xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่ได้จากเหตุการณ์ดาวชนดาว (ดาวฤกษ์ ดาวนิวตรอน และหลุมดำ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวลารถยนต์สองคันชนกัน ความวินาศสันตะโรที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร คือ จะมากหรือน้อย ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น ความเร็วของรถทั้งสองคัน ความแข็งแกร่งหรือความเปราะบางของตัวรถ และรูปแบบการชน ว่าเป็นแบบประสานงาหรือแบบเฉียด ๆ ดังนั้นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีตั้งแต่แหลกลาญทั้งชีวิตของคนขับและรถ จนถึงกรณีที่ไม่มีใครเป็นอะไรมาก

แต่ความจริงประการหนึ่งที่เกิดตามมา จากหลักการวิทยาศาสตร์ คือ พลังงานจลน์ก่อนชนของรถทั้งสองคัน จะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน จนทำให้รถลุกไหม้เป็นไฟ และแรงดันที่เกิดขึ้นได้อัดตัวถังรถ จนบิดเบี้ยวหมดสภาพไปในทันทีทันใด

ในวงการดาราศาสตร์ก็มีเหตุการณ์ดาวฤกษ์ชนดาวฤกษ์เกิดขึ้นได้เช่นกัน แม้จะไม่บ่อยครั้งเท่าการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันบนถนน เพราะดาวฤกษ์อยู่ห่างกันมาก เช่น ดวงอาทิตย์ของเราอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ Proxima Centauri ที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นระยะทางประมาณ 4.2 ปีแสง แต่แรงโน้มถ่วงที่มากมหาศาลของดาวฤกษ์สามารถทำให้ดาวฤกษ์โคจรเข้ามาใกล้กันและชนกันได้


นักดาราศาสตร์ที่สนใจเรื่องนี้ได้ใช้ supercomputer ศึกษารายละเอียดของธรรมชาติการชนกันระหว่างดาวฤกษ์ 2 ดวง ดาวฤกษ์ 3 ดวง ….. และระหว่างดาวฤกษ์กับหลุมดำหรือดาวนิวตรอน การชนระหว่างหลุมดำ และระหว่างดาวนิวตรอน แม้ในระยะแรกของการศึกษาเรื่องนี้ นักดาราศาสตร์ไม่ได้มีเหตุการณ์ดาวฤกษ์ชนกันให้เห็น แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นปรากฏการณ์ที่แปลกและประหลาดมากมาย ซึ่งเกิดตามมาหลังการชนกัน เช่น ได้เห็นคลื่นโน้มถ่วง (gravitational wave; GW) ที่มีความถี่ต่างๆ กัน เป็นแถบสเปกตรัมตั้งแต่ 10^(-16) เฮิรตซ์ (hertz) ไปจนถึง 100 เฮิรตซ์ ตลอดจนได้เห็นการระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (gamma-ray burst; GRB) และความคาดหวังที่จะได้เห็นสสารที่มีความหนาแน่นสูงยิ่งกว่านิวเคลียสของธาตุใด ๆ ในโลกเสียอีก อันจะทำให้วงการดาราศาสตร์คิดว่า การศึกษาเรื่องนี้จะทำให้เราพบและเข้าใจธรรมชาติของสสารมืด (dark matter) ในที่สุด


ตามปกติเวลาดาวฤกษ์ 2 ดวงที่มีขนาดและมวลใกล้เคียงกัน พุ่งชนกันตรงๆ ดาวทั้งสองจะหลอมรวมกันเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ที่สว่างเท่าเดิม เพราะความหนาแน่นใหม่ จะไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยา fusion ได้ แต่ถ้าดาวฤกษ์พุ่งสวนกันแบบห่างๆ แรงโน้มถ่วงระหว่างดาวจะทำให้มันโคจรมาจับคู่กัน เป็นดาวคู่ (binary stars) ที่โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลของดาวทั้งสอง

