี่จึงทำให้เราปัจจุบันสามารถสรุปได้ว่า มนุษย์ได้รู้จักวาดภาพ เพื่อบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อ 50,000 ปีก่อนนี้

ซึ่งความสามารถด้านนี้ เป็นประเด็นที่นักชีววิทยา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักมนุษยศาสตร์ทุกคนสนใจ เพราะใคร่จะรู้ว่า มนุษย์เริ่มรู้จักสร้างสรรค์งานศิลป์ตั้งแต่เมื่อใด มนุษย์สปีชีส์ใดรู้จักวาดภาพเป็นครั้งแรก (มนุษย์ Neanderthal, Cro-Magnon, Denisovan หรือ Homo sapiens) แล้วศิลปินได้เริ่มวาดภาพสัตว์ด้วยเหตุผลใด (เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือเพื่อความรื่นเริง) รวมทั้งใช้เทคนิค และแปรงชนิดใดในการวาด (สีที่ใช้เป็นสีธรรมชาติ หรือสีประดิษฐ์) และช่วงเวลาที่ใช้ในการวาดนานเพียงใด ตลอดจนถึงปีที่วาดด้วย (ว่าในยุคน้ำแข็ง ยุคสำริด หรือหินใหม่) การรู้ข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดและถูกต้อง จะช่วยให้เรารู้ประวัติความเป็นมาของอารยธรรมมนุษย์ในบริเวณต่างๆ ของโลก และเส้นทางของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีการวาดภาพ ซึ่งอาจจะมีการแลกเปลี่ยนความสามารถและความนึกคิดของชนเผ่าต่างๆ ได้


นอกจากภาพวาดที่พบในถ้ำ Leang Karampuang บนเกาะ Sulawesi แล้ว นักโบราณคดีก็ยังได้พบภาพวาดในถ้ำ Leang Bulu' Sipong 4 ที่มีอายุ 43,900 ปี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 2019 ด้ว


ตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไปทั้งโลก แทบทุกคนเคยเชื่อว่า ชาวยุโรปโบราณ ซึ่งเป็นมนุษย์ Cro-Magnon และ Neanderthal เป็นศิลปินคนแรกๆ ของโลก เพราะได้มีการพบภาพวาดจำนวนมากในถ้ำจำนวนมากกว่า 350 ถ้ำ ที่อยู่บนเทือกเขา Pyrenees ของประเทศสเปนและประเทศฝรั่งเศส เช่น ในถ้ำ Maltravieso มีภาพฝ่ามือคน (ไม่ใช่ภาพสัตว์ ดังที่พบในถ้ำของ Sulawesi) จำนวน 71 มือ ซึ่งมีอายุประมาณ 66,700 ปี อันเป็นเวลานานก่อนที่มนุษย์ Homo sapiens จะเดินทางจากแอฟริกาถึงยุโรป ถ้ำ Maltravieso นี้ ตั้งอยู่ใกล้เมือง Cáceres ในสเปน อายุของภาพแสดงให้เห็นว่า มันเป็นฝีมือวาดของมนุษย์ Neanderthal กระนั้นอายุ 66,700 ปี ที่วัดได้ ก็เป็นประเด็นเรื่องที่อาจจะมีความผิดพลาด เพราะเทคโนโลยีคาร์บอน-14 ที่ใช้วัดอายุของภาพ อาจจะผิดพลาด เพราะปริมาณ C-14 ที่มีในบรรยากาศโลก มีความแปรปรวนมาก คือ มีความหนาแน่นที่ไม่คงตัว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาร่วม 10,000 ปีนั้น ได้เกิดพายุสุริยะพัดอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลการวัดอายุใหม่ โดยอาศัยหลักฐานทีได้จากปะการัง จากวงปีของต้นไม้ และจากน้ำแข็งที่ขั้วโลกด้วย นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว การมีอะตอมกัมมันตรังสีจากดินหรือจากสภาพแวดล้อมที่มาตกปนเปื้อนบนภาพ ก็มีส่วนในการทำให้การวัดอายุของภาพผิดพลาดได้มาก


แม้อายุของภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์จะมาก นับหลายหมื่นปีก็ตาม แต่มนุษย์ปัจจุบันได้เริ่มสนใจภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 150 ปีมานี้เอง คือ ในปี 1878 เมื่อ Marcelino de Sautuola (1831-1888) ซึ่งเป็นอัยการ ชาวเมือง Barcelona ในสเปน ที่สนใจวิทยาการด้านโบราณคดีมาก ได้เดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Louvre ที่กรุง Paris ในฝรั่งเศส และได้เห็นวัตถุโบราณกับซากสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากมาย เขารู้สึกดื่มด่ำและสนใจวิถีชีวิตของมนุษย์ถ้ำมาก ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านเกิด จึงได้เดินทางไปที่เทือกเขา Cantabria ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปน เพื่อค้นหาวัตถุโบราณในถ้ำที่ภูเขา Altamira โดยได้ชวนลูกสาวชื่อ Maria วัย 10 ขวบ ไปเป็นเพื่อนด้วย


