xs
xsm
sm
md
lg

สองศตวรรษแห่งชาตกาลของ Lord Kelvin กับการคำนวณอายุดวงอาทิตย์และโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ William Thomson (1824-1907) เป็นนักฟิสิกส์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในอังกฤษ จากการสร้างผลงานสำคัญด้านความร้อนและไฟฟ้า จนทำให้ได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น Lord Kelvin สำหรับชื่อ Kelvin นั้น เป็นชื่อของแม่น้ำที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัย Glasgow ในสก็อตแลนด์ อันเป็นสถานที่ Thomson ทำงานวิจัยประจำ


โลกวิทยาศาสตร์ปัจจุบันใช้ชื่อ Kelvin เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิสัมบูรณ์

William Thomson เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1824 ที่เมือง Belfast ใน Ireland บิดาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ที่สถาบัน Royal Belfast Academical Institution จึงได้สอนคณิตศาสตร์ให้ลูกชายที่บ้าน


เมื่อบิดาได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Glasgow ลูกชาย Thomson จึงได้เข้าเรียนฟิสิกส์ที่นั่น ครั้นเมื่อ Thomson ได้อ่านตำรากลศาสตร์ ที่ Pierre Simon de Laplace (1749–1827) แต่ง และตำราความร้อนที่ Jean Baptiste Joseph Fourier (1768-1830) เขียน Thomson รู้สึกตื่นเต้นที่รู้ว่าหลักการทางคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางกลศาสตร์และความร้อนได้ จึงเปลี่ยนความสนใจจากฟิสิกส์ไปเป็นคณิตศาสตร์ เพื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ

ขณะเรียนที่นั่น Thomson ได้รับรางวัลเรียนดี (Smith Prize) และเป็นนิสิตที่เก่งมาก จนอาจารย์ต้องระมัดระวังเวลาสอนหนังสือ เพราะถ้า Thomson เห็นว่าอาจารย์สอนผิด ก็จะติงทันที ในขณะที่เป็นนิสิตระดับปริญญาตรี Thomson ก็ยังมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ถึง 10 เรื่อง

เมื่อสำเร็จการศึกษา Thomson ได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อทำงานวิจัยคณิตศาสตร์ร่วมกับ Joseph-Louis Lagrange (1736-1813), Augustin Louis Cauchy (1789-1857) และ Jean-Baptiste Biot (1774-1862) ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ขณะทำงานวิจัยที่นั่น Thomson ได้พบวิธีใช้ภาพ (method of images) ของประจุไฟฟ้าในตัวนำ เพื่อใช้แก้ปัญหาเรื่องศักย์ไฟฟ้า นอกจากนี้ก็ยังสนใจทฤษฎีการนำความร้อนในของแข็งที่มีความหนาแน่นสม่ำเสมอด้วย

ผลงานเหล่านี้ทำให้ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Glasgow เมื่อมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้นเอง และได้ทำงานที่นั่นจนเกษียณอายุ แม้มหาวิทยาลัย Cambridge จะเสนอตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการ Cavendish ถึงสามครั้งก็ตาม แต่ Thomson ก็ได้ปฏิเสธทุกครั้งไป


เมื่ออายุ 23 ปี Thomson ได้เข้าฟังการให้สัมมนาโดย James Prescott Joule (1818–1889) ซึ่งได้เสนอความคิดว่า นอกจากพลังงานจลน์และพลังงานศักย์แล้ว ธรรมชาติก็ยังมีความร้อนเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งด้วย Thomson รู้สึกยินดีที่ Joule ได้เปิดโลกทัศน์ของตนให้กว้างขึ้น จึงขอสมัครเป็นผู้ช่วยของ Joule ในห้องปฏิบัติการ และผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันในครั้งนั้น คือ การได้พบปรากฏการณ์ Joule–Thomson (Joule–Thomson effect) ที่มีใจความว่า อุณหภูมิของแก๊สจะลด เวลาปล่อยให้แก๊สขยายตัวในสุญญากาศ นี่จึงเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการทำให้แก๊สเป็นของเหลว

การมีผลงานที่สำคัญมากเช่นนี้ ทำให้ Thomson ในวัย 27 ปี ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society (F.R.S.) Thomson จึงเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติของสมาคมที่ทรงเกียรตินี้


