xs
xsm
sm
md
lg

"พายุสุริยะ" จะถล่มโลกในปี 2025 หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



สำหรับคนที่ไม่รู้ดาราศาสตร์เลย ดวงอาทิตย์ เป็นลูกไฟกลมที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และเป็นดาวฤกษ์ต้นแบบแห่งความสม่ำเสมอ คือ ให้แสงสว่างตรงเวลาและไม่เคยหยุดทำงาน แต่สำหรับคนที่รู้ดาราศาสตร์บ้าง ดวงอาทิตย์เป็นดาวในวัยกลางคน (คือ ขณะนี้มีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี และจะมีอายุอีก 5,000 ล้านปี) เป็นดาวที่ให้พลังงานความร้อนและพลังงานแสงแก่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจากปฏิกิริยา fusion โดยใช้ไฮโดรเจนที่มีในตัวดาวเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 1.3 ล้านเท่า มีมวลประมาณ 2x(10^30) กิโลกรัม จึงหนักกว่าโลกประมาณ 3 แสนเท่า มีความดันที่แก่นกลางประมาณ 300 ล้านเท่าของความดันบรรยากาศโลก ที่จุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิสูงประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียส การมีอุณหภูมิและความดันที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ดวงอาทิตย์เป็นเตาปฏิกรณ์ fusion ที่เปลี่ยนไฮโดรเจนมวล 4 ล้านตันไปเป็นฮีเลียมในทุกวินาที และจากมวลที่พร่องหายไป ได้ทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานความร้อน แสงที่ตาเห็น รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีอัลตราไวโอเลต ฯลฯ ออกมาด้วย


เวลาดูด้วยตาเปล่า (ผ่านฟิล์มกรองแสง) ผิวของดวงอาทิตย์จะดูราบเรียบ แต่ถ้าดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังสูงจะเห็นผิวเป็นของไหลร้อนที่ไหลอลวนและปั่นป่วนทั่วทั้งผิวอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะถูกอิทธิพลของความร้อนจากภายในดาวกระทำ ในบางครั้งก็จะเห็นจุดสว่างปรากฏตรงตำแหน่งที่ฟองแก๊สร้อนลอยขึ้นจากใต้ผิวดาว และในบางบริเวณที่ผิว “จะสลัวมืด” เพราะของไหลร้อนมีอุณหภูมิลดลง ได้ไหลมุดลงไปใต้ผิว ในบางครั้งเราอาจจะเห็นเปลวไฟพวยพุ่ง (prominence) เป็นวงโค้งที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกผุดจากผิวสู่อวกาศ แล้ววกกลับตกลงที่ผิวดวงอาทิตย์อีก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ดวงอาทิตย์ของเราไม่เคยหลับ และ “อารมณ์” ที่พลุ่งพล่านวู่วามของมัน ได้มีอิทธิพลต่อความเป็นและความตายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตลอดเวลาที่ผ่านมาและจะมีต่อไปจนถึงอนาคตอย่างแน่นอน


การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องติดตามดูความผิดปกติและความไม่สม่ำเสมอต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่ดวงอาทิตย์แสดงออกตลอดเวลา เช่น ติดตามดูการปรากฏตัวของจำนวนจุดมืด (sunspot) สังเกตดูความรุนแรงของการระเบิดที่ผิวดวงอาทิตย์ทุกครั้งและทุกรูปแบบ ดูการระเบิดขับมวลพลาสมาร้อน (coronal mass ejection; CME) จากผิวในปริมาณมากออกสู่อวกาศ ซึ่งถ้า CME นี้ พุ่งปะทะโลก มนุษยชาติก็อาจจะสูญพันธุ์ได้ เป็นต้น


การศึกษาดวงอาทิตย์ในอดีตตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนโฉมความนึกคิดของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติเอกภพไปมากมาย เช่น จากเดิมที่เราเคยเชื่อว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก เพราะคนโบราณได้เห็นดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วโคจรข้ามท้องฟ้าไปตกทางทิศตะวันตกทุกวัน ได้ทำให้ทุกคนพากันเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง จนกระทั่ง Nicolaus Copernicus (1473–1543) ได้พบว่า การที่เราเห็นเช่นนั้น เพราะโลกหมุนรอบตัวเองและในเวลาเดียวกัน โลกได้โคจรไปรอบดวงอาทิตย์ในฐานะที่เป็นดาวเคราะห์บริวาร และเหตุผลที่ทำให้โลกโคจรในลักษณะนี้ เพราะดวงอาทิตย์กับโลกมีอันตรรกิริยาแรงโน้มถ่วงกระทำต่อกัน ตามกฎแรงดึงดูดระหว่างมวลของ Isaac Newton (1642-1727)