ในการสำรวจถ้ำครั้งนั้น เขาได้นำคบไฟไปด้วย เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นไปภายในถ้ำ และขณะที่เขากำลังก้มหน้าก้มตาขุดหาซากวัตถุที่ฝังอยู่ที่พื้นถ้ำ Maria รู้สึกเหนื่อยอ่อน จึงล้มตัวลงนอนหงายที่พื้นถ้ำ แสงสว่างจากคบไฟทำให้เธอได้เห็นภาพวาดของสัตว์ขนาดใหญ่ ปรากฏอยู่ที่เพดานถ้ำ เธอจึงตะโกนร้องออกมาด้วยความตกใจว่า “Toras! Toras!” (กระทิง กระทิง) เสียงร้องของเธอทำให้พ่อของเธอตกใจ จึงบอกลูกว่า ไม่มีหรอก กระทิงอะไรนั่นล่ะ แต่ Maria ก็ยังระล่ำระลักพูด พร้อมกับชี้ไปที่เพดานถ้ำ พ่อจึงมองตาม แล้วก็ตกใจด้วย เพราะมันเป็นภาพของกระทิงจริง ๆ คือ มีเขาโค้ง ตัวทาสีแดง และมีท่าทางคึกคะนอง แต่เป็นกระทิงที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

เมื่อ Sautuola กับ Maria เดินทางกลับถึงเมือง Altamira เขาได้รายงานให้เจ้าเมือง (Duke of Alba) ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ ทราบเรื่องนี้ด้วย แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะทุกคนคิดว่า เขาโกหก และพยายามสร้างเรื่องให้คนอื่น ๆ เชื่อตาม ยิ่งเมื่อเขาบอกว่า ภาพวาดนั้นดูโบราณมาก ผู้คนก็ยิ่งไม่เชื่อใหญ่ เพราะไม่เคยคิดเลยว่า มนุษย์โบราณจะมีความสามารถทางศิลปะมากถึงเพียงนั้น

เวลาได้ผ่านไปนานถึง 16 ปี ผู้คนจึงเริ่มเชื่อคำบอกเล่าของ Sautuola เมื่อชาวนา Les Eyzies ได้พบวัตถุโบราณอีกมากมายในถ้ำ จากนั้นทุกคนจึงเริ่มยอมรับความจริงว่า ศิลปินยุค Renaissance เช่น Giotto (1267–1337), Michelangelo (1475-1564) Titian (1490-1576) ตลอดจนถึง Picasso (1881-1973) และ Monet (1840–1926) ก็เป็นเพียงศิลปินรุ่นหลังศิลปินถ้ำในสมัยนั้นหลายหมื่นปี


สำหรับความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า ศิลปินยุคก่อนประวัติศาสตร์มักเริ่มต้นด้วยการวาดภาพง่าย ๆ ก่อน แล้วได้พัฒนาความสามารถขึ้นทีละน้อยๆ จนได้ภาพที่ดูสมจริง สวย และมีความหมายที่ซับซ้อนในภายหลังนั้น ก็ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เพราะศิลปินยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบางบริเวณของโลก ได้พัฒนาความสามารถแบบพุ่งขั้นตอน คือ เป็นไปแบบก้าวกระโดด ที่มีความทันสมัย และแตกต่างไปจากสไตล์การวาดภาพแบบเดิม ๆ โดยใช้เวลาไม่นาน ดังหลักฐานที่พบในถ้ำ Chauvet ที่อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาพวาดบนผนังถ้ำที่มีอายุมากที่สุดในยุโรป


ประวัติการค้นพบทางโบราณคดีได้จารึกว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปี 1994 เด็กหนุ่มชื่อ Jean-Marie Chauvet กับเพื่อน 2 คน ได้ไปสำรวจถ้ำที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ Ardèche ตรงบริเวณสะพาน Vallon-Pont-d'Arc ที่อยู่ไม่ไกลจากเมือง Avignon นัก และได้เห็นภาพสัตว์ต่างๆ ร่วม 13 ชนิด เช่น หมี แรด แมมมอธ กวาง สิงโต วัว ม้า ฯลฯ บนผนังถ้ำ ภาพบางภาพมีการแรเงาด้วย ทำให้ดูมีลักษณะเป็น 3 มิติ