แต่ถ้าเป็นกรณีดาวนิวตรอนหรือหลุมดำพุ่งชนดาวฤกษ์ มวลที่มากมหาศาลของดาวนิวตรอนและหลุมดำ จะทำให้บริเวณโดยรอบมีสนามโน้มถ่วงที่มีความเข้มสูงมาก ซึ่งจะสามารถดึงดูดเนื้อดาวฤกษ์ให้บิดเบี้ยวเสียรูปทรง และทำให้ดาวฤกษ์ตกอยู่ในสนามโน้มถ่วงของมัน (tidal capture) จนไม่สามารถหลบหนีไปได้ จากนั้นดาวนิวตรอนและหลุมดำก็จะดึงดูดเนื้อดาวฤกษ์ที่เป็นพลาสมาให้เคลื่อนที่พุ่งเข้าสู่ตัวมัน ด้วยความเร็วที่สูงมาก พร้อมกันนั้นพลาสมาก็จะปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาด้วย

สำหรับกรณีดาวฤกษ์ 3 ดวง ที่มีมวลแตกต่างกัน เวลาอยู่ใกล้กัน การคำนวณวิถีโคจรของดาวทั้งสาม โดยใช้ supercomputer ได้แสดงให้เห็นว่า จะมีการเกลี่ยพลังงานจลน์ที่ดาวทั้งสามดวงมี จนทำให้ดาวฤกษ์สองดาวที่มีมวลมาก จับคู่กันเป็นดาวคู่ ส่วนดาวฤกษ์ดวงที่สามซึ่งมีมวลน้อยที่สุด จะถูกอันตรกิริยาแรงโน้มถ่วงของดาวคู่เหวี่ยงให้กระเด็นหลุดออกไปจากกลุ่ม

แต่ถ้าดาวดวงที่สามเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ ซึ่งเวลาอยู่ใกล้ดาวคู่ (ที่ตามปกติจะมีมวลไม่เท่ากัน) ดาวดวงที่มีมวลน้อยจะถูกดาวนิวตรอน หรือหลุมดำ ส่งอันตรกิริยาโน้มถ่วงดึงดูด จนมันหลุดไปจากวงโคจรของการเป็นดาวคู่ แล้วหลุมดำหรือดาวนิวตรอนก็จะเคลื่อนที่เข้าไปแทนที่ดาวฤกษ์ดวงนั้นทันที


การค้นพบคลื่นโน้มถ่วง GW150914 (ตามรหัสการเรียกชื่อเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ (15) เดือนกันยายน (09) ปี 20(14)) ว่าเกิดจากการรวมตัวของหลุมดำสองหลุม นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติดาราศาสตร์ เพราะคลื่นชนิดใหม่นี้ได้เปิดประตูการสำรวจให้นักดาราศาสตร์ได้ใช้ศึกษาธรรมชาติด้านต่าง ๆ ของเอกภพ (เช่น ใช้วัดระยะทางที่ดาวฤกษ์อยู่ไกลจากโลก เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดหลัง Big Bang ภายในเศษเสี้ยววินาทีแรก ๆ เห็นการถือกำเนิดของกาแล็กซีและหลุมดำแรก ๆ ตลอดจนได้ศึกษาธรรมชาติของสสารมืดกับพลังงานมืด ฯลฯ) นอกเหนือจากการรู้จักใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อันได้แก่ แสงที่ตาเห็น รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา อนุภาค neutrino ที่เราคุ้นเคยกันดีแล้วตลอดระยะเวลาร่วม 400 ปีที่ผ่านมา

เพราะนักดาราศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลของคลื่นโน้มถ่วงในประเด็นที่เกี่ยวกับแอมพลิจูด ความถี่ และความยาวคลื่นที่เปลี่ยนแปลงไป ในการวิเคราะห์ความรุนแรงของ เหตุการณ์ Big Bang ในขณะที่คลื่นชนิดอื่นไม่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้

ในกรณีคลื่นโน้มถ่วง GW150914 ที่นักดาราศาสตร์พบว่าเกิดจากการรวมกันของหลุมดำ 2 หลุม เมื่อปี 2014 นั้น การวิเคราะห์รูปลักษณ์ของคลื่นที่อุปกรณ์ LIGO (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) ซึ่งมีแขนสองข้าง ยาวข้างละ 4 กิโลเมตร วางตั้งฉากกัน จึงสามารถวัดการขยายตัว และการหดตัวของแขนได้อย่างละเอียดถึง 1 ใน 200 ของความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางของโปรตอน (10^(-17) เมตร) ได้ จนได้พบว่าคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดขึ้น ในระยะแรก ๆ มีความถี่ 35 hertz ครั้นเมื่อหลุมดำโคจรเข้าใกล้กันมากขึ้น ๆ ความถี่ของคลื่นก็ได้เพิ่มสูงขึ้น ๆ จนในที่สุด เมื่อหลุมดำสองหลุมหลอมรวมกันเป็นหลุมดำหนึ่งเดียว คลื่นโน้มถ่วงก็สลายตัวไป

