xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในอาณาจักรอิสลาม รุ่งเรืองแล้วร่วงโรย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



เมื่อ Mohammed เสด็จหนีออกจากเมือง Mecca เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม พระองค์ได้เสด็จไปที่เมือง Yathrib (ซึ่งในเวลาต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Medina) ในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 622 ผู้ครองนคร Mecca รู้สึกกังวลมากว่า Mohammed กับบรรดาสานุศิษย์จะบุกเข้ายึดครอง Medina ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญของขบวนคาราวาน ดังนั้นจึงวางแผนจะสังหาร Mohammed ทันที แต่ Mohammed ทรงรู้พระองค์ก่อน จึงเสด็จไปซ่อนตัวในถ้ำ เพื่อสะสมกำลังพลให้ได้มากพอ จนกระทั่งถึงวันที่ 20 กันยายน ปี 622 กองทัพของ Mohammed ก็สามารถยึดเมือง Medina ได้ และได้ประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติที่ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องเคารพและยึดมั่นในคำสอนขององค์ Allah กับศาสดา Mohammed เท่านั้น


จากนั้นกองทัพอิสลามภายใต้การนำของ Mohammed ก็บุกยึดนคร Mecca ได้ในปี 629 และอีกหนึ่งปีต่อมา Mohammed ก็ประสบความสำเร็จในการรวบรวมชนชาวอาหรับชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยมีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ กองทัพอิสลามที่มีใจมุ่งมั่นและมีดาบเป็นอาวุธสังหาร ได้บุกเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง โดยมีกาหลิบทรงปกครองตั้งแต่ Syria, Mesopotamia, Persia, Egypt, Libya ตลอดไปจนถึงดินแดนทางตอนใต้ของ Spain สำหรับดินแดนทางทิศตะวันออกนั้น กองทัพอิสลามได้บุกรุกเข้ายึดครองไปจนถึง India

จนกระทั่งปี 755 อาณาจักรอิสลามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน โดยมีกาหลิบพระองค์หนึ่งทรงประทับอยู่ที่เมือง Bagdad และอีกพระองค์หนึ่งทรงประทับอยู่ที่เมือง Cordoba (ในสเปนปัจจุบัน) จากนั้นอาณาจักรอิสลามก็เริ่มสร้างอารยธรรมของตนเอง เช่น มีภาษาประจำชาติ มีการรับอารยธรรมใหม่ๆ จากประเทศกรีซ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และจากประเทศอินเดียซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกมาดัดแปลง เพื่อพัฒนาอาณาจักรอาหรับ องค์กาหลิบทรงโปรดให้เชื้อเชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากนานาชาติมาทำงานถวาย โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ และศาสนาของนักวิชาการเหล่านั้น และบุคคลสองอาชีพที่องค์กาหลิบทรงโปรดปรานมากคือ แพทย์กับนักดาราศาสตร์


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในบรรดากาหลิบทุกพระองค์ มีกาหลิบพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ Abbasid ผู้ทรงพระนามว่า Harun al-Rashid (766-809) ทรงมีพระเกียรติยศมากที่สุด พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุเพียง 22 ชันษา และได้ทรงกักขังพระประยูรญาติที่พระองค์ทรงไม่พอพระทัยหลายคน เพราะทุจริตและพร้อมกันนั้นก็ได้ยึดทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นด้วย การมีพระอารมณ์วู่วาม จนทำให้บรรดาข้าราชบริพารติดตามไม่ทันนี้ ได้เป็นที่โจษจันและเลื่องลือกันทั่วอาณาจักร แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์นักวิชาการด้านศิลปะและวรรณกรรมที่มีความสามารถเป็นอย่างดีด้วย ทำให้ในรัชสมัยของพระองค์มีวรรณกรรมคลาสสิกมากมาย เช่น นิยายหนึ่งพันหนึ่งราตรี (One Thousand and One Nights), เรื่อง Ali Baba and the Forty Thieves และ Sinbad the Sailor เป็นต้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ทรงเป็นแม่ทัพนำทหารอิสลามต่อสู้กับข้าศึกในอาณาจักร Byzantine (ตุรกี) ด้วย


