ผลงาน “Rolling Marble” คว้าแชมป์ระดับเยาวชน ขณะที่ผลงาน “Gravity Zoone” คว้าแชมป์ประเภทบุคคลทั่วไปจากการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก จัดโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อสร้างอาชีพนักออกแบบ - ผลิตของเล่นวิทย์ฯ รุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM จัดแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก (2024 Innovative Science Toys Competition : Automata Toys) รอบชิงชนะเลิศ โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน โดยในระดับเยาวชนมี 82 ผลงาน ผ่านรอบคัดเลือก 10 ผลงานและระดับบุคคลทั่วไปมี 34 ผลงาน และผ่านรอบคัดเลือกทั้งหมด 8 ผลงาน
โดยผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ปรากฎว่า ประเภทระดับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “Rolling Marble” โดย น.ส.ชมมณี พระศรี และ น.ส.ณัฐจรีย์ ธูสรานนท์ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “Holz Bagger” โดย นายอชิตะ พนาเชวง และ น.ส.อุสิชา ปาณะดิษ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “3 2 1 ready!?...go!!!” โดย น.ส.ต้นน้ำ ตรีปัญจศิล และรางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ ผลงาน “มานะต้านลม” โดย น.ส.กัญญาพัชญ์ โชติรัตน์ภากรณ์ น.ส.พริมรดา ธนาคีรี และ น.ส.วิมลพัฒน์ ตันติพงศ์
ประเภทระดับบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “Gravity Zoone” โดยนายหิรัญ คุณประโยชน์ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “The Bees” โดย น.ส.กานต์ธิดา ป้อมสกุล รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “Sniffing Dog” โดย น.ส.เจตวิภา บรุณเวช และ รางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ ผลงาน “สาวน้อยตกน้ำป๋อมแป๋ม” โดย น.ส.สุชนา ทองปลอด
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ. NSM กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน หวังว่ากิจกรรมการแข่งขันฯ ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันในการส่งเสริมและสร้างอาชีพนักออกแบบและผู้ผลิตของเล่นวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของเล่นวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์และหลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป
“การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์สู่ศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งสําคัญในการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินตามอัธยาศัย ให้กับเด็กและเยาวชนตามนโยบาย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้ความสำคัญในการผลักดันศักยภาพของเยาวชนและประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สนุกสนาน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต” ผศ.ดร.รวิน กล่าว
ด้าน ดร.พีรนุช กัณหดิลก ผอ.ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ คือเวทีที่ให้นักออกแบบและผู้ผลิตของเล่นได้แสดงแนวคิดในการออกแบบและผลิตของเล่น Automata Toys หรือ Machine Toys ซึ่งจะเน้นให้ผู้เล่นได้พัฒนาทักษะการประดิษฐ์และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ของเล่นด้วยกลไกอย่างง่ายและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดในการนำรูปแบบของเล่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์รอบตัวผ่านหัวข้อแรงและการเคลื่อนที่ (Force and Motion)