การวิเคราะห์ธรรมชาติของคลื่นโน้มถ่วงยังได้ช่วยนักดาราศาสตร์ให้สามารถวัดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของหลุมดำด้วย ดังในกรณี GW150914 นั้น นักวิจัยได้พบว่า หลุมดำมีรัศมี 160 กิโลเมตร และหมุนรอบตัวเองได้วินาทีละ 100 รอบ ซึ่งนับว่าสูงประมาณ 70% ของความเร็วสูงสุดที่หลุมดำสามารถจะทำได้

เพราะการทดสอบความถูกต้องที่สมบูรณ์แบบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยใช้ดาวฤกษ์ธรรมดา เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งมีมวลน้อย (10^30 กิโลกรัม) นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องใช้หลุมดำ หรือดาวนิวตรอน ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์เป็นล้าน ๆ เท่าในการทดสอบ ด้วยคาดหวังว่าเวลาหลุมดำชนกัน การปะทะกันอย่างมหาดุเดือดจะปลดปล่อยพลังงานจลน์ของระบบออกมาทำให้โครงสร้างของปริภูมิ-เวลา (space-time) สั่นไหว เป็นคลื่นโน้มถ่วงที่แผ่กระจายไปทั่วในอวกาศ

ครั้นเมื่อคลื่นโน้มถ่วงนี้เดินทางถึงโลก ความรุนแรงและพลังงานจะมีค่าน้อยมาก จนแทบจะไม่แตกต่างไปจากการได้ยินเสียงน้ำหนึ่งหยดตกกระทบพื้นดิน ที่อยู่ในบริเวณใกล้น้ำตกขนาดใหญ่เลย


ด้วยเหตุนี้นักดาราศาสตร์จึงต้องสร้างอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง ที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร และสามารถตรวจรับสัญญาณที่น้อยนิดได้ เพื่อแยกเสียงที่เกิดจากคลื่นโน้มถ่วงออกจากเสียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ ที่มีกระจัดกระจายเต็มไปหมดในอวกาศ การใช้อุปกรณ์ LIGO หลายเครื่อง ณ สถานที่ต่างๆ บนโลก เพื่อตรวจรับคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน จะช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้แหล่งกำเนิดคลื่น และระยะทางที่แหล่งแหล่งกำเนิดนั้นอยู่ห่างจากโลกได้


เช่น ใช้ LIGO ที่เมือง Livingston ในรัฐ Louisiana ที่มีแขนแต่ละข้างของอุปกรณ์ยาว 4 กิโลเมตร กับ LIGO ที่เมือง Hanford ในรัฐ Washington ของสหรัฐอเมริกาที่มีแขนแต่ละข้างของอุปกรณ์ยาว 2 กิโลเมตร จึงสามารถรับคลื่นโน้มถ่วงที่มีความถี่ 180 hertz ได้


ส่วนอุปกรณ์ TAMA 300 ขององค์การ National Astronomical Observatory of Japan ที่มีแขนแต่ละข้างยาว 300 เมตร สามารถรับคลื่นโน้มถ่วงที่มีความถี่ตั้งแต่ 700-1,000 hertz ได้


ด้านอุปกรณ์ GEO 600 ที่เมือง Sarstedt ในแคว้น Lower Saxony ของเยอรมนี มีแขนอุปกรณ์ยาว 600 เมตร ก็สามารถรับคลื่นโมถ่วงที่มีความถี่ 600 Hz ได้ และอุปกรณ์ VIRGO ที่ Santo Stefano a Macerata ในแคว้น Cascina ของอิตาลี อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์อิตาลีกับฝรั่งเศส ซึ่งมีแขนของอุปกรณ์ยาว 3 กิโลเมตร ก็เพื่อรับคลื่นโน้มถ่วงที่มีความถี่ 500 เฮิรตซ์ เพราะหลุมดำในเอกภพมีขนาดและมวลต่าง ๆ กัน ดังนั้นคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นเวลาหลุมดำชนกัน จึงมีความถี่ที่แตกต่างอย่างหลากหลาย เป็นแถบความถี่ที่เรียกว่า สเปกตรัมคลื่นโน้มถ่วง (gravitational wave spectrum) ในทำนองเดียวกับสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic spectrum; EM) ที่เราคุ้นเคยและรู้จักดี

ความจริงการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง GW ที่เกิดจากการชนกันระหว่างหลุมดำ (black hole; BH) ได้เริ่มต้นค้นหาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ยังไม่มีใครเคยเห็นสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการชนกันระหว่างหลุมดำเลย

จนกระทั่งปี 2017 เมื่อ Mansi M. Kasliwal กับคณะได้รายงานในวารสาร Science 10.1126/science.aup 9455 ว่า พวกเขาสามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการชนกันระหว่างดาวนิวตรอน (neutron star; NS) ได้ ซึ่งดาวทั้งคู่นี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 40% แต่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวยาวเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้นเอง (ดวงอาทิตย์ของเรามีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1.4 ล้านกิโลเมตร)


โดยทั่วไปปรากฏการณ์การชนกันระหว่างดาวนิวตรอน (NS) เป็นเหตุการณ์ในธรรมชาติที่เกิดบ่อยและซับซ้อนยิ่งกว่า ผลที่ได้จากการชนกันระหว่างหลุมดำ เพราะเศษซากที่เกิดหลังการชนกันจะพุ่งกระจัดกระจายออกมาด้วยความเร็วตั้งแต่ 10-20% ของความเร็วแสง อุณหภูมิที่สูงของซากจะทำให้มันแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EM) ออกมา และมีความความสว่างประมาณ 1,000 เท่าของดาวเดิม ในเวลาเดียวกันก็จะมีคลื่นโน้มถ่วง (GW) เกิดขึ้นด้วย นักดาราศาสตร์เรียกดาวที่เกิดใหม่ (ซึ่งจะปล่อยทั้งคลื่น GW และคลื่น EM) ว่าดาว kilonova

หลังจากที่เวลาผ่านไปนาน 2 วัน อุณหภูมิและความสว่างของ kilonova ก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันดาวที่เกิดใหม่มีธาตุหนัก เช่น ทองคำ ตะกั่ว และแพลตตินัม เกิดขึ้นด้วย


โดยสรุปเหตุการณ์ GW170817 ที่ทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า EM170817 จึงสามารถจะเรียกรวมเป็นเหตุการณ์ GW/EM 170817 หนึ่งเดียวที่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ล้านปีก่อน ณ เวลานั้นดาวซูเปอร์ยักษ์แดง (red supergiant star) ได้ยุบตัวลงเป็นดาว supernova ธรรมดาๆ จากนั้นก็ได้กลายสภาพเป็นดาว neutron แล้วดาวนิวตรอนคู่ที่เกิดใหม่ จะโคจรรอบกันและกัน การสูญเสียพลังงานจลน์ตลอดเวลาจะทำให้เกิดคลื่น GW ซึ่งมีผลทำให้วงโคจรของดาวนิวตรอนคู่มีรัศมีลดลง ๆ ตลอดเวลา และภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ดาวนิวตรอนทั้งคู่ก็จะพุ่งชนกัน ทำให้เกิดคลื่น GW ที่มีเสียง “ดัง” จน LIGO ได้ยิน และดาวนิวตรอนที่รวมตัวกันแล้วก็ทำให้ได้หลุมดำ อนึ่งในการรวมตัวกันของดาวนิวตรอน ได้มีการสลัดมวลที่มีค่าประมาณ 2-3 เท่าของดวงอาทิตย์ออกมาด้วย และมวลนี้ได้ทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า EM

