จากข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Science (5 January 5 2023) ที่ได้เผยว่าธารน้ำแข็งครึ่งหนึ่งบนโลกของเราอาจละลายหายไปหมดภายในปี 2100 ซึ่งก็อาจเป็นไปตามข้อมูลวิจัยจริงๆ เนื่องจากข้อมูลการศึกษาธารน้ำแข็งในปัจจุบันได้เผยว่า ประเทศเวเนซุเอลา ได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ไม่เหลือธารน้ำแข็งที่มีอยุ่แล้ว
เมื่อครั้งอดีต ประเทศเวเนซุเอลาเป็นประเทศ มีธารน้ำแข็งตั้งอยู่ถึง 6 แห่ง โดยธารน้ำแข็ง 5 แห่งได้ละลายหายไปแล้วภายในปี 2011 เหลือเพียง “ธารน้ำแข็งฮุมโบลดต์" (Mountain Humboldt Glacier) ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Sierra Nevada สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 5,000 เมตร ซึ่งปัจจุบันในปี 2024 นี้ ธารน้ำแข็งแห่งนี้ได้กลายเป็นความทรงจำไปแล้ว เนื่องจากมีการละลายอย่างรวดเร็วขึ้น 5 เท่า
ฮูลิโอ ซีซาร์ เซนเตโน ที่ปรึกษาการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UNCED) เปิดเผยว่า เวเนซุเอลาไม่มีธารน้ำแข็งอีกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือส่วนน้ำแข็งในสัดส่วน 0.4% ของธารน้ำแข็งเดิม และ ทางโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศแห่งไครโอสเฟียร์นานาชาติ ICCI องค์กรกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องภูมิภาคน้ำแข็ง ได้เผยว่าสภาพในปัจจุบันของธารน้ำแข็งฮุมโบลดต์ ธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายของประเทศมีเล็กเกินไปที่จะเป็นธารน้ำแข็ง และถูกจัดประเภทให้ให้ลดลงเป็น “ทุ่งน้ำแข็งแทน”
แม็กซิมิเลียโน เอร์เรรา นักอุตุนิยมวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ ผู้เก็บรักษาบันทึกเหตุการณ์อุณหภูมิสุดขั้วทางออนไลน์ ได้เผยข้อมูลว่า ประเทศที่มีแนวโน้มที่จะปราศจากการมีธารน้ำแข็งในประเทศ คือ อินโดนีเซีย เม็กซิโก สโลวีเนีย ซึ่งเกาะปาปัวของอินโดนีเซียและเม็กซิโกประสบกับภาวะอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเร่งการละลายของธารน้ำแข็งเร็วขึ้น
ธารน้ำแข็งฮุมโบลดต์ ธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายของเวเนซุเอลาไม่ค่อยมีน้ำแข็งปกคลุมมาตั้งแต่ปี 2000 แม้ว่าจะไม่มีมาตรฐานสากลกำหนดปริมาณน้ำแข็งขั้นต่ำของธารน้ำแข็ง แต่สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดกันว่าธารน้ำแข็งจะต้องมีน้ำแข็งอย่างน้อยประมาณ 10 เฮกตาร์ หรือ 0.1 ตารางกิโลเมตร
แม้รัฐบาลเวเนซุเอลาจะไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความพยายามจะรักษาธารน้ำแข็งเอาไว้ ด้วยการใช้ผ้าคลุมกันความร้อนคลุมน้ำแข็งที่เหลือหวังว่าจะขัดขวางหรือย้อนกระบวนการละลาย แต่โครงการดังกล่าวถูกนักวิทยาศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมเตือนว่าอนุภาคพลาสติกจากวัสดุที่ใช้คลุมน้ำแข็งอาจจะปนเปื้อนน้ำแข็งได้ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้น้ำแข็งที่ละลายไปแล้วกลับมาได้เหมือนเดิม เนื่องจากเมื่อธารน้ำแข็งหายไป แสงแดดจะทำให้พื้นดินร้อนขึ้น และอากาศจะอุ่นขึ้นมาก จนน้ำแข็งไม่ได้สามารถก่อตัวได้เลยในช่วงฤดูร้อน
การสูญเสียธารน้ำแข็งในเวเนซุเอลาเท่ากับว่าเราได้สูญเสียบริการทางระบบนิเวศมากมายที่ธารน้ำแข็งมอบให้ ตั้งแต่แหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และธารน้ำแข็งยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งน้ำจืดให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศร้อน และแห้ง เมื่อน้ำแข็งละลายไปหมดแล้ว อาจทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นขาดแคลนน้ำ และต้องรอให้ฝนตกอย่างเดียว
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- sciencedaily.com
- nationalgeographic.com
- theguardian.com
- atlasobscura.com/