xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวง อว. โดย สวทช. รับมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เพื่อวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย หนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวง อว. โดย สวทช. รับมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เพื่อวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย หนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก “สุชาดา” เลขา รมว.อว. ชี้ความร่วมมือนี้คือก้าวสำคัญในการยกระดับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของไทย

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมพิธีส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Cellblocks) พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามต่อสัญญาว่าจ้างการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส - เบนซ์ และเยี่ยมชมโรงงาน โดยมี นายมาร์ติน ชเวงค์ ประธานบริหารบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด นายมาร์ค เบอร์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด นายรัฐพล วิริยะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด นายศิวัต จรัณยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วม ณ โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ และโรงงานธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ เเมนูเฟคเจอริ่ง จังหวัดสมุทรปราการ

น.ส.สุชาดา กล่าวว่า พิธีส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Cellblocks) และการลงนามต่อสัญญาว่าจ้างการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส - เบนซ์ เป็นการตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของความร่วมมือและศักยภาพอันไร้ขอบเขตของนวัตกรรมในประเทศไทย เป็นก้าวสำคัญในการเดินทางร่วมกันเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการวิจัยต่อยอดจาก สวทช. ซึ่งปัจจุบันเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถูกเลือกมาเป็นแกนพลังงานหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจึงใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยลง สามารถประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น มีอายุการใช้งานนาน ทั้งยังมีประสิทธิภาพในเรื่องของการชาร์จที่สูงกว่า และใช้งานได้นาน สามารถให้พลังงานสูง คงที่ และชาร์จได้เร็ว ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นเซลล์แห้ง ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ จึงสามารถรับประกันเรื่องของความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่โลกเราต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน การเลือกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาเป็นแกนพลังงานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านับได้ว่าเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์สำหรับโลกใบนี้ด้วย

“เซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไม่ได้เป็นเพียงส่วนประกอบของอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นรากฐานสำคัญในการวิจัยในอนาคต เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าสูง ตอบโจทย์ภารกิจหลักของกระทรวง อว. ที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งทางชีวภาพ การศึกษา อุตสาหกรรม และนวัตกรรม เพื่อให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม ความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างก้าวกระโดด ทัดเทียมกับนานาประเทศทั่วโลกได้” น.ส.สุชาดา กล่าว

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวง อว. โดย สวทช. มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน หรือ ESS (Energy Storage System) จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ร่วมกับ บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสร้างศูนย์ออกแบบและการทดสอบแหล่งเก็บกักพลังงานจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดย สวทช. มีความมุ่งมั่น และเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) อีกทั้งความร่วมมือในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยานยนต์ระดับโลก ที่สามารถส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัยของยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยโมดูลแบตเตอรี่ที่ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ส่งมอบให้ สวทช. นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อนักวิจัยของเรา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนต่อสังคมไทย ได้อย่างแน่นอน


















กำลังโหลดความคิดเห็น