ในปี 772 ได้มีนักดาราศาสตร์อินเดียเข้ามาทำงานถวายกาหลิบ al-Mansur (714-775) และได้นำตำราดาราศาสตร์ชื่อ Sindhind มาให้ทอดพระเนตร ในตำราเล่มนั้นมีตารางและตัวเลขฮินดูที่แสดงตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่าง ๆ นี่เป็นการใช้ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่คนอาหรับในสมัยนั้นยังไม่รู้จักใช้ เพราะคนอาหรับใช้คำพูดแทนตัวเลข เช่น ใช้คำว่าสามร้อยสิบ (แทนที่จะใช้ตัวเลข 310) ในการสื่อสาร ซึ่งการใช้เช่นนี้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจมาก เพราะการซื้อขายจะเป็นไปอย่างไม่สะดวก ในสมัยนั้นแม้แต่ชาวโรมันเองก็ยังไม่รู้จักใช้ตัวเลข โดยได้กำหนดตัวอักษร V แทนเลข 5, ใช้ X แทนเลข 10, C แทนเลข 100 และ M แทนเลข 1,000 ดังนั้นเวลาเขียนเลขสามร้อยสิบ นักคณิตศาสตร์โรมันก็จะเขียน CCCX ซึ่งนอกจากจะเขียนยาก เพราะต้องใช้เวลาและความระมัดระวังพอสมควร แล้วคนอ่านตัวเลขก็ต้องใช้เวลาอ่านนานด้วย และอาจจะตาลายอ่านผิดได้ง่าย เพราะนับตัวอักษรผิดพลาด

ความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์จึงเกิดขึ้น เมื่อนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียนำระบบการเขียนเลข โดยให้ตำแหน่งของตัวเลขแทนค่าหลักหน่วย สิบ ร้อย พัน… เช่น 65 ซึ่งมีเลข 6 กับเลข 5 เพราะค่า 6x10+5x1 ชาวอินเดียยังได้นำเลขศูนย์มาใช้ในการคำนวณด้วย ทำให้การคำนวณต่างๆ ใช้เวลาน้อยลงมาก กระนั้นบางคนก็ยังเชื่อว่า เลขที่เราใช้กันในปัจจุบันเป็น เลขอารบิก ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรจะเป็นเลขฮินดู เพราะถิ่นกำเนิดของมันมาจากอินเดีย


ความจริงวิชาคณิตศาสตร์ในอินเดียได้ถือกำเนิดตั้งแต่เมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ในตำราคณิตศาสตร์ (Vedicmanuscripts) ของอินเดียมีโจทย์ที่แสดงการบวก ลบ คูณ หาร ทฤษฎีจำนวน และการถอดกรณฑ์หารากที่สองของจำนวนต่างๆ นักคณิตศาสตร์อินเดียที่มีชื่อเสียง คือ Aryabhata (476-550) กับ Brahmagupta (598–668)


ดังนั้นเมื่อนักคณิตศาสตร์อิสลามบางคนเดินทางไปเยือนประเทศอินเดีย เขาก็ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์จากที่นั่น แล้วนำความรู้กลับไปพัฒนาประเทศของตนต่อ ช่วงเวลาระหว่างปี 750-1400 จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอารยธรรมอาหรับอย่างมโหฬาร โดยการมีศาสนาใหม่ และวิทยาการใหม่ๆ จากการได้อ่านตำรากรีกและตำราอินเดีย


บุคคลสำคัญที่เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอิสลามคนแรกมีชื่อว่า Muhammad ibn Musa al-Khwarizmi (780–850) (ibn แปลว่า บุตรชาย) เขาเกิดที่ Baghdad และมีผลงานการเขียนตำราพีชคณิตหลายเล่ม เช่น Kitab al-Jabr wa-l-Muqabala ซึ่งหมายถึง กระบวนการนำเลขบวกเข้าไปกำจัดเลขลบในสมการ แล้วจัดรูปแบบใหม่เพื่อให้สามารถแก้สมการได้ เช่น มีสมการ 2x – 5 = 7 ซึ่งมี x เป็นค่าที่ยังไม่รู้ ก็ให้นำ +5 ใส่เข้าไปในทั้งสองข้างของสมการ ได้ 2x – 5 + 5=7 + 5 จากนั้นจัดรูปใหม่ได้ 2x + 0 = 12 และได้ x = 6 ในที่สุด Khwarizmi ได้เสนอวิธีการและขั้นตอนในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่เราในปัจจุบันเรียกว่า algorithm เพราะคำนี้มีรากศัพท์มาจากชื่อของ al-Khwarizmi ตำราเล่มนี้ยังทำให้โลกรู้จักคำว่า พีชคณิต (algebra) เป็นครั้งแรกด้วย เพราะคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำ “al-Jabr” ที่ Khwarizmi ใช้เป็นคนแรก


