xs
xsm
sm
md
lg

แสงออโรราความงดงามจากพายุสุริยะ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบนโลกเพียงแห่งเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังมีการประกาศแจ้งเตือนจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ที่ได้พบพายุสุริยะระดับ G4 - G5 ซึ่งถือได้ว่าเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกในช่วงนี้

แม้ว่าการประกาศจะฟังดูน่ากังวล แต่ในทางกลับกันระดับความรุนแรงของพายุสุริยะทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้เกิดปรากฏการณ์แสงออโรราอันสวยงามให้ได้ชม อีกทั้งยังมีการเกิดแสงออโรราขึ้นในบางพื้นที่ที่เกิดขึ้นได้ยากให้ได้ชมความสวยงาม


พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ มวลจากดวงอาทิตย์ที่ถูกปลดปล่อยจะกลายเป็นลมสุริยะที่พัดออกสู่อวกาศอันกว้างใหญ่และเดินทางผ่านดาวเคราะห์ต่างๆ ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ หนึ่งในนั้นคือโลกของเรานั้นเอง และ ออโรราเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีการเรืองแสงบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยมักจะขึ้นในบริเวณแถบขั้วโลก โดยบางครั้งจะเรียกว่า แสงเหนือ หรือ แสงใต้ ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิด


แสงที่เกิดบนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ เกิดจากการแตกตัวของโมเลกุลก๊าซเมื่อถูกอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์พุ่งชน เมื่ออนุภาคพายุสุริยะปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก อนุภาคที่มีพลังงานจะเคลื่อนที่ตามเส้นสนามแม่เหล็กสู่บรรยากาศโลกชั้นบนขอโลก โดยอนุภาคออโรราเป็นเพียงหนึ่งในหลายอนุภาคมีประจุจากพายุสุริยะที่เข้าปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก ระดับความลึกที่อนุภาคต่างๆ จะเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ขึ้นอยู่กับระดับพลังงานของมัน ยิ่งพลังงานมากยิ่งเข้าได้ลึก โดยอนุภาคออโรรานั้นสามารถเดินทางมาได้ถึงแค่ชั้นบรรยากาศเทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) ซึ่งสูงประมาณ 100 กิโลเมตร จากพื้นโลก แสงออโรราจึงเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศนี้ และเมื่ออนุภาคปะทะกับแก๊สในชั้นบรรยากาศจะทำให้แก๊สอยู่ในสถานะกระตุ้นและปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแสงออโรรา


สีสันของแสงออโรราที่แตกต่างกันมาจากระดับความสูงที่แตกต่างกัน เนื่องจากระดับความหนาแน่นของโมเลกุลแก๊สที่แตกตัว โดย แสงสีแดงจะปรากฏที่ความสูงตั้งแต่ 300 กิโลเมตรขึ้นไป แสงสีฟ้าและม่วงจะปรากฏไม่บ่อยเพราะเป็นการแตกตัวของไนโตรเจน และแสงสีเขียวที่สามารถเห็นได้ทั่วไปจะปรากฏที่ความสูง 100 ถึง 300 กิโลเมตร


นอกจากแสงออโรราจะปรากฏให้เห็นที่โลกแล้ว ยังปรากฏในดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กด้วยเช่นกัน อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ที่สามารถเห็นได้ชัดเจน โดยแสงออโรราของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะมีลักษณะสีที่แตกต่างกันตามการปล่อยอะตอมในชั้นบรรยากาศ อนุภาคพายุสุริยะจะปะทะกับแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ทำให้แก๊สอยู่ในสถานะกระตุ้นและปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแสงออโรราเช่นเดียวกับแสงออโรราบนโลกนอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดแสงออโรราบนดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวยูเรนัส อีกด้วย


ข้อมูล – รูปอ้างอิง

- NASA : www.nasa.gov
- NOAA : www.swpc.noaa.gov
- FB : The Universe - Fast Owner
- www.pbs.org/newshour/science/photos-solar-storm


กำลังโหลดความคิดเห็น