ตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 4 ทุ่มโดยประมาณตามเวลาประเทศไทย มนุษย์กำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กโลกที่กระทบโลกรุนแรงเป็นนับตั้งแต่มีการติดตามสภาพอวกาศ (space weather) โดยในอดีตเกิดขึ้นใน พ.ศ 2402 หรือ ค.ศ. 1859 ประมาณ 165 ปีก่อน คือการเกิดปรากฏการณ์ Carrington event
ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หรือ ค.ศ. 2003 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Halloween solar storm โดยในครั้งนี้ สร้างผลกระทบกับระบบไฟฟ้าของประเทศสวีเดนและสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้
สำหรับครั้งนี้มาจากบริเวณที่มีการประทุ (AR 3664) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดมหึมาเทียบเคียงกับ 2 ครั้งที่กล่าวมา (ตามภาพที่ 1)
ด้วยข้อมูลอัพเดทล่าสุดในปัจจุบัน การประทุที่รุนแรงได้ปล่อยการปลดปล่อยก้อนมวลขนาดใหญ่จากโคโรนาของดวงอาทิตย์ (corona mass ejection : CME) เป็นระยะกว่า 6-7 ระลอก ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) กระทบโลกอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 2 อ้างอิงจาก NOAA) โดยข้อมูลล่าสุดที่มีการรายงานจาก NOAA ลมสุริยะที่มีความเร็วสูงสุดที่ 835 km/s มีค่าสนามแม่เหล็กสูงสุด (Bt) 74 nT โดยมี Bz เท่ากับ -45 nT ซึ่งแสดงทิศทางมายังโลก
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ค่าสนามแม่เหล็กโลก โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (อังกฤษ: National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาและช่วงเย็นของวันนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ค่าพายุสนามแม่เหล็กโลกซึ่งบ่งบอกด้วยค่า Kp index ขึ้นสู่ระดับสูงสุด Kp index = 9 หรือ ระดับ G5 โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดในวงรอบสุริยะ (Solar cycle) ที่ 25 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567) ซึ่งจากแบบจำลองของ NOAA บ่งชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567
ดร.สิทธิพร ขาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามค่าสนามแม่เหล็กโลกบริเวณพื้นที่ประเทศไทย พบว่าช่วงคืนที่ผ่านมา ตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กที่ local k index จากเซ็นเซอร์ที่ติดในประเทศไทย ผลการวิเคราะห์ค่ารุนแรงพายสนามแม่เหล็กโลกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 7 หรือระดับ G3 ซึ่งบ่งชี้ว่า ค่าสนามแม่เหล็กบริเวณไทยอยู่ในระดับรุนแรง (Strong level) ดังภาพที่ 3 โดยผลกระทบที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. ประเทศที่อยู่ในเขตละติจูดที่สูง จะมีโอกาสได้รับชม “แสงเหนือ” หรือออโรร่าที่มีสีสันหลากหลายและพบได้เป็นบริเวณกว้างมากกว่าปกติ และ 2. ดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ดาวเทียมนำทางและดาวเทียมสื่อสารอาจจะมีการถูกรบกวนหรือใช้งานไม่ได้ชั่วคราว รวมไปถึงสัญญาณวิทยุช่วงความถี่สูงในเครือข่าย HF/VHF/UHF และ ระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้ ปัจจุบันทาง GISTDA ได้ติดตามสภาพอวกาศ (space weather) ด้วยระบบการพยากรณ์สภาพอวกาศ (space weather forecast system : JASPER ) ซึ่ง GISTDA มีความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการติดตามเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราใช้ข้อมูลที่ได้จากครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กโลก (magnetometer) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง GISTDA กับ National Institute Of Information And Communications Technology หรือ NICT จากประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยติดตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก เพื่อติดตามสภาพอวกาศที่จะกระทบกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทาง GISTDA และเครือข่าย จะติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสภาพอวกาศที่จะกระทบประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและจะอัพเดทข้อมูลเป็นระยะๆ