ในปี 1983 ซึ่งเป็นวาระครบ 1,200 ปีแห่งชาตกาลของ Khwarizmi องค์การ UNESCO ได้ประกาศการเฉลิมฉลองให้ Khwarizmi เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก และได้จัดให้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ของ Khwarizmi ที่เมือง Urgench ในประเทศ Uzbekistan ผู้ซึ่งได้เขียนตำราคณิตศาสตร์ให้ชาวอาหรับได้ใช้เรียนกัน เป็นเวลานานร่วม 300 ปี


Thabit ibn Qurra (836-901) เป็นนักคณิตศาสตร์อิสลามอีกคนที่มีชื่อเสียง เขาเกิดที่เมือง Harran ใน Mesopotamia Qurra เป็นคนที่รอบรู้หลายภาษา ทั้งภาษากรีก ภาษาอารบิก และมีความรู้คณิตศาสตร์มาก จึงสามารถแปลตำราเรขาคณิตของ Apollonius แห่ง Tyana ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรขาคณิตของเส้นโค้งเป็นภาษาอาหรับ และแปลตำราของ Archimedes แห่ง Syracuse ในเรื่องที่เกี่ยวกับกลศาสตร์ ตำราของ Heron แห่ง Alexandria ในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องจักรไอน้ำ และตำราของ Diophantus แห่ง Alexandria ในเรื่องที่เกี่ยวกับทฤษฎีจำนวน ออกมาเป็นภาษาอาหรับ
หลายเล่ม

นอกจากนี้ Thabit ibn Qurra ก็ยังเป็นนักคณิตศาสตร์คนแรกที่มิใช่นักคณิตศาสตร์จีน ซึ่งสนใจเรื่องจัตุรัสกล และจำนวนเชิงมิตร (amicable numbers) อันเป็นจำนวนสองจำนวน ที่จำนวนหนึ่งมีตัวหารหลายตัว และตัวหารเหล่านี้ทั้งหมดเมื่อนำมารวมกันจะมีค่าเท่าอีกจำนวนหนึ่งพอดี เช่น

220 มีตัวหาร คือ 1,2,4,5,10,11,20,22,44,55 และ 110 ซึ่งเมื่อรวมกัน จะได้ 284

และ 284 มีตัวหาร คือ 1,2,4,71 กับ 142 และเวลารวมตัวหารเหล่านี้ จะได้ 220

ดังนั้น 220 กับ 284 จึงเป็นจำนวนเชิงมิตรกัน

จำนวนเชิงมิตรยังมีอีกมากมายหลายคู่นับไม่ถ้วน เช่น (1184,1210), (2620,2924), (5020,5564) และ (6232,6368) เป็นต้น


แต่ถ้าจะกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์อิสลามคนสำคัญที่สุดในอารยธรรมอิสลาม เขาคนนั้น คือ แพทย์ Ibn Sina (980-1037) ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อภาษาละตินว่า Avicenna ผู้ได้เขียนตำราแพทย์หลายเล่ม ตำรา The Canon of Medicine เป็นตำรามาตรฐานที่นักศึกษาแพทย์ได้ใช้เรียน อีกทั้งยังได้สรุปเนื้อหาที่สำคัญของตำราเรขาคณิตชื่อ Elements ของ Euclid และนำความรู้คณิตศาสตร์ที่ตนมีมาใช้ในการแก้โจทย์ฟิสิกส์ เคมี จิตวิทยา ธรณีวิทยา และปัญหาดาราศาสตร์ด้วย Avicenna จึงเป็นพหูสูตชาวอาหรับที่มีความสำคัญมากคนหนึ่งของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 10-11

ในส่วนของการค้นคว้าวิจัยด้านดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์อิสลามที่สำคัญมีหลายคน พัฒนาการทางด้านนี้เกิดจากความจำเป็นและกฎข้อบังคับของศาสนาอิสลามที่ให้ชาวมุสลิมทุกคน เวลาสวดมนต์หรือล้างบาปต้องหันหน้าไปทางทิศที่เมือง Mecca ตั้งอยู่ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ ณ ที่ใดบนโลก หรือเวลาสวดมนต์ล้างบาปก็ต้องกระทำตรงเวลา ดังนั้นนักดาราศาสตร์อิสลามจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ดาราศาสตร์ เช่น planisphere ซึ่งเป็นแผนที่ดาว และ astrolabe ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้วัดตำแหน่งของดาวในท้องฟ้า ตลอดจนถึงใช้บอกเวลาของวันด้วย ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และแม่นยำของโหราศาสตร์ จึงได้ชักนำให้วิชาดาราศาสตร์ในสมัยนั้นได้รับการพัฒนาไปด้วย และเมื่อนักดาราศาสตร์ต้องใช้คณิตศาสตร์มากในการพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ วิชาคณิตศาสตร์จึงได้รับการพัฒนาไปด้วย


