xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักพิกัด “กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ” รอชมการระเบิดโนวา ที่ชั่วชีวิตนี้จะได้เห็นเพียงครั้งเดียวก่อนเดือนกันยายนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในแต่ละปีโลกของเราจะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ให้ได้ชมกันมากมายหลายเหตุการณ์ แต่ในปี 2024 นี้ จะเป็นปีที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ เนื่องจากจะมีการระเบิดโนวาในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ ปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากที่ในชั่วชีวิตมนุษย์อย่างเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่ได้เห็น โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นก่อนเดือนกันยายนในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้


กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ หรือ โคโรนา โบรีอาลิส (Corona Borealis) อยู่ห่างจากโลก 3,000 ปีแสง เป็นกลุ่มดาวขนาดเล็กในซีกฟ้าเหนือ ดาวฤกษ์ในกลุ่มเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม กลุ่มดาวนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มดาว 48 กลุ่มในรายการของทอเลมี และยังเป็นกลุ่มดาวในรายชื่อกลุ่มดาวสมัยใหม่ 88 กลุ่มที่รับรองโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล เดิมมีชื่อละตินว่า Corona ที่หมายถึงมงกุฎ ต่อมาเติมคำว่า Borealis (เหนือ) เพื่อให้ตรงข้ามกับกลุ่มดาวมงกุฎใต้ที่อยู่ในซีกฟ้าใต้

กลุ่มดาวนี้มีดาวฤกษ์อยู่มากมาย แต่มีดาวเจ็ดดวงที่โดดเด่นประกอบกันเป็นลวดลายมงกุฎ ได้แก่ ทีต้า (Theta) , เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) , เดลต้า (Delta) , เอปซิลอน (Epsilon) , ไอโอตา โคโรนา บอเรลิส (Iota Coronae Borealis) และที่สว่างที่สุดคือ R Coronae Borealis ซึ่งเป็นดาวยักษ์สีเหลือง


และดาวที่จะเกิดการระเบิดคือ ดาวแคระขาวชื่อ “ที โคโรนา โบรีอาลิส”(T Coronae Boreallis) หรือ ดาวทีมงกุฎเหนืออยู่บริเวณข้างล่างของมงกุฎ โดย NASA ได้เผยว่า ดาวดวงนี้จะมีการระเบิดเกิดขึ้นทุกๆ 80 ปี การระเบิดจะปรากฏเหมือนดาวฤกษ์สว่างดวงใหม่ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า หากเห็นแสงสว่างเหมือนดาวดวงใหม่บนท้องฟ้าในกลุ่มดาวดาวมงกุฎเหนือ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ เพราะการระเบิดโนวาและปฏิกิริยานิวเคลียร์ทำให้เราได้เห็นดาวทีมงกุฎเหนือชัดขึ้นเท่านั้น


แม้กลุ่มดาวมงกุฎเหนือจะเป็นกลุ่มดาวขนาดเล็ก ซึ่งดาวในกลุ่มเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลมคล้ายมงกุฎ แต่สามารถสังเกตได้ง่ายและสามารถมองเห็นได้เกือบตลอดปี มีเพียงช่วงฤดูหนาวเท่านั้นที่มองไม่เห็น กลุ่มดาวนี้อยู่บริเวณใกล้กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส และนี่คือจุดที่การระเบิดโนวาที่จะได้เห็นด้วยตาเปล่าในปี 2024 นี้

สำหรับช่วงเวลาการสังเกตกลุ่มดาวมงกุฎเหนือในช่วงที่กำลังจะเกิดโนวาในไม่ช้านี้ คือ เดือนกรกฎาคม กลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าราว 02.00 น. เดือนสิงหาคม จะลับขอบฟ้าไปในราวเที่ยงคืน และในเดือนกันยายน กลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าไปในราว 22.00 น.


โนวาของดาวทีมงกุฎเหนือมีคาบนานประมาณ 80 ปี ครั้งล่าสุดที่ดาวดวงนี้เกิดโนวาคือในปี 2489 ดังนั้น ครั้งต่อไปจึงจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายนปี 2024 นี้ เมื่อเกิดโนวาขึ้นจะมองเห็นจุดเหมือนดาวสว่างขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เคยเห็นดาวมาก่อน และจะคงความสว่างอย่างนั้นอยู่ประมาณสัปดาห์ จากนั้นความสว่างจะค่อยๆ จางลงกลับไปสู่ความสว่างเดิม

ปกติดาวทีมงกุฎเหนือเป็นดาวที่จางมาก มีอันดับความสว่างประมาณ +10 แต่เมื่อใดที่เกิดโนวาขึ้น ความสว่างจะเพิ่มขึ้นจนอันดับความสว่างอยู่ที่ +2 ซึ่งสว่างใกล้เคียงกับดาวเหนือ และสว่างใกล้เคียงกับดาวอัลเฟกกาซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือเลยทีเดียว และด้วยคาบที่มีความยาว 80 ปี ทำให้โนวาของดาวทีมงกุฎเหนือเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์เราจะมีโอกาสเห็นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตนี้เท่านั้น




ข้อมูล – รูปอ้างอิง

- thaiastro.nectec.or.th
- space.com
- NASA
- BBC
กำลังโหลดความคิดเห็น