การรวมตัวกันของดาวนิวตรอนยังเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้ฟิสิกส์ใหม่ๆ มากมายด้วย เช่น ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของสสารที่เกิดเวลาดาวนิวตรอนมารวมตัวกันว่า มีความแตกต่างจากสสารธรรมดาทั่วไปอย่างไร สสารใหม่มีสมการสถานะ (Equation of State; EOS) รูปแบบใด สมการนี้ขึ้นกับขนาด มวล อุณหภูมิ ประจุ และอันตรกิริยานิวเคลียร์อย่างไร สสารใหม่จะมีโอกาสเป็นสสารมืดได้หรือไม่ และการรวมตัวกันนี้จะทำให้เกิดธาตุใหม่ ๆ ที่โลกยังไม่รู้จักเลย ได้หรือไม่ เพราะนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่า การรวมกันระหว่างดาวนิวตรอน อาจจะทำให้เกิดมีอนุภาค axion ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นและพบเลย แม้แต่ในทฤษฎี Standard Model


ถ้าอนุภาค axion มีจริง อนุภาคนี้ก็จะสลายตัวให้รังสีแกมมาที่สามารถตรวจจับได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เช่น กล้อง Fermi และถ้าเหตุการณ์ axion สลายตัวนี้เกิดขึ้นจริง axion ก็จะทำหน้าที่เสมือนประตูที่เชื่อมโยงระหว่างเอกภพที่ตาเห็นกับเอกภพของสสารมืดที่ตามองไม่เห็น อันเป็นเอกภพที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เกี่ยวกับเอกภพใหม่มากเลย

เมื่อเส้นทางชีวิตของดาวฤกษ์ส่วนใหญ่มักจะสิ้นสุด เวลาดาวฤกษ์ได้กลายสภาพเป็นดาวนิวตรอน (NS) หรือหลุมดำ (BH) ส่วนจะเป็นชนิดใดนั้นก็ขึ้นกับมวลของดาวฤกษ์ เพราะเวลาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีในดาวฤกษ์ได้ถูกนำไปใช้ในการทำปฏิกิริยา fusion จนหมด แรงดันออกภายในดาวที่เกิดขึ้นจะมิสามารถต่อต้านแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดเนื้อดาวให้ยุบตัวอีกต่อไป แล้วแรงดันมหาศาลจะบังคับให้อนุภาคโปรตอนที่มีประจุบวกรวมตัวกับอนุภาคอิเล็กตรอนที่มีประจุลบ กลายเป็นอนุภาคนิวตรอนที่เป็นกลาง คือ ไม่มีประจุจนหมด


เนื้อดาวนิวตรอนจึงมีแต่นิวตรอนเป็นส่วนใหญ่ และความหนาแน่นที่ระดับลึกต่าง ๆ กัน จะมีค่าต่าง ๆ กัน เช่น ความหนาแน่นที่ผิวดาวนิวตรอนจะมีค่าโดยประมาณเท่ากับความหนาแน่นของนิวเคลียสในอะตอม คือ (2x(10^17) กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร) แต่ที่ระดับลึกมาก ความหนาแน่นของเนื้อดาวจะสูงกว่านี้มาก จนไม่มีใครรู้ชัดว่าความหนาแน่นที่แก่นกลางของดาวนิวตรอนจะมีค่าสูงเพียงใด และเนื้อดาวจะเป็นสสารชนิดใหม่ในรูปแบบใด เพราะความหนาแน่นที่แก่นกลางของมันจะมีค่าสูงมาก จนเราอาจกล่าวได้ว่า มันเป็นสสารรูปแบบใหม่ และมีคุณสมบัติมากมายที่ควบคุมความเข้มของสนามแม่เหล็กดาว อีกทั้งกำหนดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอนด้วย

ณ วันนี้ การค้นหาสมการสถานะ Equation of State; EOS) ของดาวนิวตรอนกำลังเป็นปัญหาสำคัญ เพื่อใช้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ความดัน และขนาดของดาว ว่าขึ้นกันอย่างไร โดยนักฟิสิกส์ที่ห้องปฏิบัติการในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี เช่นที่ Facility for Rare Isotope Beams (FRIB) ในสหรัฐอเมริกา ที่ RIKEN Nishina Center for Accelerator-Based Science (RNC) ในญี่ปุ่น และที่ Helmholtz Centre for Heavy Ion Research (GSI) ในเยอรมนี

อ่านเพิ่มเติมจาก
“Determination of the equation of state from nuclear experiments and neutron star observations” โดย Chun Yuen Tsang Nature Astronomy (2024) DOI: 10.1038/s41550-023-02164-9


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น