นักคณิตศาสตร์อาหรับคนสำคัญในยุคนี้ ได้แก่ Ibn al-Haytham (965-1039) ที่โลกตะวันตกรู้จักในนามที่เป็นภาษาละตินว่า Alhazen เขาเป็นนักเรขาคณิตผู้มีบทบาทมากในการพัฒนาวิชาทัศนศาสตร์เชิงเรขาคณิต (geometrical optics) โดย al-Haytham ได้คิดโจทย์คลาสสิกขึ้นมาโจทย์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงมาก นั่นคือ ปัญหา al-Haytham ที่กำหนดให้มีกระจกสะท้อนแสงรูปทรงกลม แล้วให้รังสีแสงพุ่งออกจากวัตถุ ถามว่ารังสีแสงนั้นจะต้องไปตกกระทบกระจก ณ ตำแหน่งใด รังสีแสงสะท้อนจึงจะพุ่งเข้าตาคนที่ยืนสังเกตได้พอดี หรือถ้าแปลงเป็นโจทย์ al-Haytham สำหรับคนที่ชอบเล่นบิลเลียด ก็มีคำถามในแนวเดียวกันว่า ถ้าโต๊ะบิลเลียดเป็นวงกลม คนที่แทงลูกแดงจะต้องเล็งให้ลูกแดงไปกระทบที่ขอบโต๊ะ ณ ตำแหน่งใด ลูกแดงจึงจะกระดอนมาชนอีกลูกหนึ่งได้พอดี

ความสามารถทางทัศนศาสตร์และเรขาคณิตของ Alhazen ยังได้ช่วยวางทฤษฎีที่ใช้ในสร้างกล้องถ่ายภาพด้วย


Omar Khayyam (1048-1131) ผู้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และกวีที่ได้ประพันธ์กลอนในหนังสือชื่อ Rubaiyat ผลงานคณิตศาสตร์ของ Khayyam ที่สำคัญ ได้แก่ การวิเคราะห์คำตอบของสมการกำลังสาม ที่มี 3 เทอม หรือ 4 เทอม แต่ Khayyam ไม่เชื่อว่า จะมีใครสามารถแก้สมการกำลังสามได้ (Gerolamo Cardano และ Nicolo Tartaglia นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียน สามารถแก้โจทย์กำลังสามได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15)

ในยุคนี้ คณิตศาสตร์อิสลามได้เจริญรุ่งเรืองสุด ๆ แต่หลังจากนั้นก็ได้เริ่มตกต่ำ ในระหว่างปี 1100-1300 ได้เกิดสงคราม crusade เมื่อกองทัพคริสเตียนได้พบว่า อารยธรรมอาหรับหลายเรื่องมีคุณค่ายิ่งกว่าอารยธรรมยุโรป จึงนำความรู้จากอารยธรรมอาหรับกลับยุโรป แต่กองทหารอิสลามไม่เพียงจะมีแต่กองทหารคริสเตียนเท่านั้นที่เป็นศัตรู กลับมีกองทัพมองโกลเป็นศัตรูด้วย การล่มสลายจึงเกิดขึ้นเร็ว นอกจากนี้อาณาจักรอิสลามยังมีบุคคลที่มีทัศนคติเชิงลบต่อวิทยาศาสตร์ด้วย เขาผู้นั้น คือ Nizam al-Mulk (1018-1092) อุปราชแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ผู้ได้เผยแพร่ความเชื่อว่า ความศรัทธาในศาสนาอิสลามเท่านั้น ที่จะทำให้รู้ความจริง การถูกรุกรานโดยกองทัพมองโกล และการถูกต่อต้านโดยเหล่านักบวชอิสลามได้ทำให้วิทยาศาสตร์ในอาณาจักรอาหรับเริ่มร่วงโรย


ในที่สุดองค์กาหลิบในราชวงศ์ Abbasides องค์สุดท้ายก็ทรงสูญเสียพระราชอำนาจไปจนหมดสิ้น แล้วเมือง Cordoba ในสเปน ก็ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ในยุโรปแทน และได้เผยแพร่ศิลปะกับสถาปัตยกรรมอาหรับไปทั่วดินแดนทางตอนใต้ของสเปน ทำให้มีวิหาร Cordoba (Mezquita-Catedral de Córdoba หรือสุเหร่าแห่งเมืองคอรโดบา) และที่ปราการกับพระราชวัง Alhambra ในเมือง Granada มีพื้นห้องโถงในพระราชวังที่สวยงาม เพราะมีการจัดเรียงแผ่นกระเบื้องเป็นรูปสมมาตรต่าง ๆ ทางเรขาคณิต ศิลปกรรมเหล่านี้ จึงทำให้ Alhambra ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ในปี 1984