ในปี 1783 บาทหลวงชาวอังกฤษชื่อ John Mitchell (1720-1793) ได้มีจินตนาการว่า เอกภพอาจจะมีดาวฤกษ์บางดวงที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์มาก จนมันสามารถดึงดูดแสงที่มันมีในตัว ไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ และนี่ก็คือ ความคิดที่ให้กำเนิดหลุมดำ


เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1919 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เหนือประเทศ Brazil และ Africa ตะวันออก นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อ Arthur Eddington (1882-1944) ได้สังเกตเห็นแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่เบื้องหลังดวงอาทิตย์ว่า เวลาแสง เดินทางผ่านใกล้ขอบของดวงอาทิตย์ แสงจะเบนเป็นเส้นโค้ง แทนที่จะเดินทางเป็นเส้นตรง เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ผู้คนเห็นดาวฤกษ์ดวงนั้นมิได้ปรากฏอยู่ ณ ตำแหน่งแทร่ เหตุการณ์นี้ได้เป็นไปตามคำพยากรณ์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Albert Einstein (1879-1955) ทุกประการ

ในทศวรรษของปี 1960 Raymond Davis (1914–2006) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2002 ได้พบว่า ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดของอนุภาค neutrino ด้วยการศึกษาธรรมชาติของ neutrino ในเวลาต่อมาได้ทำให้เรารู้ว่า neutrino มีหลายชนิด และนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้อนุภาคมูลฐานชนิดนี้ศึกษาธรรมชาติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในดาวฤกษ์ทุกดวงได้

แม้ว่าดวงอาทิตย์จะให้คำอธิบายเรื่องที่เกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติได้หลายเรื่อง แต่ดวงอาทิตย์ก็ยังแสดงพฤติกรรมอีกมากมายที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ เช่น เหตุใด corona (บรรยากาศเหนือผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความหนาแน่น 10^(-12) กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร จึงมีอุณหภูมิสูงถึงล้านองศาเซลเซียสได้ ในขณะที่อุณหภูมิที่ผิวดวงอาทิตย์มีค่าประมาณ 5,500 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง เพราะตามหลักฟิสิกส์ อุณหภูมิของอากาศในบริเวณที่อยู่ห่างจากเตา ถ้าอยู่ยิ่งไกล อุณหภูมิของอากาศก็จะยิ่งลด แต่ Walter Grotrian (1890-1954) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันแห่งหอดูดาวที่เมือง Potsdam ได้พบว่า ณ ตำแหน่งที่อยู่ห่างจากผิวดวงอาทิตย์ 250 กิโลเมตร อุณหภูมิจะมีค่าสูงประมาณ 500 เท่าของอุณหภูมิที่ผิว และที่น่าประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ณ ที่ไกลออกไปมากๆ คือ ในอวกาศกลับมีอุณหภูมิต่ำเพียง 2.7 องศาเคลวิน (-270 องศาเซลเซียส) เท่านั้นเอง คำถามจึงมีว่า เหตุใดอุณหภูมิของ corona จึงสูงมากถึงปานนั้น และดวงอาทิตย์ใช้กลไกอะไรในการทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งถ้าใครคนใดรู้คำตอบนี้ คำตอบที่ได้ก็จะทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลทันที จากการพบกลไก ที่สามารถช่วยให้นักฟิสิกส์สร้างเตาปฏิกรณ์ fusion ที่ให้พลังงานสะอาดในปริมาณมหาศาล


ปริศนาที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่ง ก็คือ ลมสุริยะ (solar wind) ซึ่งประกอบด้วย โปรตอน ที่มีประจุบวกเป็นส่วนใหญ่ และมีอุณหภูมิสูงมากสามารถพุ่งหนีจากผิวดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสูงถึง 800 กิโลเมตร/วินาทีนั้นได้อย่างไร โดยใช้กลไกอะไรในการขับเคลื่อน ตลอดจนถึงการมีคำถามต่อไปว่า เปลวสุริยะ (solar flare) ที่สว่างจ้าและมักเกิดในบริเวณใกล้จุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) มีความเกี่ยวข้องกับเส้นแรงของสนามแม่เหล็กอย่างไร นอกจากนี้หลายคนก็สงสัยว่า ดวงอาทิตย์ใช้พลังงานรูปแบบใดในการขับเคลื่อนมวล corona มาสู่โลก ตลอดจนถึงการมีคำถามที่ว่า วัฏจักรจุดบนดวงอาทิตย์ (solar cycle) ที่ในบางเวลาดวงอาทิตย์มีจุดจำนวนมาก แล้วจำนวนจุดก็ได้ลดลง จากนั้นจำนวนก็เพิ่มอีก เหตุการณ์นี้ที่อุบัติในทุก 11 ปี สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร และจุดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสภาพดินฟ้าอากาศของโลกอย่างไร

