สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ISS ห้องทดลองและสถานที่สำหรับงานค้นคว้าวิจัยบนอวกาศ ได้โคจรรอบโลกมาตั้งแต่ปี 1998 นับจากวันแรกที่มีการส่งส่วนแรกขึ้นไปโคจรบนอวกาศ สถานีอวกาศแห่งนี้ได้มีกำหนดปลดประจำการอย่างเป็นทางการในปี 2030 นี้
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา NASA หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เผยว่า สถานีอวกาศแห่งนี้กำลังใกล้จะสิ้นสุดอายุการใช้งาน โดยตามแผนงานได้ เสนอสัญญามูลค่าสูงถึง 843 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) แก่ บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ก่อตั้งขึ้นโดย อีลอน มัสก์ เพื่อนำสถานีอวกาศออกจากวงโคจรและกลับสู่โลก และให้จมลงสู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกอย่างปลอดภัย
ตามแผนงานของ NASA จะให้ SpaceX สร้างยานอวกาศที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ โดยมีหน้าที่ผลักดันหรือลากสถานีอวกาศนานาชาติ ออกจากวงโคจรปัจจุบันและนำกลับมายังโลก ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุวัน – เวลาที่แน่นอนในการทำภารกิจนี้ แต่จะแล้วเสร็จในปี 2030 หรือต้นปี 2031 ตามกำหนดปลดประจำการอย่างเป็นทางการของสถานีอวกาศแห่งนี้
ในปัจจุบัน สถานีอวกาศนานาชาติเป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นให้โคจรรอบโลก ด้วยความยาว 109 เมตร และหนักถึง 450 ตัน ซึ่งกำลังเสื่อมสภาพตามอายุ โดยเริ่มเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคและการรั่วไหลต่างๆ ห้องทดลองนอกโลกแห่งนี้ ได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 3,300 ครั้ง และสถานีอวกาศยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการชนของขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
การนำสถานีอวกาศปลดประจำการกลับมายังโลกในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ได้มีการนำ สถานีอวกาศเมียร์ (Mir) ของรัสเซียกลับมาสู่โลก และเศษชิ้นส่วนที่เหลือจมลงไปใต้มหาสมุทรแปซิฟิกในปี 2001 มาแล้ว
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- www.nasa.go
- space.com