แม้การสู้รบกับกองทัพมองโกลจะเกิด แต่นักคณิตศาสตร์ชื่อ Nasir al-Din al-Tusi (1201-1274) ก็ยังทำงานต่อไป โดยได้สร้างหอดูดาวดาราศาสตร์ เขียนตำราตรีโกณมิติ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมุมกับด้านทั้งสามของสามเหลี่ยม และได้พบว่า ถ้า a, b, c คือ ความยาวด้านของสามเหลี่ยมที่อยู่ตรงข้ามกับมุม A, B และ C ของสามเหลี่ยม เราจะได้ความสัมพันธ์ว่า a/sinA = b/sinB = c/sinC

นักคณิตศาสตร์อิสลามคนสำคัญคนอื่น ๆ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้มาทำงานที่เมือง Samarkand ได้แก่ Jamshid al-Kashani (หรือ al-Kashi) (1390-1450) ซึ่งได้คำนวณค่า π ที่มีความละเอียดตัวทศนิยมตำแหน่งที่ 16 และหาค่าของ sin 1° ได้ทศนิยมถึงตำแหน่งที่ 5 จากนั้นเขาก็ได้ใช้ค่านี้ คำนวณ cos 1°, tan 1° ด้วย

แต่ก่อนปี 1492 ที่ Christopher Columbus ได้พบ America อาณาจักรแขก Moor ในสเปนก็ถูกยึดอำนาจไปอย่างสมบูรณ์ และแขก Moor ก็ถูกขับออกจากยุโรป วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อิสลามจึงได้ถึงกาลยุติ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาวิทยาการ hard sciences ของชาวอาหรับและโดยชาวอาหรับได้รับการพัฒนา เพราะอาณาจักรโชคดีที่มีกาหลิบ ซึ่งมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และทรงโปรดปรานนักวิชาการที่มีความสามารถสูง โดยพระองค์ทรงจัดหาห้องสมุดให้ปราชญ์เหล่านี้ได้ค้นคว้า สร้างหอดูดาวให้นักดาราศาสตร์ได้สังเกต การสนับสนุนเช่นนี้ ได้ทำให้นักวิชาการอาหรับมีผลงานวิชาการมากมาย และความรู้ที่นักวิชาการเหล่านี้สร้างสรรค์ ได้ถูกนำไปพัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือดาราศาสตร์ ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับความรักในวิชาการจากปราชญ์กรีกและปราชญ์อินเดีย แล้วได้นำความรู้นี้ส่งต่อให้ปราชญ์ยุโรปได้พัฒนาต่อไป ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา


และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2014 โลกอิสลามได้พากันตื่นเต้นกับข่าวว่า ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์สตรีชาวอิหร่าน Maryam Mirzakhami (1977-2017) แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลสูงสุดทางคณิตศาสตร์ นั่นคือ เหรียญ Fields ซึ่งยิ่งใหญ่เทียบเท่ารางวัลโนเบล จากผลงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง hyperbolic geometry และ ergodic theory

โดยเธอได้ไปทำงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา นี่จึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า เธอต้องหลบหนีออกจากประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นสังคมที่กดขี่และเหยียดเพศหญิง จึงไม่มีทรัพยากรให้เธอสามารถทำงานได้ จนเธอต้องอพยพไปทำงานในสหรัฐฯ และสามารถทำได้สำเร็จเหมือนบรรพบุรุษชายชาวอิลามคนอื่น ๆ ที่ได้เคยทำให้อาณาจักรอิสลามรุ่งเรือง ตั้งแต่ค.ศ.800-1200 อันเป็นยุคทองของอารยธรรมอิสลาม ซึ่งมี al-Khwarizmi และ al-Biruni (973-1048) เป็นผู้นำ และผลงานนี้ได้วางรากฐานให้ Nicolaus Copernicus กับ Johannes Kepler ได้พัฒนาต่อยอดในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติมจาก “Lost Enlightenment: Central Asia's Golden Age from the Arab Conquest to Tamerlane” โดย S. Frederick Starr จัดพิมพ์โดย Princeton University Press (June 2, 2015)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน -ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ"ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น