ตราบถึงเวลานี้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ก็ยังไม่มีทฤษฎีที่สามารถใช้อธิบายเหตุการณ์ได้ดีเลย


เพราะภัยลมสุริยะกับภัย CME ที่มีแหล่งกำเนิดบนดวงอาทิตย์เป็นมหันตภัยที่อันตรายมาก ดังนั้นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จึงมุ่งสนใจจะหาคำตอบและความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ใช้เตือนชาวโลกให้สามารถป้องกันชีวิตของทุกคนได้ทัน เช่น ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่ามวล corona ร้อน ที่มีขนาดใหญ่มโหฬารกำลังเดินทางมาสู่โลก และจะถึงโลกภายในเวลา 15 นาที โรงไฟฟ้าบนโลก ณ ตำแหน่งที่พายุสุริยะจะพุ่งกระทบ

ควรจะต้องหยุดดำเนินการ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่ให้ถูกทำลาย มนุษย์อวกาศที่กำลังทำงานอยู่ในสถานีอวกาศหรือบนดวงจันทร์ก็ต้องระมัดระวังและป้องกันตัว ด้วยการสวมชุดป้องกันรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความเข้มสูงจากพายุสุริยะไม่ให้มาปะทะ เครื่องบินโดยสารก็ไม่ควรบินผ่านบริเวณขั้วโลกในช่วงเวลานั้น เพราะขั้วโลกเป็นบริเวณที่มีความเข้มสนามแม่เหล็กสูง และเป็นสายล่อประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์

นักประวัติดาราศาสตร์ ได้บันทึกประวัติการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่โลกได้เผชิญพายุสุริยะแล้ว ดังนี้

ในปี 1958 เครื่องบินโดยสารที่บินระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปได้สูญเสียการติดต่อกับสถานีควบคุมการบินไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง

ปี 1972 หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รัฐ British Columbia ของแคนาดาเมื่อได้รับพายุสุริยะ ได้ระเบิด ทำให้พลเมืองจำนวน
มากไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้เป็นเวลานาน

ปี 1989 พายุสุริยะได้ทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในรัฐ Quebec ของแคนาดา ต้องหยุดชะงัก ซึ่งมีผลทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ในฤดูหนาว


ปี 2000 ดาวเทียม ASCA (Advanced Satellite for Cosmology and Astrophysics) ที่มีกล้อง CCD (Charge Coupled Device) เพื่อรับรังสีเอกซ์ เมื่อลมสุริยะปะทะโลก บรรยากาศโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศจะขยายตัว ความหนาแน่นของอากาศในบริเวณนั้นจึงน้อยลง ซึ่งมีผลทำให้วงโคจรของดาวเทียมตก ทำให้ต้องมีการปรับวงโคจรของดาวเทียมใหม่

ปี 2012 พายุสุริยะที่รุนแรงได้ทำให้เกิดแสงเหนือ (aurora borealis) ที่สว่างไสวเหนือท้องฟ้าในเวลาค่ำคืนบ่อย โดยเฉพาะในประเทศ Norway ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลก ตลอดไปจนถึงประเทศ Cuba ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร

เรามักจะเห็นแสงเหนือและแสงใต้เกิดเวลาพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์พุ่งชนอะตอมของ nitrogen และ oxygen ในบรรยากาศ ทำให้อิเล็กตรอนในอะตอมเหล่านี้ถูกกระตุ้น แล้วปล่อยแสงออกมา เมื่อมันหวนกลับสู่สถานะเดิม ดังนั้น แสงเหนือและแสงใต้ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่คนธรรมดาสามารถบอกระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้ เช่น ถ้าแสง aurora สว่างสดใส นั่นแสดงว่า พายุสุริยะลูกนั้น
จะรุนแรง

