xs
xsm
sm
md
lg

Nova การระเบิดที่ผิวดาวฤกษ์เมื่อ 3,000 ปีก่อน ซึ่งเราจะได้เห็นก่อนเดือนกันยายนปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในอดีตเมื่อ 3,000 ปีก่อน มีดาวฤกษ์คู่หนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3,000 ปีแสง และอยู่ในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ Corona Borealis (Corona แปลว่า มงกุฎ และ Borealis แปลว่า ทิศเหนือ) ขณะนี้ดาวดวงหนึ่งในดาวคู่นั้น ได้เกิดการระเบิดที่ผิวอย่างรุนแรง จึงเปล่งแสงเป็นประกายจ้ามาสู่โลก โดยแสงมีกำหนดจะเดินทางถึงโลกก่อนเดือนกันยายนปีนี้ (ความไม่แน่นอนของเวลาที่แสงจะมาถึงโลก เกิดจากความไม่แน่นอนในการรู้ระยะทางที่ดาวอยู่ห่างจากโลก) และเมื่อแสงเดินทางถึงโลกแล้ว ผู้คนที่อยู่ทางซีกโลกตอนเหนือก็จะเห็นดาวด้วยตาเปล่า ที่เปล่งแสงทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเวลานานติดต่อกันนานประมาณหนึ่งสัปดาห์ และจากนั้นดาวก็จะค่อยๆ หรี่แสงลงจนจางหายไป เพื่อจะได้ระเบิดใหม่ ในอีก 80 ปีต่อมา


ดาวคู่นี้มีชื่อทางดาราศาสตร์ว่า T Coronae Borealis หรือ T CrB ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์สองดวง ดวงหนึ่งเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) และอีกดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์อีก 7 ดวง ซึ่งมีการเรียงตัวกัน จนมีลักษณะเหมือนมงกุฎกษัตริย์ ตามเทพนิยายกรีกที่ได้กล่าวถึงเทพ Hephaestus ว่า ทรงประทานมงกุฎให้แก่เจ้าหญิง Ariadne เป็นรางวัลตอบแทนคุณความดีของเจ้าหญิง ที่ทรงช่วยนำวีรบุรุษ Theseus ให้สามารถหลบหนีออกจากอุโมงค์วงกต (labyrinth) ที่วกวนได้ เพราะ Ariadne ได้มอบเส้นด้ายม้วนใหญ่ให้ Theseus เพื่อใช้นำทาง หลังจากที่ Theseus ได้สังหารมนุษย์วัว (Minotaur) แล้ว สำหรับดาวทั้ง 7 ดวง ที่อยู่เรียงรายกันนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนหนุ่ม-สาวพรหมจรรย์ 7 คู่ ที่ได้ตกเป็นเหยื่อของ Minotaur


แม้ดาว T CrB จะไม่สว่างจ้ามาก และเปล่งแสงไม่นานเหมือนดาว supernova ทั่วไปก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบน T CrB ก็กำลังเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกและประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องการจะเห็นปรากฏการณ์ดาวระเบิด ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย และต้องการจะเข้าใจสาเหตุ รวมทั้งวัฏจักรการระเบิด ตลอดจนถึงการได้เห็นชีวิตหลังการระเบิดของดาว รวมถึงเห็นการปลดปล่อยอนุภาคนิวตริโน และอนุภาคที่มีพลังงานสูงชนิดต่างๆ ด้วย ดังนั้นนักวิชาการจึงได้ระดมกันสังเกตเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb เป็นต้น


ความจริงการเกิดปรากฏการณ์ดาวระเบิดบนสวรรค์ ได้มีให้ชาวโลกเห็นอย่างประปรายเป็นจำนวนมากมายหลายครั้งแล้ว ดังที่มีบันทึกในประวัติดาราศาสตร์ว่าเหตุการณ์ที่เห็นทุกครั้งได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของมนุษย์ไปอย่างถาวร เช่น ในกรณีของดาว Tycho ซึ่งได้ระเบิดให้คนทั่วโลกได้เห็นเมื่อปี 1572


ชื่อ Tycho ตั้งตามชื่อของนักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Tycho Brahe (1546-1601) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งในเวลานั้นผู้คนมีความรู้ทางดาราศาสตร์น้อยมาก และทุกคนเชื่อตามคำสอนของ Aristotle ที่ได้แถลงว่า โลก คือ จุดศูนย์กลางของเอกภพ อันมีดาวทุกดวงโคจรเป็นวงกลมไปรอบโลก นอกจากนี้ Aristotle ก็ยังได้สอนอีกว่า สรรพสิ่งที่มีอยู่บนสวรรค์ เป็นผลงานของพระเจ้า ผู้ได้สร้างเอกภพอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือ หลังจากที่การสร้างได้สิ้นสุดลง เอกภพก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกเลย

แต่เมื่อ Tycho ได้เห็นดาว Tycho ระเบิด นั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เอกภพอยู่ในสภาพไม่เสถียร คือ บนสวรรค์มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีอะไรที่คงทนถาวร การค้นพบของ Tycho จึงล้มล้างคำสอนของ Aristotle อย่างสิ้นเชิง

นอกจากจะเป็นคนล้มกระดานความเชื่อที่ได้มีมาเป็นเวลานานร่วม 1,000 ปีแล้ว Tycho ก็ยังเป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีความสามารถสูงในการวัดตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะได้อย่างละเอียดด้วย (ทั้ง ๆ ที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใช้ เพราะในสมัยนั้น Galileo ยังไม่ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์) และข้อมูลที่แสดงตำแหน่งของดาวอังคาร ซึ่ง Tycho วัด ได้ถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการคำนวณให้ Johannes Kepler (1571-1630) สรุปออกมาเป็นกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ ตามสมมติฐานของ Nicolaus Copernicus (1473-1543) และกฎทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้ปูทางให้ Isaac Newton (1642–1727) พบกฎแรงโน้มถ่วง ซึ่ง Albert Einstein (1879-1955) ได้แสดงให้เห็นที่มาของกฎนี้ว่ามาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

ในด้านชีวประวัติส่วนตัว Tycho มีบิดาเป็นขุนนางชั้นสูง และมีมารดาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในราชสำนัก ครอบครัวจึงมีฐานะดีและมีที่พำนักอยู่ในปราสาทใหญ่ เมื่อแรกเกิด ลุงของ Tycho ได้ขโมยทารก Tycho เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม โดยได้สัญญากับพ่อแม่ของ Tycho ว่า จะให้การศึกษาเป็นอย่างดี บิดามารดาของ Tycho จึงอนุญาต

Tycho ได้สนใจดาราศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีอายุ 15 ปี ได้ออกจากบ้าน โดยบอกลุงว่า จะไปเรียนดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Copenhagen ข่าวนี้ทำให้ลุงและป้ารู้สึกตกใจมาก จึงกล่าวห้าม พร้อมบอก Tycho ว่า บรรพบุรุษของวงศ์ตระกูลล้วนเป็นขุนนางชั้นสูง ดังนั้น Tycho จะต้องเรียนกฎหมายและรัฐศาสตร์เท่านั้น และต้องเรียนที่มหาวิทยาลัย Leipzig ในเยอรมนี แม้ Tycho จะรู้สึกเสียใจมาก แต่ก็ต้องยินยอม


ขณะอยู่ที่ Leipzig Tycho ได้แอบซื้อตำราดาราศาสตร์มาอ่านเอง จนกระทั่งอายุ 19 ปี เมื่อลุงเสียชีวิต Tycho จึงเปลี่ยนไปเรียนดาราศาสตร์ตามที่ตนชอบ จนเรียนจบ และเริ่มสร้างผลงานสำคัญๆ เช่น ได้แก้ไขข้อมูลที่มีอยู่ในตำรา Almagest ของ Ptolemy และสร้างอุปกรณ์สอนดาราศาสตร์ คือ armillary sphere ซึ่งเป็นทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 3 เมตร แสดงวงโคจรของดาวต่าง ๆ เป็นวงกลมหลายวง โดยมีโลกอยู่ที่จุดศูนย์กลาง

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1572 Tycho ได้เห็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ดวงหนึ่ง ปรากฎตัวอย่างกระทันหันอยู่ในกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ดาวฤกษ์ดวงใหม่นี้ ไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดเคยบันทึกว่าได้เห็นมาก่อน แต่สุกใสและสว่างยิ่งกว่าดาวศุกร์เสียอีก ได้ปรากฏให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เห็นนานเป็นปีจนถึงเดือนมีนาคม ปี 1574 แล้วแสงดาวก็ได้เลือนหายไป


นี่เป็นเหตุการณ์บนสวรรค์ที่ Aristotle ไม่เคยคิดว่าจะมี การค้นพบดาว Tycho ได้ทำให้ Tycho วัย 27 ปี เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุโรป ผลที่ตามมา คือ กษัตริย์ Frederick ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงโปรดให้ Tycho ดำรงตำแหน่งท่าน Lord และทรงจัดสร้างหอดูดาวให้ Tycho ทำงาน บนเกาะ Hven ซึ่ง ณ เวลานั้นหอสังเกตการณ์ Uraniborg เป็นหอดูดาวที่ทันสมัยที่สุดในโลก

