xs
xsm
sm
md
lg

เอาใจช่วยจีน! เก็บตัวอย่างดินด้านไกลบนดวงจันทร์ กลับมาศึกษาเป็นชาติแรกของโลก จากภารกิจ "ยานฉางเอ๋อ 6"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากความสำเร็จของภารกิจยานฉางเอ๋อ 5 ของจีน ที่ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 พร้อมกับการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ด้านใกล้และส่งกลับมายังโลกเพื่อทำการศึกษา อีกทั้งยังได้เผยภาพด้านไกลของดวงจันทร์ให้ได้เห็นลายละเอียดของดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก ในส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อมองจากมุมมองบนพื้นโลก

ปัจจุบันจีนได้ทำการส่ง “ยานฉางเอ๋อ 6” เพื่อเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง โดยทาง องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติของจีน (CNSA) ได้ปล่อยจรวด ลองมาร์ช 5 นำยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 6 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 จากศูนย์อวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน ทางภาคใต้ของจีน เพื่อเดินทางไปลงจอดยังด้านไกล หรือด้านมืดของดวงจันทร์ที่หลายคนรู้จัก


ภารกิจของยานฉางเอ๋อ 6 ถือได้ว่าเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ ที่จะมีการนำยานสำรวจลงจอดศึกษาและเก็บตัวอย่างดินกลับมายังโลก ในบริเวณพื้นที่ด้านไกลของดาวบริวารของโลก โดยพื้นที่ที่ยานฉางเอ๋อ 6 จะลงจอดนั้น คือ แอ่งขั้วใต้ดวงจันทร์ -เอตเคน (South Pole-Aitken basin - "SPA") ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 2,500 กม. และลึก 8.2 ที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่นานกว่า 4 พันล้านปี


ก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งดาวเทียมส่งต่อสัญญาณชื่อ “เชวี่ยเฉียว-2” ไปล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนภารกิจฉางเอ๋อ 6 เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วการลงจอดบริเวณพื้นที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ทำให้มีการประเมินระยะเวลาภารกิจในครั้งนี้ อาจใช้เวลา 53 วัน ซึ่งมากกว่าภารกิจก่อนหน้านี้ คือยานฉางเอ๋อ 5 ที่ใช้เวลาทั้งหมด 22 วัน ในการทำภารกิจ


CNSA ได้มีการเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างดินบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ที่เก็บกลับมายังโลกจากภารกิจฉางเอ๋อ 6 นั้น จะมีการแจกจ่ายไปตามสถาบันวิจัยต่างๆ ของจีนและประเทศที่มีความร่วมมือกับจีน จากนั้นจึงจะเปิดให้ประเทศอื่นๆ ส่งร่างโครงการเพื่อขอนำตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ไปวิจัยต่อไป เหมือนดังเช่นตัวอย่างดินดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ 5


ข้อมูล / รูปอ้างอิง
- stsbeijing.org
- planetary.org
- space.com
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น