อุณหภูมิภายในถ้ำที่ต่ำประมาณ 13 องศาเซลเซียสตลอดเวลา และอากาศที่มีความชื้น 99% ตลอดเส้นทางประมาณ 500 เมตร มีห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีภาพของสัตว์ร่วม 420 ภาพ โดยภาพสัตว์กินเนื้อมักจะอยู่ลึกเข้าไปภายในถ้ำ ทั้งนี้คงเพราะ คนวาดภาพต้องการจะให้คนถ้ำรู้สึกอบอุ่นใจว่า สัตว์ร้ายที่อยู่นอกถ้ำจะไม่บุกรุกเข้ามาทำร้ายตน และมักวาดภาพสัตว์กินพืชตรงบริเวณปากถ้ำ ก็คงเพื่อให้คนถ้ำได้รู้สึกสบายใจเวลาเดินทางกลับมาเพื่อพักผ่อน

ภายในถ้ำยังมีรอยเท้าของผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้ำในเวลานั้นเป็นสังคมสถานให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น ได้มาอยู่ร่วมกัน เพื่อจัดพิธีกรรมทางศาสนา เพราะได้มีการพบกะโหลกศีรษะของหมีถ้ำมากมาย ซึ่งแสดงให้ว่า คนเหล่านั้น นับถือหมี การวัดอายุของภาพสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยี C-14 และ Cl-31 แสดงให้เห็นว่า บางภาพมีอายุตั้งแต่ 26,000-27,000 ปี และบางภาพมีอายุตั้งแต่ 30,000-32,000 ปี ซึ่งเป็นเวลาปลายยุคน้ำแข็ง ที่มนุษย์รู้จักจุดไฟและใช้คบไฟ โดยศิลปินถ้ำในเวลานั้น ได้ใช้ถ่านสีดำวาดภาพแรด 2 ตัว กำลังสู้กัน โดยเริ่มต้นวาดนอแรดก่อน จากนั้นก็วาดปาก แล้วลำตัว โดยให้สัตว์แต่ละตัวมีลีลาและท่าทางเฉพาะตัวของมัน

นักโบราณคดี Gilles Tosello แห่ง University of Toulouse ในฝรั่งเศส ได้วิเคราะห์สไตล์การวาดภาพของศิลปินถ้ำอย่างละเอียด นับตั้งแต่ลายเส้นแต่ละเส้นว่า ศิลปินใช้สีที่ประกอบด้วยสารอะไร ได้ขูดขีดผนังถ้ำเป็นร่องก่อนลงสีหรือไม่ และปริมาณสีที่ใช้ในการวาดเส้น ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสิ้นสุด ทำให้เขาได้เห็นลำดับเวลาในการวาดเส้น และเวลาที่ใช้ในการวาดรูปสัตว์แต่ละรูป


เมื่อ 32,000 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของยุคน้ำแข็งที่กำลังมาเยือนยุโรป ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ Homo sapiens ยังสามารถทำงานสร้างสรรค์ศิลปะได้ต่อไป และสามารถต่อสู้กับภัยความหนาวเย็นได้ดี ในขณะที่มนุษย์ Neanderthal ได้เริ่มสูญพันธุ์

เพราะประเด็นเรื่องเวลาที่ศิลปินเริ่มวาดภาพ มีความสำคัญต่อประวัติเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์ จึงทำให้เรารู้ว่าอดีตเมื่อ 50,000 ปีก่อน เป็นเวลาที่มนุษย์ Neanderthal กับ Homo sapiens ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในยุโรป และอุณหภูมิของดินฟ้าอากาศได้แปรปรวนมาก เพราะธารน้ำแข็งได้แผ่ปกคลุมทางตอนเหนือของยุโรปหมด จากนั้นมนุษย์ Neanderthal กับ Homo sapiens ได้เริ่มต่อสู้กัน แล้ว Neanderthal ก็เริ่มสูญพันธุ์ จนเหลือแต่ Homo sapiens สปีชีส์เดียว

เทคโนโลยีการวัดอายุโดยใช้ carbon-14 (14C) ทำงาน โดยใช้หลักการว่า พืชและสัตว์ที่มีชีวิต จะหายใจหรือบริโภคอะตอมคาร์บอน-14 ที่มีสมบัติกัมมันตรังสีเข้าไปในตัว ดังนั้นเวลาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ตาย การบริโภค 14C จึงหยุด จากนั้นอะตอม 14C ก็เริ่มสลายตัว การรู้จำนวนอะตอมที่เหลืออยู่ในแต่ละเวลา จะทำให้เราสามารถรู้อายุของสิ่งมีชีวิต ขณะที่มันเริ่มตายลงได้

