“เพชรดาว” ลงพื้นที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.สงขลา ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้(สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ดำเนินการโดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยผศ.คำรณ พิทักษ์ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ นำเสนอว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีมูลค่าถึง 102 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประเทศที่มีมูลค่าสูงสุด คือ มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย สำหรับในประเทศไทยปี 2562 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมในประ เทศไทยรวม 727,318 คน ซึ่งยังมีจำนวนน้อยอยู่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมต้องการคือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ดาราศาสตร์อิสลามหรืออัลฟาลัก เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่เป็นมรดกของชาวมุสลิมและจำเป็นสำหรับชาวมุสลิมที่เกี่ยวกับวิชาชารีอะฮ์ เช่น การกำหนดเวลาละหมาด การกำหนดทิศกิบลัต และการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม
ผศ.คำรณ กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมที่เชื่อมโยงกับดาราศาสตร์อิสลามจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมทั้งจากในประเทศและประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางด้วย ซึ่ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพความพร้อมในทุกเรื่อง เช่น ร้านอาหาร ที่พัก ศูนย์การค้า การคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ โดยกิจกรรมทั้งหมดจะเป็นไปตาม หลักอิสลาม นอกจากนี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอัตตลักษณ์เฉพาะเจาะจงที่จะเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมทั้งจากในประเทศ ประเทศใกล้เคียงศักยภาพความพร้อม เช่น อยู่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซียที่เป็นประเทศมุสลิม มีความเป็นนานาชาติ มีชุมทางรถไฟขนาดใหญ่และสถานีขนส่งที่ทันสมัย มีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีมาตราฐานรองรับ มีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติวัฒนธรรมและชุมชน มีสังคมพหุวัฒนธรรมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะเครื่องแต่งกาย อาหาร ของที่ระลึก เป็นต้น มีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคใต้ที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ทาง วิทยาศา สตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญในพื้นที่ มีแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ที่พร้อมยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวดารา ศาสตร์อิสลาม