อีกสามปีต่อมา Thomson กับ Rudolf Clausius (1822-1888) ได้ตั้งกฎข้อที่สองของวิชาความร้อนขึ้น ซึ่งมีใจความว่า การทำให้ความร้อนเคลื่อนที่จากระบบที่มีอุณหภูมิต่ำไปสู่ระบบที่มีอุณหภูมิสูง จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีตัวช่วย คือ งาน

จากนั้น Thomson ก็เริ่มสนใจและต้องการจะรู้อายุของโลกกับดวงอาทิตย์ ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นเรื่องที่เกิดมาตั้งแต่สมัยที่ตนยังเป็นเด็ก เหมือนคนทั่วไปในสมัยนั้นที่ต้องการจะรู้ว่าพระเจ้าสร้างโลกตั้งแต่เมื่อใด

Isaac Newton (1642-1727) นับเป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้เสนอวิธีคิดสำหรับเรื่องนี้ โดยได้ใช้จินตนาการว่า เมื่อโลกถือกำเนิดใหม่ ๆ โลกอยู่ในลักษณะก้อนเหล็กเหลว และจะใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี จึงจะเย็นตัวลง จนกระทั่งมีอุณหภูมิเท่าที่เห็น โดย Newton ได้ใช้แบบจำลองว่า โลกเย็นตัวลง โดยการแผ่รังสีความร้อนออกทางผิวโลก ตามกฎการเย็นตัวของ Newton

ในการคำนวณครั้งนั้น Newton ได้ตั้งสมมติฐานว่า ปริมาณความร้อนที่มีในโลก แปรโดยตรงกับปริมาตรของโลก และโลกสูญเสียความร้อนทางผิว โดยอัตราการเย็นตัวของโลก แปรตามผลต่างระหว่างอุณหภูมิของโลกกับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะที่อุณหภูมิสูงมาก ๆ กฎการเย็นตัวของ Newton ใช้ไม่ได้ ดังนั้นอายุโลกที่ Newton คำนวณได้จึงผิด

Count de Buffon (1707-1788) เป็นนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญคนหนึ่งของโลก และมีฐานะร่ำรวย คือ เป็นเจ้าของโรงงานหล่อเหล็ก de Buffon ได้ให้โรงงานสร้างลูกกลมเหล็กที่มีหลายขนาด แล้วทำให้ลูกกลมเหล็กร้อน เพื่อทดลองวัดอัตราการเย็นตัว และพบว่าถ้าให้ลูกกลมเหล็กมีขนาดใหญ่เท่าโลก โลกจะมีอายุ 96,670 ปี


วันเวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงยุคของ Hermann von Helmholtz (1821-1894) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่พบกฎทรงพลังงาน ในปี 1854 von Helmholtz ได้สันนิษฐานว่า การยุบตัวภายใต้แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ จะทำให้มีการปลดปล่อยพลังงานศักย์โน้มถ่วงออกมาประมาณ 2.3*10^(41) จูลน์ ซึ่งมีผลทำให้รัศมีดวงอาทิตย์หดตัว ประมาณปีละ 80 เมตร และถ้าให้สัมประสิทธิ์ความจุความร้อน (heat capacity) ของดวงอาทิตย์และน้ำมีค่าเท่ากัน ดวงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิ 28.6 ล้านองศาเซลเซียส และที่แก่นกลางของดวงอาทิตย์มีความดัน 1.3*10^(14) นิวตัน/ตารางเมตร ผลคำนวณนี้ชี้นำว่า ดวงอาทิตย์มีอายุ 20 ล้านปี

ในปี 1861 Kelvin ได้เสนอวิธีคำนวณอายุของดวงอาทิตย์ใหม่ โดยการพิจารณาว่าดวงอาทิตย์ได้พลังงานจากการถูกถล่มด้วยพายุอุกกาบาต ซึ่งในกรณีอุกกาบาตที่มีมวล 1 กิโลกรัม และมีความเร็ว 624 กิโลเมตร/วินาที มันจะมีพลังงานจลน์ 2*10^(11) จูล จากตัวเลขเหล่านี้ Kelvin ได้พบว่าดวงอาทิตย์มีอายุอย่างน้อย 60 ล้านปี

แนวคิดนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าดวงอาทิตย์ถูกพายุอุกกาบาตถล่มจริง มวลของดวงอาทิตย์ก็จะต้องเพิ่ม ซึ่งจะมีผลทำให้คาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นานขึ้น แต่ความจริงมีว่า เวลา 1 ปี ไม่ได้นานขึ้นเลย


ดังนั้น Kelvin จึงหันกลับไปเชื่อความคิดของ von Helmholtz เกี่ยวกับเรื่องอายุของดวงอาทิตย์ แล้วได้หันมาสนใจคำนวณอายุของโลกในเวลาต่อมา โดยสร้างแบบจำลองขึ้นมาว่า ความร้อนใต้โลกเกิดจากพลังงานศักย์โน้มถ่วง และอุณหภูมิที่ผิวโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากตลอดเวลา 50,000 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เนื้อดินและหินใต้โลกก็เป็นของแข็งโดยตลอดด้วย ดังนั้นการถ่ายเทความร้อนจึงเกิดขึ้นโดยกระบวนการนำความร้อน (conduction) เท่านั้น คือ ไม่ได้ใช้กระบวนการพา (convection) และกระบวนการแผ่รังสี (radiation) เลย และเมื่อ Kelvin รู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ที่ยิ่งลึก อุณหภูมิก็จะยิ่งสูง คือ เมื่อระยะลึกเพิ่มขึ้น 1 กิโลเมตร อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้น 36 องศาเซลเซียส

การใช้แบบจำลองนี้ทำให้ Kelvin พบว่า โลกมีอายุประมาณ 100 ล้านปี ในขณะที่ดวงอาทิตย์มีอายุ 60 ล้านปี โลกจึงมีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหล ความแตกตื่นจึงเกิดขึ้นในวงการฟิสิกส์ และปัญหานี้ได้ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านปัญญาอย่างรุนแรง

จนกระทั่งปี 1890 John Perry (1850–1920) นักคณิตศาสตร์และวิศวกรชาวไอริช ซึ่งเป็นศิษย์ของ Kelvin ได้เสนอแนะว่า สสารที่อยู่ใต้โลกมีความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นกระบวนการถ่ายเทความร้อน โดยวิธีการพาและการแผ่รังสีก็มีความสำคัญมากด้วย ข้อเสนอนี้ได้ทำให้โลกมีอายุเพิ่มเป็น 1,000 ล้านปี


ในปี 1903 George Darwin (1845-1912) ซึ่งเป็นลูกชายของ Charles Darwin (1809-1882) ได้กล่าวถึงการค้นพบของ Antoine Henri Becquerel (1852-1908) กับ Ernest Rutherford (1871-1937) ว่า radium 1 กรัม สามารถให้พลังงานได้มากถึง 10^9 แคลอรี/ชั่วโมง

ด้าน Robert John Strutt หรือ Lord Rayleigh (1875–1947) ก็ได้กล่าวถึงการค้นพบธาตุ helium ว่ามีพบบนดวงอาทิตย์

ทุกคนจึงสงสัยว่า helium ที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 Hans Bethe (1906-2005) ก็มีคำตอบ คือ มาจากการรวมตัวของ hydrogen ในปฏิกิริยา fusion ตามทฤษฎีของ Hans Bethe ปัญหาที่มาของพลังงานจากดวงอาทิตย์จึงยุติ

ณ วันนี้ เรารู้ว่าโลกมีอายุประมาณ 4,543 ล้านปี และดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 4,603 ล้านปี


ผลงานที่สำคัญของ Thomson ยังมีอีกมากมาย เช่น คิดหาวิธีวัดขนาดของอะตอมประดิษฐ์ galvanometer แบบที่ใช้กระจกสะท้อนแสง จัดตั้งสำนักงานให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่บริษัทเอกชนที่มีปัญหาวิทยาศาสตร์ รับผิดชอบการเป็นผู้อำนวยการโครงการวางสายเคเบิลโทรศัพท์ข้ามมหาสมุทร Atlantic จากอังกฤษถึงแคนาดา


ผลงานเหล่านี้มีคุณค่าต่อประเทศชาติมาก จึงได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง Sir เมื่อมีอายุเพียง 42 ปี

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาที่โลกฟิสิกส์กำลังมีการปฏิวัติครั้งมโหฬาร เช่น ในปี 1865 James Clerk Maxwell (1831-1879) ได้รวบรวมและสังเคราะห์ทฤษฎีไฟฟ้า แม่เหล็กกับแสง ให้เป็นทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าหนึ่งเดียว ซึ่งสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์แม่เหล็กไฟฟ้าและแสงได้จากสมการอนุพันธ์ (differential equations) สี่ สมการ ทำให้ได้พบว่า แสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง

การอธิบายฟิสิกส์ด้วยคณิตศาสตร์ทำนองนี้ เป็นวิธีที่ Thomson ไม่พอใจนัก เพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีใช้คณิตศาสตร์ที่มีความเป็นนามธรรมมากมาอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีรูปธรรมมากจนเกินไป

ในปี 1896 Henri Becquerel (1852-1908) ได้พบปรากฏการณ์กัมมันตรังสีตามธรรมชาติ จากการที่เกลือของ uranium สามารถเปล่งรังสี (alpha, beta และ gamma) ออกมาได้ ซึ่งธรรมชาติที่แท้จริงของรังสีเหล่านี้แตกต่างจากรังสีเอกซ์ที่ Wilhelm Conrad Röntgen (1845-1923) พบ และ ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ยูเรเนียมแผ่รังสี ด้าน Ernest Rutherford ได้อธิบายว่า กัมมันตรังสีเกิดจากการสลายตัวของอะตอม แต่ Thomson ไม่ยอมรับเรื่องนี้ เพราะยึดมั่นว่า อะตอมจะแบ่งแยกหรือแตกตัวไม่ได้ และ Thomson ก็ได้เสนอแนะว่า แหล่งกำเนิดกัมมันตรังสี คือ ether ที่มีแฝงอยู่ทั่วไปในเอกภพ

การรู้ผิดบ่อยและการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับความคิดของนักฟิสิกส์ที่มีอาวุโสน้อยกว่า แต่มีความคิดก้าวไกลมากกว่า ได้ทำให้ Thomson เป็นสิงห์เฒ่าที่ใครๆ ก็เอือมระอา

เมื่ออายุได้ 68 ปี Thomson ได้รับโปรดเกล้าให้เป็น Baron Kelvin of Largs เขาจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของอังกฤษที่ได้ครองตำแหน่ง Lord มิใช่เพราะมีผลงานที่โดดเด่นทางฟิสิกส์ แต่เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีในการชักจูงชาวสก็อตให้ต่อต้านการปกครองตนเองของชาวไอริช


ในปี 1895 Kelvin วัย 71 ปีได้พยากรณ์ว่า มนุษย์ไม่สามารถสร้างเครื่องบินได้ แต่อีก 8 ปีต่อมา Orville Wright (1871-1948) กับ Wilbur Wright (1867–1912) ก็ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องบินที่บินได้ แม้จะหนักกว่าอากาศก็ตาม และได้บินเป็นครั้งแรกที่ชายหาด Kitty Hawk ในรัฐ North Carolina สหรัฐฯ เป็นเวลานาน 12 วินาที และบินไปได้ไกล 36 เมตร


นอกจากจะทำนายผิดพลาดเรื่องความสามารถในการบินของมนุษย์แล้ว Kelvin ก็ยังเคยกล่าวโจมตีเทคโนโลยีวิทยุ ที่ Guglielmo Marconi (1874-1937) ประดิษฐ์ว่า วิทยุจะไม่มีบทบาทใด ๆ ในสังคมสารสนเทศของมนุษย์เลยด้วย

ในด้านชีวิตครอบครัว Kelvin เคยหลงรัก Sabina Smith และได้ขอเธอแต่งงานถึงสามครั้ง และถูกปฏิเสธทุกครั้ง เมื่อ Kelvin มีชื่อเสียง Smith ได้กล่าวว่ารู้สึกเสียใจที่มิได้ยืนเคียงข้างนักฟิสิกส์คนดังของโลก แม้จะมิได้สมรสกับ Smith แต่ Kelvin ก็ได้เข้าพิธีแต่งงานถึงสองครั้ง กระนั้นก็ไม่มีทายาทสืบสกุล


Lord Kelvin เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ปี 1907 สิริอายุ 83 ปี ศพถูกนำไปฝังในมหาวิหาร Westminster ใกล้ๆ ที่ฝังศพของ Isaac Newton
วิธีคิดที่สำคัญของ Kelvin มีมากมายหลายประเด็น เช่น Kelvin เชื่อว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ทดลองวัดค่าอะไรออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ สิ่งที่ศึกษานั้นมิใช่วิทยาศาสตร์ และระบบใดก็ตาม ถ้ามีแบบจำลองที่มีภาพในจินตนาการเสริมด้วย คนที่ศึกษาระบบนั้นก็จะเข้าใจดีขึ้น การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจจะนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปสร้างเทคโนโลยี เพื่อทำธุรกิจด้านประดิษฐ์อุปกรณ์วิทยาศาสตร์จนรุ่งเรือง ได้ทำให้ Kelvin มีฐานะร่ำรวย และได้กลายเป็นเซเลบของสังคม โดยข่าวของ Kelvin จะได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The New York Times เป็นประจำ และเวลา Kelvin ให้สัมภาษณ์สื่อ เขามักจะให้โอกาสสื่อสามารถถามคำถามได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือการเมือง ฯลฯ แล้ว Kelvin ก็จะให้ความเห็นอย่างละเอียด การพูดจาเปิดเผยเช่นนี้ ทำให้ Kelvin เป็นขวัญใจของสื่อมวลชน และเป็นนักวิทยาศาสตร์คนที่ประชาชนรู้จักดีที่สุดคนหนึ่ง

สำหรับบทบาทด้านการเป็นครูนั้น Kelvin ได้เขียนตำราฟิสิกส์หลายแขนง และหนังสือขายดี จนกลายเป็นตำราคลาสสิกที่นักศึกษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ใช้เรียนกันเป็นเวลานานร่วม 20 ปี และในบทบาทที่ Kelvin ต่อต้านทฤษฎีควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และทฤษฎีอะตอมนั้น Joseph Larmor (1857-1942) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการพบว่าอิเล็กตรอนที่ถูกเร่งจะแผ่รังสี ได้ให้ความเห็นว่า สาเหตุคงเกิดจากการที่ Kelvin สนใจเทคโนโลยีมากจนเกินไป และมุ่งจะหาแต่เงิน จนไม่มีเวลาจะเปิดใจรับความรู้ใหม่ ๆ การทุ่มเทชีวิตไปทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฟิสิกส์ ได้ทำให้สมองของ Kelvin ตกกระแสที่จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในทำนองเดียวกับ Albert Einstein (1879-1955) แต่โลกก็ไม่ได้ปรักปรำ Einstein เพราะ Einstein ได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับเทพ เช่น สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งพิเศษและทั่วไป แต่ Kelvin สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับธรรมดา Kelvin จึงถูกติติง

ดังนั้นในปี 1999 ซึ่งเป็นเวลาก่อนจะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพียงหนึ่งปี บรรดาสมาชิกของสมาคมฟิสิกส์ในอังกฤษได้ลงคะแนนเลือกนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ชื่อของ Kelvin ไม่ติดอันดับ 30 คนแรก ทั้ง ๆ ที่ในปี 1964 หน่วยวัดอุณหภูมิได้รับการกำหนดให้ชื่อ Kelvin และอุณหภูมิศูนย์องศาสัมบูรณ์ คือ ศูนย์องศาเคลวิน ซึ่งมีค่า
-273.15 องศาเซลเซียส

ถึงปี 2011 สถาบันมาตรวิทยานานาชาติได้กำหนดให้ 1 องศาเคลวิน คือ อุณหภูมิที่อะตอมเปลี่ยนพลังงานจลน์ไป 1.38065*10^(-23) จูล

อ่านเพิ่มเติมจาก Kelvin: Life, Labors and Legacy ซึ่งมี Raymond Flood กับคณะเป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดย Oxford University Press เมื่อปี 2008


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น