แต่จำนวน C-14 ที่มีในบรรยากาศมักจะไม่คงตัว คือ มีความแปรปรวน เพราะทิศและความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกไม่คงที่ และในบางเวลาบรรยากาศโลกได้รับอิทธิพลที่เกิดจากการระเบิดที่ผิวดวงอาทิตย์ ดังนั้น เทคโนโลยี C-14 จึงมีความผิดพลาดในการวัด จนทำให้ต้องอาศัยวิธีการอื่นมาประกอบด้วย เช่น จากการวัดอายุด้วยการนับวงปีของพืช (dendrochronology) และจากเทคโนโลยีการวัดอายุที่ใช้อนุกรม uranium-thorium เป็นต้น


เทคโนโลยี C-14 ได้ถือกำเนิด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ปี 1947 ที่เมือง Baltimore ในรัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา ณ ศูนย์บำบัดน้ำเสีย Patapsco Sewage Plant เมื่อ Willard Frank Libby (1908–1980) กับคณะได้รายงานการพบแก๊ส methane ที่ลอยขึ้นจากน้ำเสียในบ่อว่ามีอะตอมกัมมันตรังสี C-14 ด้วย การพบนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ในสารอินทรีย์มีอะตอม C-14 ในปริมาณที่แตกต่างกันตามเวลา ในขณะที่ถ่านหิน (peat) ในน้ำมันปิโตรเลียมที่มีอายุล้านๆ ปี กลับไม่มี C-14 เลย ทั้งนี้เพราะอะตอม C-14 ได้สลายตัวไปจนหมดแล้ว

การพบความจริงนี้ จึงทำให้เทคโนโลยีการวัดอายุ โดยใช้ C-14 ถือกำเนิด


ยิ่งเมื่อ Libby ได้ใช้เทคโนโลยีนี้วัดอายุของโลงพระศพในฟาโรห์ Zoser ว่า มีอายุประมาณ 2750 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ถูกต้อง นักวิชาการทุกคนจึงยอมรับเทคนิคการวัดอายุแบบนี้ทันที และมีผลทำให้ Libby ได้รับรางวัลโนเบลเคมี ปี 1960

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ทุกเทคโนโลยีมีความผิดพลาดในการวัด ดังนั้นอายุของสิ่งที่วัดได้จึงอาจจะแตกต่างกันมาก ด้วยเหตุนี้นักโบราณคดีจึงต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีการวักอายุหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้วิธี thermoluminescence เพื่อวัดอายุของวัตถุตั้งแต่หนึ่งล้านปีขึ้นไป และเทคโนโลยี electron spin resonance สำหรับวัตถุที่มีอายุมากไม่เกิน 40,000 ปี เป็นต้น

สำหรับประเด็นปริมาณมวลของวัถตุที่จำเป็นต้องใช้ในการวัดด้วยเทคโนโลยี C-14, thermoluminescence และ electron spin resonance ก็คือ 1-20 กรัม 25 มิลลิกรัม และ 250 มิลลิกรัม ตามลำดับ


เมื่อถึงปลายทศวรรษของปี 1970 โลกได้มีเทคโนโลยีใหม่ คือ Accelerator Mass Spectrometry (AMS) ที่สามารถวัดจำนวนอะตอม C-14 ที่มีในวัตถุได้โดยตรง แทนที่จะวัดอัตราการสลายตัวของมัน ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้จากวิธีวัดนี้ก็คือ ภูเขาไฟ Thera ที่ตั้งอยู่ในทะเล Mediterranean ได้ระเบิดอย่างรุนแรง จนทำให้อารยธรรม Minoan ต้องล่มสลายนั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อ 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช มิใช่ 1500 ปี ดังที่เคยรู้กัน

การวัดอายุของซากกระดูกคนจำนวน 19 ซาก ที่พบในอิสราเอล ตลอดไปจนถึงสเปน ทำให้นักโบราณคดีรู้เส้นทางการอพยพของ Homo sapiens จากแอฟริกาว่า ได้เดินทางถึงยุโรปเร็วกว่าที่คิด และ Homo sapiens ในเวลานั้น จึงมีช่วงเวลาได้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ Neanderthal เป็นต้น

นับตั้งแต่ปี 1947 ที่ Libby ศึกษาแก๊ส methane จากบ่อบำบัดน้ำเสียที่ Baltimore และการค้นพบนั้น ได้ทำให้เรามีความรู้ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นมากว่า เหตุใดมนุษย์ถ้ำที่ Sulawesi, Chauvet และ Lascaux จึงสามารถสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ได้ และความรู้นี้ ยังทำให้เรารู้อีกด้วยว่า ขณะที่ศิลปินถ้ำกำลังทำงานศิลปะนั้น สภาพแวดล้อมของโลกที่อยู่นอกถ้ำเป็นอย่างไรด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก
Morlan, Richard. "Radiocarbon Dating Principles". Canadian Archaeology. Canadian Archaeological Radiocarbon Database. Retrieved July 12, 2022.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น