xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) งานวิจัย “ปลูกป่าได้เห็ด” ตอบโจทย์การรักษ์ป่าสร้างอาชีพ รดหัวเชื้อเห็ด 1 ครั้ง สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดอายุต้นไม้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




การศึกษาวิจัยการเพาะเห็ดป่ากินได้กับไม้วงศ์ยาง งานวิจัยของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้ร่วมกับ กรมป่าไม้ ถือเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ตอบโจทย์การรักษ์ป่าสร้างอาชีพได้อย่างตรงจุด

“เห็ดระโงก” จัดเป็นราไมคอร์ไรซา (mycorrhizas) ที่มีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางในลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออานวยประโยชน์ซึ่งกันและกันกับเซลล์ของรากพืช โดยที่ต่างฝ่ายก็ได้รับประโยชน์(mutualistic symbiosis) ราจะช่วยดูดน้าและธาตุอาหารจากดิน โดยเฉพาะฟอสฟอรัส (P) ให้แก่พืช ส่วนราก็ได้สารอาหารจากพืชที่ขับออกมาทางรากสาหรับใช้ในการเจริญเติบโต เช่น น้ำตาล โปรตีนและวิตามินต่างๆ นอกจากนี้ราไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทาลายของเชื้อก่อโรคพืช ต้นกล้าที่มีราไมคอร์ไรซาจึงมีการอยู่รอดมากกว่าพืชที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา เพราะสามารถทนแล้ง และธาตุอาหารต่าได้ดีกว่าต้นกล้าที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา และเมื่อความชื้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เหมาะสม ราไมคอร์ไรซาจะเจริญและพัฒนาเป็นดอกเห็ดให้เห็นได้


ดร.อัมพวา ปินเรือน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า เห็ดป่าเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและขายได้ในราคาสูง แต่ผืนป่าที่เป็นแหล่งทรัพยากรเห็ดป่าเหล่านี้ในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย แม้ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้มีการปลูกป่าทดแทนแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการปลูกป่าใช้ระยะเวลานาน และที่สำคัญต้องการความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ในการร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง

การสร้างแรงจูงใจและดึงให้ชาวบ้านมาเป็นแนวร่วมผู้ปลูกและดูแลผืนป่า โดยให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้และเห็ดป่า ที่เป็นแหล่งอาหารคุณภาพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญ และไม้วงศ์ยางมีประโยชน์ทางด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ตลอดจนความเชื่อมโยงผูกพันกับวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งอาศัยสัตว์ป่า ช่วยป้องกันการกัดเซาะดิน เนื้อไม้มีความทนทาน สวยงาม เหมาะสำหรับงานก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เรือ ด้ามเครื่องมือ และงานแกะสลัก เป็นแหล่งน้ำมันยาง แหล่งผลิตเรซิ่น แหล่งสมุนไพร และเป็นแหล่งอาหาร เป็นศูนย์รวมของเห็ดป่าหลากหลายชนิด เช่น เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดแดง เห็ดตะไคล เห็ดถ่าน เป็นต้น ซึ่งเห็ดระโงกและเห็ดเผาะจัดว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เห็ด 2 ชนิดนี้มีราคาสูง และไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค ทางโครงการฯ จึงได้มีการสนับสนุนกล้าไม้วงศ์ยางให้เกษตรกรไปปลูกทั้งในพื้นที่สาธารณะประโยชน์และพื้นที่ของตนเอง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรู้สึกรักและหวงแหนพื้นที่ป่า สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน มีความมั่นคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงในการบริโภคเห็ดพิษ และยังสามารถสร้างเป็นอาชีพ เสริมรายได้อีกด้วย


“สำหรับการใส่หัวเชื้อราเห็ดระโงก ทางโครงการฯ ได้มีการใส่หัวเชื้อให้กับกล้าไม้ตั้งแต่กล้าอยู่ในถุงเพาะชำโดยการรดบริเวณโคนต้น และเมื่อนำรากของต้นไม้มาตรวจจะพบลักษณะปลายรากหาอาหารของต้นไม้วงศ์ยางมีลักษณะบวงพอง แตกกิ่งก้านมากมาย และพบเส้นใยราปกคลุมอยู่ชัดเจน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเห็ดระโงกมีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งแตกต่างจากเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ที่เป็นราย่อยสลาย เห็ดพวกนี้จะย่อยเซลลูโลสเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ซึ่งขั้นตอนการเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ดระโงก ด้วยการนำเห็ดแก่จัดมาขยี้กับน้ำ นำน้ำสปอร์ที่ได้มาหยอดในกล้าไม้ขนาดเล็กหรือไม้วงศ์ยางที่มีอยู่ในแปลง เมื่อมีฝนตกลงมาเห็ดระโงกก็จะงอกขึ้นในพื้นที่ระหว่างแปลงของต้นยางนา"


ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ตลาดเห็ดเป็นตลาดที่ใหญ่ การเพิ่มมูลค่าของเห็ดด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน เริ่มต้นจากส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกเห็ดสร้างผลผลิตได้สูงขึ้น เกิดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการนำองค์ความรู้ในเรื่องวิเคราะห์ทดสอบมาใช้ในการศึกษาสารสำคัญในเห็ดป่าของบ้านเรา โดยคำนึงถึงในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค การนำส่วนไหนมาใช้ของเห็ด หรือในเรื่องของการเพาะปลูกพื้นที่ สายพันธุ์ของเห็ดที่เหมาะสม ถ้าเราสามารถหาจุดเด่นของเห็ดพื้นบ้านตรงนี้เจอ จะสามารถชูอัตลักษณ์เห็ดไทยในเวทีระดับโลกได้

การเพาะปลูกเห็ดป่านับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะเห็ดป่ากินได้จะเติบโตได้กับไม้วงศ์ยาง ทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แนวทางในการชูจุดเด่นของเห็ดป่ากินได้ จุดแรกคือ การสร้างการยอมรับให้คนไทยในประเทศมั่นใจในการบริโภคเสียก่อน เห็นถึงคุณประโยชน์ อร่อย และราคาที่เหมาะสม ถ้าสามารถสร้างระบบนิเวศตรงนี้ในบ้านเราได้ ตั้งแต่กลุ่มผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย จะช่วยให้สามารถขยายไปเวทีโลกต่อไปได้ โดยจะต้องใส่ใจตั้งแต่มาตรฐานการผลิต มาตรฐานการเพาะปลูก คุณภาพของเห็ดที่ปลูก รวมถึงกระบวนการผลิตและการแปรรูปต่างๆ ไปจนถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเราอาจจะมองเป็น 2 ส่วนคือ เห็ดที่ใช้สำหรับการบริโภค และเห็ดที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสำคัญทางชีวภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารโภชนาการสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น








กำลังโหลดความคิดเห็น