xs
xsm
sm
md
lg

เสริมศักยภาพเกษตรกร! วช. อบรมขั้นตอนการผลิตทุเรียนหมอนทองเชิงพาณิชย์ ขยายพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือตอนล่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วช.โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ร่วมกับสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดอบรมการผลิตทุเรียนหมอนทองเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดอบรมการผลิตทุเรียนหมอนทองเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ อย่างครบวงจร หวังรองรับได้ทันกับการขยายตัวของผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมทั้งออนไซต์และออนไลน์ กว่า 200 คน มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจประกอบด้วย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท บรรยายเรื่อง การผลิตทุเรียนทองเพื่อการส่งออก ผศ.ดร.สุขสรรค์ พลพินิจ บรรยายเรื่อง แมลงศัตรูทุเรียนและการป้องกันกำจัด และ รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดรนุวัฒน์ บรรยายเรื่องปัญหาโรคพืชในทุเรียนการป้องกันกำจัด

ที่ห้องประชุม คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อ14 มิถุนายน 2567 โดยมี นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 วช. เป็นประธานเปิดการอบรม รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับพร้อมด้วยผู้เข้าอบรมการผลิตทุเรียนหมอนทองเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ารับการอบรมทั้งในแบบ
วอล์คอิน ออนไซต์ และแบบออนไลน์ รวมประมาณ 200 คน
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า วช.ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแลศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ครอบคลุมผลไม้7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด กล้วย ลำไย ทุเรียน ส้มโอ และมะยงชิด โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 การอบรมถ่ายทอดความรู้ในการผลิตทุเรียนหมอนทองเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้ดำเนินการครั้งแรกที่จังหวัดสุโขทัย ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรรุ่นใหม่ เนื่องจากการปลูกทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นที่สนใจอย่างมาก ทั้งที่พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ แพร่ สุโขทัย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 50,000 ไร่ เชื่อมโยงไปถึงภาคเหนือตอนบน โดยขณะนี้มีการจัดตั้งล้งรับซื้อทุเรียนขึ้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีกำลังการรับซื้อทุเรียนปีละ 24,000 ตัน เมื่อทุเรียนระยองจันทบุรีตราดหมด สามารถมารับซื้อทุเรียนที่อุตรดิตถ์เพื่อส่งออกไปทางลาว เวียดนาม และจีนได้เลย ถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งใหม่ที่พ่อค้าจีนสนใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้เข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพ และการส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐาน จึงเป็นพื้นที่ขยายการผลิตทุเรียนที่มีแนวโน้มก้าวกระโดด จากปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออก 24,000 ตัน และคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายการผลิตเพิ่มขึ้นได้อีก2-3 เท่าตัว

“จุดเด่นของทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง คือ เป็นทุเรียนที่มีผลผลิตหลังจากทุเรียนระยองจันทบุรีและตราดหมดแล้ว เป็นทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก และมีทุเรียนหลินลับแล หลงลับแลเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจสูงมาก ราคาต่อหน่วยในช่วงต้นฤดูสูงถึงกิโลกรัมละ400 บาท ตอนนี้ลงมา 300 บาท ยิ่งหลินลับแลราคาสูงถึง 400-600 บาท แต่ผลิตผลน้อย แนวโน้มส่วนใหญ่จึงหันมาปลูกหมอนทองซึ่งให้ผลผลิตขายได้ราคาตลอดปี ”

สำหรับกรอบการอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจจะเริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ วิธีปลูก การดูแลรักษา การจัดการ การดูแลหลังเก็บเกี่ยว จนถึงการส่งออก เรียกว่าเป็นองค์ความรู้ครบวงจร โดยหลังจากอบรม ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญฯซึ่งประกอบด้วย 18 สถาบันและมีผู้เชี่ยวชาญ39 คน พร้อมที่จะติดตามผล ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆตามหลักวิชาการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทัังมีสื่อโซเชี่ยลให้ติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ในตอนท้าย ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ กล่าวว่า เกษตรกรหน้าใหม่ที่สนใจจะผลิตทุเรียนเชิงพาณิชย์จะต้องเริ่มจากความตั้งใจจริง มีการดูแลทุกขั้นตอนในการปลูกทุเรียนตั้งแต่ต้น และลงมือทำ จุดเริ่มต้นที่ดีเป็นจุดสำคัญ และต้องดูแลใส่ใจ โดยเฉพาะขณะนี้สภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนเป็นปัญหาสำคัญของชาวสวนทุเรียน ส่วนเรื่องคู่แข่ง อย่างเวียดนามที่มีกระแสข่าวช่วงนี้ว่าจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดจีน ยืนยันได้เลยว่า เวียดนามไม่ใช่คู่แข่งของไทย ในฐานะที่เคยอยู่เมืองจีน และเป็นที่ปรึกษาให้ สำหรับจีนแล้วทุเรียนพรีเมียมคือทุเรียนไทยเท่านั้น ทุเรียนเวียดนาม คนจีนมองเป็นอันดับสอง ลู่ทางการส่งออกทุเรียนไทยจึงยังดีอยู่แน่นอน

ด้าน นายชินณกิต เขียวขำ อายุ 62 ปี เจ้าของไร่ลุงชิน ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ก่อนมาทำสวนทุเรียนเคยเป็นนายหน้าขายประกันชีวิตมาก่อน ส่วนการทำไร่ทำสวนเป็นอาชีพที่พ่อแม่ทำมา จนพ่อแบ่งที่ให้กับลูกๆคนละ 20 กว่าไร่ ตอนแรกลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน โดยทดลองปลูกทุเรียนเพื่อเป็นแนวที่ดิน ซึ่งรอดบ้างตายบ้างจนกระทั่งเหลือแค่ 2 ต้น พอได้กินลูกก็ถูกใจเพราะเราปลูกจนได้กินผลเอง ต่อมากระแสทุเรียนมาแรงสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ จึงเริ่มปลูกแบบจริงจังจนเต็มเนื้อที่ปัจจุบันมีประมาณ 300 ต้นส่วนใหญ่เป็นทุเรียนหมอนทอง นอกนั้นก็เฉลี่ยกันไปทั้งมูซังคิง หนามดำ พวงมณี และหลงลับแล ทราบเรื่องการอบรมจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนเรศวรเลยมาสมัคร เพราะก่อนหน้านี้ มักมีปัญหากับทุเรียนที่ปลูกคือยืนต้นตาย ติดดอกแต่ไม่ติดลูก
แล้วก็หนอนเจาะลำต้น วันนี้หลังเข้ารับการอบรมได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้มากมายเหมือนเปิดโลก จนคิดคงต้องค้นคว้าหาข้อมูล ลองผิดลองถูกอีกนานกว่าจะชำนาญ ขอบคุณโครงการดีดีที่จัดให้เกษตรกรในครั้งนี้และคิดว่าถ้ามีครั้งต่อไปก็จะเข้ามาร่วมแน่นอน พร้อมทั้งจะชักชวนเพื่อนฝูงที่อยู่ในกลุ่มปลูกทุเรียนด้วยกันมาเข้ารับการอบรมด้วย.
















กำลังโหลดความคิดเห็น