จากเหตุการณ์เครื่องบิน SQ321 ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ประสบเหตุตกหลุมอากาศรุนแรง (21 พฤษภาคม 2567) ทำให้หลายคนสงสัยและสนใจในเรื่องการเกิด “หลุมอากาศ” ที่เป็นสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความอันตรายมากแค่ไหน
หลุมอากาศ - Air Turbulence คือการเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ โดยจะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนให้กับเครื่องบิน มีหลายระดับตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรงมาก ได้แก่
1.หลุมอากาศแบบเบา (Light Turbulence): เครื่องบินสั่นเล็กน้อย อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
2.หลุมอากาศแบบปานกลาง (Moderate Turbulence): เครื่องบินสั่นมากขึ้น ผู้โดยสารอาจถูกยกจากที่นั่ง
3.หลุมอากาศแบบรุนแรง (Severe Turbulence): เครื่องบินสั่นอย่างรุนแรง ผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บ
4.หลุมอากาศแบบสุดขีด (Extreme Turbulence): เครื่องบินอาจสูญเสียการควบคุม
การเกิดหลุมอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยปัจจัยทางธรรมชาติ คือ พายุฝนฟ้าคะนอง - กระแสลมแรง เมื่อเครื่องบินบินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ กระแสลมกรด (Jet Stream) คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์กับชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์) โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูงและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและมักจะเกิดร่วมกับกระแสลมกรด เรียกว่าบริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส
หรือในบางครั้งเกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
ความรู้สึกขณะตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมาก ก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้ ปกติแล้ว นักบินจะศึกษาเส้นทางที่อาจเกิดหลุมอากาศอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เวลาอยู่บนเครื่องบินเราก็ควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
ข้อมูล – ภาพ อ้างอิง
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- Getty IMages