ครั้นเมื่อกษัตริย์ Frederick ที่ 2 สวรรคต และ Tycho มิได้เป็นนักดาราศาสตร์ที่กษัตริย์องค์ใหม่ทรงโปรดปราน Tycho จึงอพยพไปทำงานถวายกษัตริย์ Rudolf ที่ 2 แห่งเชโกสโลวาเกีย ในตำแหน่งนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนักแทน และได้เรียบเรียงตำราดาราศาสตร์ชื่อ Rudolphine ที่ 2 ถวาย ตำราได้รับการจัดพิมพ์ในปี 1627 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ Tycho ได้สิ้นชีวิตในปี 1601 ถึง 26 ปี


ดาว Tycho มิได้เป็นดาวดวงแรกที่ได้ระเบิดให้มนุษย์เห็น เพราะในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 1054 นักดาราศาสตร์จีนและญี่ปุ่นได้บันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เห็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) ระเบิด และซากที่หลงเหลือจากการระเบิด คือ เนบิวลาปู (Crab Nebula)

การศึกษาข้อมูลในซากแสดงให้เห็นว่า ที่ใจกลางมีดาวนิวตรอนซึ่งมีมวลตั้งแต่ 1.4 ถึง 2 เท่า ของดวงอาทิตย์ กำลังหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 30 รอบ/วินาที และพลังงานที่ดาวสูญเสียจากการแผ่รังสี ได้ทำให้มันหมุนรอบตัวเองช้าลงวันละ 38 นาโนวินาที (38*10^(-9) วินาที)


สำหรับชื่อเนบิวลาปูนั้น เป็นชื่อของปูยักษ์ในเทพนิยายกรีกที่กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างเทพ Hercules กับสัตว์อสูร Hydra ที่มีหลายหัว และเมื่อหัวหนึ่งของมันถูกตัดขาด จะมีสองหัวใหม่เกิดขึ้นในทันที ครั้นเมื่อปูยักษ์เห็น Hercules กำลังจะสังหาร Hydra ปูยักษ์ได้พุ่งตัวเข้ากัดเท้าของ Hercules ความกล้าหาญเช่นนี้ ได้ทำให้เทพธิดา Hera ซึ่งเป็นพระมเหสีในเทพ Zeus ทรงชื่นชมมาก จึงประทานที่ประทับบนท้องฟ้าให้ปูอยู่อย่างถาวร

การติดตามดูดาวนิวตรอนซึ่งเกิดขึ้นที่ใจกลางเนบิวลาปู ณ วันนี้ แสดงให้เห็นว่ามีอนุภาค neutrino พลังงานสูงหลั่งไหลออกมาจากดาวนิวตรอน พร้อมรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาที่มีความยาวคลื่นสั้นมาก การหมุนรอบตัวเองที่เร็วมาก ได้ทำให้แสงที่ออกมาจากดาวนิวตรอนปรากฏเป็นลำแสงเหมือนแสงจากประภาคารกวาดไปทั่วท้องฟ้า และทุกครั้งที่โลกได้รับแสงนั้น คนบนโลกก็จะเห็นแสงปรากฏเป็นห้วง ๆ (pulse) ดาวจึงมีชื่อเฉพาะว่า pulsar


นักดาราศาสตร์ภาคทฤษฎีได้สร้างแบบจำลอง เพื่ออธิบายการระเบิดของดาว supernova ว่า ต้นกำเนิดของดาวนิวตรอนดวงนั้นเป็นดาวฤกษ์ที่มีมวลประมาณ 10 เท่าของดวงอาทิตย์ ครั้นเมื่อดาวฤกษ์ได้ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีในตัวมัน โดยกระบวนการ fusion จนหมดสิ้นแล้ว เนื้อดาวได้ยุบตัวลง โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง การยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อดาวพุ่งชนแก่นดาวที่เป็นเหล็ก ซึ่งเป็นธาตุหนัก แล้วกระดอนออก คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นได้ขับเนื้อดาวที่เหลือให้พุ่งหนีจากดาวด้วยความเร็วประมาณ 1% ของความเร็วแสง แม้การติดตามดูลักษณะการหมุนของดาว pulsar ในเนบิวลาปูได้มีมาตั้งแต่ปี 1968 แต่โลกดาราศาสตร์ก็มีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า พลังงานจลน์ที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของ pulsar สามารถเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแสงได้อย่างไร และพลังงานของอนุภาคที่ถูกขับออกมาจาก pulsar ซึ่งมีค่ามากประมาณ 100 TeV (10^14 eV) สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร

การระเบิดของดาวฤกษ์ จึงสามารถแบ่งอย่างหยาบ ๆ ออกได้เป็นสองรูปแบบ คือ แบบ supernova กับแบบ nova โดย supernova นั้น จะเกิดขึ้น เวลาอายุขัยของดาวถึงจุดสิ้นสุด และมักจะเกิดกับดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 8 เท่าขึ้นไป และจะเกิดการระเบิดที่รุนแรงมาก ซึ่งถ้าดาวนั้นระเบิดใกล้โลก พลังงานของรังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และอนุภาคที่มีพลังงานสูงมาก จะสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งโลกสูญพันธุ์ได้

สถิติการพบ supernova คือ นักดาราศาสตร์ได้พบเป็นจำนวนนับร้อยทุกปี (เช่น ในปี 2007 ได้พบ 572 ดวง ปี 2013 พบ 231 ดวง ปัจจุบันทั้งหมดมีพบมากกว่า 20,000 ดวงแล้ว)

ส่วน nova เป็นการระเบิดที่ผิวดาว (มิใช่ทั้งดวง) ดังนั้นการระเบิดจึงรุนแรงน้อยกว่า supernova มาก กรณีการระเบิดของ T CrB ที่โลกจะเห็นนี้ เป็นการระเบิดแบบ nova


ในการอธิบายสาเหตุที่ทำให้ดาวระเบิดนั้น นักดาราศาสตร์ทฤษฎีได้คำนวณโดยใช้ supercomputer จำลองสถานการณ์ ซึ่งต้องใช้ความรู้หลายสาขาทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ดาราศาสตร์ กลศาสตร์ควอนตัม magnetohydrodynamics (MHD) และ thermodynamics เพื่อจะได้รู้กลไกที่ทำให้ปฏิกิริยา fusion เกิด โดยการเปลี่ยน hydrogen เป็น helium แล้ว helium รวมตัวกันเป็น carbon เป็น oxygen ไปเรื่อยจนกระทั่งเป็น iron จากนั้นเหตุการณ์อะไรที่จะเกิดต่อไป ก็ขึ้นกับมวลของดาวฤกษ์และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นการระเบิดของ supernova จึงอาจมีได้หลากหลายรูปแบบ


เราคงอาจจะคิดง่ายๆ ว่า ดาวที่มีมวลมากจะทำให้เกิด supernova ที่รุนแรงมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว การคิดเช่นนี้ผิด เพราะดาวที่มีมวลตั้งแต่ 20 ถึง 25 เท่าของดวงอาทิตย์ขึ้นไป ที่แก่นกลางอันเป็นเหล็ก มักมีชั้นของ oxygen และ silicon ห่อหุ้ม ดังนั้นเวลาระเบิดชั้นที่เป็น oxygen และ silicon ยุบตัวลง มันจะรวมกัน แทนที่จะระเบิดออก ดาวก็จะกลายเป็นหลุมดำ

สำหรับดาว supernova ชนิด 1a ที่จะระเบิด โดยให้ความสว่างอย่างคงตัวทุกครั้งไป ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงใช้ supernova ชนิด 1a เป็นเทียนมาตรฐานในการวัดระยะทางที่มันอยู่ห่างจากโลก

ในช่วงเวลาสามเดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามดูดาวฤกษ์ดวงใหม่ ซึ่งจะปรากฏตัวในท้องฟ้า อันเป็นเหตุการณ์ที่นาน ๆ จะได้เห็นครั้งหนึ่ง ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง โดยดาว nova ที่จะระเบิดนี้ จะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) เป็นดาว T CrB และเป็นเพียง nova ที่เกิดจากการระเบิดที่ผิวของดาวแคระขาวอย่างทันทีทันใด โดยใช้เวลาไม่นานและดาวแคระขาวก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ผิวดาวจะขับมวลสารออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งในกรณีนี้ คือ ในทุก 80 ปี จึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย นอกจากเหตุผลนี้แล้ว ความน่าสนใจก็ยังมีอีกว่า ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดบนดาวที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่ดูหรือไม่ได้ดูเหตุการณ์ ก็จะไม่รู้ว่าเราจะสนใจดาราศาสตร์ไปเพื่ออะไร

