“พญ.เพชรดาว” ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี 20 เม.ย.นี้ ประชุมสร้างการรับรู้และเครือข่ายความร่วมมือโครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ขณะที่ กปว.สำนักปลัด อว.ชู soft power ซีรีย์นมแพะชายแดนใต้ จับมือเครือข่ายอุดมฯ เปิดตลาดฮาลาลให้ใหญ่ขึ้น
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.นายเอกพงค์ มุสิกะเจริญ ผอ.สำนักส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ตน ลงพื้นที่ที่ฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริบ้านปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างการรับรู้และเครือข่ายความร่วมมือภายใต้โครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว.เป็นประธาน ทั้งนี้ สำนักงานปลัด อว. ได้ร่วมกับเครือข่ายอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดทำโครงการการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 - 2566 โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์และสร้างความยั่งยืนให้กับกิจกรรมเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ผอ.กปว. กล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 กปว. ได้ร่วมกับ เครือข่ายอุดมศึกษาศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อดำเนินการใน 6 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์ในการปรับปรุงดินและระบบน้ำให้เหมาะกับพื้นที่ สำหรับเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสูตรอาหารหมักคุณภาพสูงต้นทุนต่ำและเตรียมพร้อมสำหรับการขยายผลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ 2.สร้างความรู้ความเข้าใจในการควบคุมคุณภาพน้ำนมแพะ เพื่อให้มีน้ำนมดิบคุณภาพดีนำไปแปรรูป เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น 3.เตรียมพร้อมสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐานและพัฒนาบุคลากรให้กับเครือข่ายอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อรองรับการเป็น OEM หรือการผลิตในรูปแบบโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามความต้องการ และขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น 4.พัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมเพื่อให้สามารถขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และโรงเรือนได้ 5.สร้างการรับรู้และเชื่อมโยง soft power ด้วยซีรีย์นมแพะ ภาคใต้ชายแดน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน และ 6.จัดการผลิตแบบร่วมกันผลิตเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจรองรับการผลักดันการเปิดตลาดฮาลาลให้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการต่อยอดการสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนได้