xs
xsm
sm
md
lg

NASA เผย ภาพสีจริงของดาวศุกร์ ลบภาพจำสีนวลตาที่ถ่ายด้วย ยานมาริเนอร์ 10 เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา NASA เผย ภาพสีจริงของ “ดาวศุกร์” ดาวเคราะห์ที่ได้ฉายาฝาแฝดของโลก จาก ยานเมสเซนเจอร์ (MESSENGER) ยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวพุธอีกครั้งในรอบหลายสิบปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงแค่ ยานมาริเนอร์ 10 เท่านั้น และได้ถ่ายภาพดาวศุกร์ขณะที่โคจรผ่าน ซึ่งเป็นภาพดาวเคราะห์สีขาวครีมนวลและกลายเป็นภาพจำของดาวศุกร์มาตั้งแต่อดีต


ยานเมสเซนเจอร์ - MESSENGER เป็นคำย่อจาก MErcury Surface, Space ENvironment, GEochemistry and Ranging probe เป็นยานอวกาศขององค์การนาซา ที่ส่งขึ้นจากพื้นโลกเมื่อ สิงหาคม 2003 มีเป้าหมายเพื่อสำรวจพื้นผิวของดาวพุธ โดยเป็นยานสำรวจลำแรกในรอบหลายสิบปี ที่มีการส่งไปสำรวจดาวพุธ ที่ก่อนหน้านี้ มีเพียงยานมาริเนอร์ 10 เท่านั้นที่เคยเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ลำดับที่ 1 แห่งระบบสุริยะจักรวาล และสิ้นสุดภารกิจไปตั้งแต่มีนาคม 1975

หลังจากถูกปล่อยสู่อวกาศเพื่อเดินทางไปยังดาวพุธในปี 2003 จาก ยานเมสเซนเจอร์ ได้ใช้ระยะเวลายาวนานถึง 6 ปีครึ่ง รวมระยะทางทั้งสิ้น 7,900 ล้านกิโลเมตร ในการเดินทางไปถึงดาวพุธ ซึ่งขณะเดินทางยานได้โคจรผ่านดาวศุกร์และได้บันทึกภาพสีจริงส่งกลับมาด้วย


ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ช้ามากและหมุนรอบตัวเองช้าเช่นกัน โดยโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 224.7 วันของโลก และหมุนรอบตัวเองครบบริบูรณ์โดยใช้เวลา 243 วันของโลก แต่มีความยาววันสุริยคติ 117 วันของโลก ด้วยเหตุนี้ ดาวศุกร์จึงจัดเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองช้าที่สุดในระบบสุริยะ

และดาวศุกร์ยังมีวงโคจรอยู่ภายในวงโคจรของโลก ทำให้เมื่อสังเกตแล้วจะไม่ปรากฏว่าห่างจากดวงอาทิตย์มากนัก โดยจะสามารถเห็นได้ในตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่า "ดาวประจำเมือง" หรือเห็นในตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่า "ดาวประกายพรึก" และดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ถูกปกคลุมด้วยชั้นเมฆที่หนาแน่น ทำให้ไม่สามารถมองเห็นทะลุลงไปยังพื้นผิวได้




ข้อมูล – รูปอ้างอิง

- nasa.gov
- thaiastro.nectec.or.th
- spaceth.co


กำลังโหลดความคิดเห็น