ดาวคู่ T Coronae Borealis ประกอบด้วยดาวแคระขาวที่ “ดับ” แล้ว กับดาวยักษ์แดงที่มีอายุมาก เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา และเป็นดาวที่ได้ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในตัวไปจนหมดสิ้นแล้ว โดยดาวจะดับขันธ์ในอีก 5,000 ล้านปี เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งก็กำลังจะกลายเป็นดาวยักษ์แดง ปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้ทำให้ผิวดาวยักษ์แดงขยายตัว ดาวจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ สารที่ผิวดาวจึงถูกดึงดูดสู่ดาวแคระขาวที่โคจรอยู่ใกล้ๆ ที่ระยะห่าง 0.54 AU คือประมาณ 4นาทีแสง

ในทุก 80 ปี ดาวคู่ T Coronae Borealis จะเกิดเหตุการณ์ผิวดาวระเบิด เพราะดาวทั้งคู่โคจรอยู่ใกล้กันมาก จึงมีอันตรกิริยาโน้มถ่วงอย่างรุนแรงกระทำต่อกัน ทำให้ดาวยักษ์แดงมีเสถียรภาพน้อยลงๆ การปลดปล่อยสารที่ผิวดาวให้หลั่งไหลสู่ดาวแคระขาว ทำให้อุณหภูมิของแก๊สเหนือดาวแคระขาวจึงเพิ่มขึ้นๆ โดยปฏิกิริยา fusionจนกระทั่งสูงเป็นล้านองศาที่ไม่มีอะไรหยุดยั้งมันได้อีกแล้ว ผิวดาวก็ระเบิดเป็นดาว nova

ในอดีตเมื่อปี 1217 บาทหลวง Burchard แห่งเมือง Ursberg ในเยอรมนี ได้เคยบันทึกการเห็นเหตุการณ์นี้ และประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าการระเบิดครั้งสุดท้ายของ T CrB ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ดังนั้นปี 2024 จึงเป็นเวลาที่ T CrB ใกล้จะระเบิดอีกครั้งหนึ่ง


เพราะการระเบิดจะเกิดอย่างไม่มีการเตือนใดๆ การเฝ้าดูมันตลอดเวลา ได้แสดงว่า ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ดาวได้ลดความสว่างลง แล้วกำลังเพิ่มความสว่างมากขึ้น ๆ อย่างไร้การควบคุม การมีความรู้ที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของดาว ทำให้การพยากรณ์เวลาที่มันจะระเบิด เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนตามไปด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่มันระเบิด ความสว่างของมันจะเปรียบเทียบได้กับดาวเหนือ (Polaris) เป็นการถือกำเนิดของดาวดวงใหม่ ที่จะสว่างสุกใสนาน เป็นเวลานาน 3 ถึง 7 วัน ให้คนสามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ และอาจจะเห็นนานเป็นสัปดาห์ก็ได้ถ้าใช้กล้องสองตา (binocular) ส่องดู ก่อนที่มันจะ “หาย” ไปนานถึง 80 ปี จึงจะปรากฏตัวให้เราเห็นอีก

ดังนั้นคนที่จะเห็นเหตุการณ์นี้และอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ ก็ต้องหาดาว Arcturus กับดาว Vega ให้พบก่อน แล้วดาว T CrB ก็จะอยู่บนเส้นตรงที่ลากต่อระหว่างดาวฤกษ์ทั้งสองดวง และทันทีที่มีคนเห็นการระเบิดของดาว nova ผู้คนใน social media ทั่วโลกก็จะส่งสัญญาณให้คนทั้งโลกรู้ เพราะตามปกติเหตุการณ์ nova มักจะเกิด ณ ที่ ๆ อยู่ไกลจากโลกมาก การเห็นเหตุการณ์จึงมักไม่ชัด แต่คราวนี้เหตุการณ์ nova ระเบิดจะเกิดที่บริเวณใกล้โลกมาก ความรู้ที่ได้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการถ่ายเทมวลระหว่างดาวว่า สามารถทำให้ดาวระเบิดได้อย่างไร

ปัญหาที่ยังค้างคาใจทุกคน คือ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ภายในเดือนกันยายนนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อใครอีก แต่ที่เชื่อแน่ ๆ ก็คือ นักดาราศาสตร์หลายคนจะติดตามดูดาว T CrB ต่อไปอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติมจาก
Morozova, Viktoriya; Radice, David; Burrows, Adam; Vartanyan, David (2018). "The Gravitational Wave Signal from Core-collapse Supernovae". The Astrophysical Journal. 861 (1): 10. arXiv:1801.01914. Bibcode:2018ApJ...861...10M. doi:10.3847/1538-4357/aac5f1. S2CID 118997362.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น