xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จัดฝึกทักษะวิจัยภาคฤดูร้อน 2567 มอบประสบการณ์จริงแก่นักเรียน ม.ปลาย - ครูวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีรับเกียรติบัตรและปัจฉิมนิเทศโครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน ปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฝึกทักษะวิจัยทุกท่านได้รับประสบการณ์จริงในการทำงานวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของ สวทช. ที่ได้เข้าฝึกปฏิบัติและสามารถนำไปใช้ในชีวิตการเรียน การสอน หรือการศึกษาเพิ่มเติมตามความชอบและความถนัดของตนเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. มอบเกียรติบัตรในครั้งนี้


ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมเป็นพันธมิตร และให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ทางโครงการได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักเรียนทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) มีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมโครงการในปี 2567 นี้

โดยนักเรียนผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมฝึกทักษะวิจัย รวมจำนวน 89 คน และมีครูวิทยาศาสตร์อีก จำนวน 9 คน รวมทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมโครงการ 98 คนจาก 58 โรงเรียนทั่วประเทศ กลุ่มนักเรียนมาจาก 7 กลุ่ม ได้แก่ (1) นักเรียนทุนโครงการ JSTP สวทช. (2) โครงการ JSTP-SCB (3) กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (4) โครงการ วมว. (5) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (6) โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สพฐ.และ (7) นักเรียนทุน พสวท. ภายใต้การดูแลของนักวิจัยและบุคลากรวิจัยของ สวทช. กว่า 50 คน รวมถึงมีผู้ช่วยวิจัยในทีมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำปรึกษาให้แก่นักเรียนและครู


ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ถึง 8 พฤษภาคม 2567 รวมเป็นเวลา 8 สัปดาห์) นอกจากการฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฎิบัติการวิจัย นักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการยังได้ร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์อื่น ๆ ที่ทางโครงการฯ จัดให้ ในรูปแบบการบรรยาย กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งการทัศนศึกษานอกสถานที่ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Effective English Academic Communication ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเชิงวิชาการ” กิจกรรมเรียนรู้ “รักษ์ระบบนิเวศ คุ้งบางกะเจ้า” ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับกิจกรรมฝึกทักษะวิจัยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน ปี 2567 จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นปีแรก จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 7 แล้ว ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมฝึกทักษะวิจัยรวมแล้วมากกว่า 350 คน และนับเป็นปีที่ 3 ที่มีครูวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ทักษะวิจัย จากนักวิจัย สวทช. ซึ่งการได้มาเห็นบรรยากาศของการทำงานในห้องปฏิบัติการวิจัยของนักวิจัยแบบมืออาชีพ ได้ร่วมลงมือปฏิบัติงานจริง ได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการวิจัย เป็นการช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการทำวิจัย อีกทั้งจุดประกายให้เห็นเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ในอนาคตด้วย


ด้าน น.ส.เอมิกา ประสานสงฆ์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา หนึ่งในนักเรียนที่ร่วมโครงการเล่าถึงความประทับจในครั้งนี้ว่า การได้รู้จักเพื่อน ๆ ในโรงเรียนอื่น และการช่วยเหลือกันจากเพื่อนต่างโรงเรียน สำหรับหนูที่เพิ่งเคยได้เข้าห้องแล็บครั้งแรกก็จะกล้า ๆ กลัว ๆ แต่โชคดีที่ได้เพื่อนรุ่นพี่ที่มาแนะนำและช่วยเหลือ รวมถึงทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงที่น่ารักจากห้องแล็ปคอยดูแลและมอบความรู้ให้อย่างเต็มที่ และยังมีพี่ ๆ จากบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรและทุกคนที่มีส่วนรวมในการจัดโครงการดี ๆ แบบนี้ นอกจากเรื่องความรู้สึกดี ๆ ยังมีกิจกรรมมากมายให้พวกเราได้ทำพร้อมได้ความรู้ เช่น กิจกรรมเสริมภาษาอังกฤษ กิจกรรมบางกะเจ้าปลูกป่า เป็นต้น


นายธิปา แซมรัมย์  โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมว่า ตัวเองได้ร่วมกิจกรรม Farewell party ในฐานะพิธีกร ทำให้ผมมีความสุขมากที่ได้เห็นเพื่อน ๆ ทุกคนมีรอยยิ้มและสนุกกับสิ่งที่ทุกคนได้ทำร่วมกันทุก ๆ กิจกรรม และต้องขอขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดีให้คำแนะนำได้ดีมาก ทำให้เราไม่รู้สึกตึงเครียดและสนุกกับการเรียนสิ่งใหม่ ๆ และอยากให้มีโครงการดี ๆ แบบนี้ให้เพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องได้มีส่วนร่วมแบบนี้อีกตลอดไป


น.ส.กมลชนก เหมือนทอง โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เล่าให้ฟังว่าตัวเองรู้จักโครงการนี้จากเพื่อนที่เคยมาร่วมกิจกรรมแล้ว จากนั้นก็ทราบข่าวเปิดรับสมัครจากอาจารย์ พอได้อ่านรายละเอียดก็ส่งใบสมัครทันที และคิดว่าต้องเป็นโครงการที่เป็นวิชาการมาก ๆ เพราะคิดว่าต้องมาทำงานกับนักวิจัย และคาดหวังว่าจะได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานวิจัยกลับไป ซึ่งพอถึงเวลาจริง ๆ ก็เกินที่คาดไว้มาก ทางโครงการมีกิจกรรมมากมายที่สนุกมาก แถมยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันสนุกสุด ๆ และกิจกรรมที่ประทับใจที่สุด Farewell party เพราะเป็นกิจกรรมที่ได้พูดความรู้สึก ได้เล่น ได้ร้องเพลง และได้ทดลองทำงานกับเพื่อนศูนย์อื่น และขอบคุณพี่ ๆ ทีมงานทุกคนที่คอยดูแลช่วยเหลือ คอยให้คำปรึกษา ถ้ามีโอกาสตัวเองก็อยากกลับมาอีกครั้ง และอยากฝากบอกรุ่นน้องหรือเพื่อน ๆ ที่สนใจโครงการดี ๆ มีโอกาสให้รีบสมัครมาร่วมโครงการเพราะจะได้ทั้งความรู้ ความสนุก และมิตรภาพที่ดีกลับไปอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น