เมื่อพายุสุริยะและการเกิดจุดบนดวงอาทิตย์มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นนี้ การสำรวจดวงอาทิตย์อย่างตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยเหตุนี้ในปี 1958 เมื่อองค์การ NASA ถูกจัดตั้งขึ้น NASA จึงได้อนุมัติโครงการอวกาศมากมายหลายโครงการ เช่น ให้สร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble สร้างยานสำรวจ Voyager I , II จัดให้มีโครงการ Apollo นำมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และโครงการสร้างยานไปสำรวจดวงอาทิตย์ที่ระยะใกล้มาก ๆ คือ ให้ร่อนเข้าไปในบรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์เลย แม้ว่าอุณหภูมิของบรรยากาศจะสูงถึงล้านองศาเซลเซียส แต่ยานก็ไม่ลุกไหม้ เพราะความหนาแน่นของบรรยากาศมีค่าน้อยมาก ตัวยานสำรวจจึงปลอดภัย


สำหรับยานที่ NASA จะส่งเข้าไปสำรวจพายุเหนือดวงอาทิตย์ในครั้งนี้มีชื่อว่า Parker Solar Probe (PSP) ตามชื่อของ Eugene Newman Parker (1927–2022) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้เสนอความคิดว่า มีลมสุริยะพัดจากดวงอาทิตย์มาสู่โลก และลมสุริยะนี้มีอิทธิพลต่อความเป็นไปธรรมชาติบนดาวเคราะห์ต่าง ๆ ทุกดวงที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ด้วย


ในปี 1957 Parker ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ในสหรัฐอเมริกา ได้สนใจจะศึกษาธรรมชาติของ corona หลังจากที่ได้เห็นมันขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เขาจึงตั้งคำถามตนเองว่า จะมีอนุภาคอะไรบ้างที่สามารถเล็ดรอดจากดวงอาทิตย์มาสู่โลกได้ ซึ่งคำถามนี้ดูจะมีคำตอบว่า “ไม่น่าจะมี” ด้วยเหตุผลว่าการที่โลกมีบรรยากาศห่อหุ้ม เพราะโมเลกุลของอากาศได้ถูกโลกดึงดูดไว้ ดังนั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ (corona) ก็น่าจะถูกแรงโน้มถ่วงที่มากมหาศาลของดวงอาทิตย์ดึงดูดไว้เช่นกัน จนทำให้อนุภาคต่าง ๆ ในบรรยากาศของอาทิตย์ไม่มีวันเล็ดรอดหนีจากดวงอาทิตย์ได้เลย

แต่แล้วก็มีปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้น นั่นคือ การปรากฏตัวดาวหาง Mrkos ที่มีหางชี้ในทิศหนีจากดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ไม่ว่าดาวหางดวงนั้นจะอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนท้องฟ้า จนทำให้ดูเสมือนกับว่าหางของดาวหางได้ถูกลมพัดให้ชี้ไปในทิศต่างๆ ตลอดเวลา

Parker รู้สึกสนใจปัญหานี้มาก จึงได้คำนวณความเร็วของอนุภาคใน corona และพบว่า อนุภาคมีความเร็วสูงมากพอจะหลุดหนีจาก corona ได้ จึงได้เสนอผลงานนี้เป็นรายงานวิจัย เพื่อลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Astrophysical Journal และถูกผู้ประเมินคุณค่าของบทความ แนะนำบรรณาธิการให้ปฏิเสธการรับลงพิมพ์ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่บรรณาธิการของวารสาร คือ Subrahmanyan Chandrasekhar (1910–1995) เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1983 ได้ใช้สิทธิ์ความเป็นบรรณาธิการล้มคำตัดสินของผู้ประเมิน ทฤษฎีลมสุริยะที่มีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางของหางดาวหางจึงได้ถือกำเนิด

ในปี 1962 เมื่อยานอวกาศของ NASA ชื่อ Mariner II เดินทางผ่านดาวศุกร์ อุปกรณ์ตรวจรับรังสีที่ติดตั้งอยู่บนยาน ได้รายงานการรับกระแสอนุภาคจากดวงอาทิตย์ที่พุ่งสู่ยานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง คือ ทั้งวัน ทั้งเดือน และทั้งปี จากนั้นโลกจึงยอมรับว่าลมสุริยะมีจริง และการวิจัยในเวลาต่อมาได้แสดงว่าลมสุริยะสามารถปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ให้เป็นอันตราย เวลาโลกถูกรังสี cosmic จากนอกโลกโจมตี แต่ในเวลาเดียวกันพายุสุริยะที่รุนแรงก็อาจทำลายระบบการคมนาคมสื่อสารและบรรยากาศของโลกให้เสื่อมสภาพได้ ดังนั้นความเข้าใจธรรมชาติของลมสุริยะ จะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีพต่อไปบนโลกได้อีกนาน


ในปี 2018 NASA จึงส่งยานอวกาศ Parker Solar Probe (PSP) ไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยกำหนดให้ยานใช้เวลานานประมาณ 5 เดือน ในการโคจรครบ 1 รอบ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้ corona มีอุณหภูมิสูงถึง หนึ่งล้านองศาเซลเซียส และค้นหากลไกที่ดวงอาทิตย์ใช้ในการทำให้เกิดลมสุริยะ โดยใช้หลักการง่าย ๆ ว่า เวลาเราต้องการจะศึกษาธรรมชาติของน้ำตก เราต้องเดินทางไปที่แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นต้นน้ำ และค้นหาว่าต้นน้ำไหลออกจากหน้าผา หรือ จากใต้ดิน หรือ จากการรวมของสายน้ำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันถ้าเราต้องการจะรู้แหล่งกำเนิดของลมสุริยะ เราก็ต้องส่งยานไปสำรวจบริเวณที่อยู่ใกล้ผิวดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด เช่น ให้ยานอวกาศไปโคจรที่ระยะห่างประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด

ผลการสำรวจในระยะแรกแสดงให้เห็นว่า ความเร็วของลมสุริยะมีค่ามากถึง 30-50 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่า 2-3 กิโลเมตร/วินาที ที่เคยคาดไว้ ข้อมูลนี้จึงแสดงว่า เรายังไม่มีทฤษฎีของลมสุริยะที่เป็นที่ยอมรับ


นักฟิสิกส์หลายคนจึงเสนอทฤษฎีต่างๆ มากมาย เพื่ออธิบายความแตกต่างนี้ เช่นว่า ผิวของดวงอาทิตย์เป็นของไหลร้อนที่ไหลอย่างอลวนและปั่นป่วนเป็นเม็ด ๆ (granule) จำนวนมากมาย บางเม็ดอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าโลก และบางเม็ดได้ระเบิดที่ผิว ทำให้เกิดก้อนแสงขนาดเล็กที่ลุกสว่างจ้า (nanoflare) ซึ่งมีพลังงานมากเท่าระเบิดไฮโดรเจน ดังนั้นเวลาเม็ด granule ระเบิด มันจะนำความร้อนจากผิวสู่ corona ทำให้ corona มีอุณหภูมิสูง

นอกจากจะมี nanoflare แล้ว บนดวงอาทิตย์ยังมีสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมากด้วย ดังนั้นเวลาเส้นแรงแม่เหล็กพุ่งชนกันหรือปะทะกัน แรงแม่เหล็กจะหักล้างกันบ้างและเสริมกันบ้าง การกระจายของพลังงานแม่เหล็กจะทำให้บรรยากาศของ corona มีอุณหภูมิสูงมาก และเมื่อลมสุริยะได้ล่องลอยหนีจากดวงอาทิตย์ไปแล้ว ดวงอาทิตย์ก็จะมีพลังงานน้อยลง ๆ และจะหมุนรอบตัวเองช้าลง ๆ (ดวงอาทิตย์ใช้เวลานานประมาณ 27 วันในการหมุนรอบตัวเอง) นี่เป็นคำพยากรณ์ที่ต้องการค่ายืนยันจาก PSP

ในปี 2025 ที่จะถึงนี้ยาน PSP จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ที่ระยะห่าง 6 ล้านกิโลเมตร คือ เข้าใกล้ยิ่งกว่าดาวพุธถึง 10 เท่า และยาน PSP จะยุติการทำงานในปีหน้านี้เอง ข้อมูลที่ได้จากการวัดของ PSP จะช่วยเสริมความเข้าใจของนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มีต่อธรรมชาติของดวงอาทิตย์ให้ดีขึ้น และผลการสังเกตของ PSP จะช่วยให้การพยากรณ์วัฏจักรการถือกำเนิดของจุดบนดวงอาทิตย์ได้แม่นยำและถูกต้องขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เรารู้ว่าซูเปอร์พายุสุริยะจะบังเกิดในปี 2025 หรือไม่ และพายุจะเกิดเป็นเวลานานเพียงใด รวมถึงสามารถจะตอบคำถามได้ว่า ประเทศใดบ้างจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุสุริยะในปีหน้าด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก
"NASA Enters the Solar Atmosphere for the First Time". โดย Miles, Hatfield ใน NASA.Public Domain Miles (13 December 2021)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น