xs
xsm
sm
md
lg

สุริยุปราคาในอดีตถึงอนาคตอีกพันล้านปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานี้ ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในท้องฟ้าเหนือสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้คนนับล้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐ Texas ตลอดไปจนถึงรัฐ Maine ได้เห็นเหตุการณ์อย่างเต็มตาด้วยความตื่นเต้น เมื่อท้องฟ้าในวันนั้นได้มืดสลัวลง จนทำให้ผู้คนสามารถเห็นดาวในท้องฟ้าได้ในเวลากลางวัน แล้วฟ้าก็กลับสว่างอีกเป็นคำรบสองในวันเดียวกัน


ด้านนักฟิสิกส์ก็สนใจและตื่นเต้นกับการได้สังเกตเห็นเหตุการณ์นี้ไม่แพ้คนทั่วไป เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาธรรมชาติของบรรยากาศเหนือผิวดวงอาทิตย์ (ที่เรียกว่า corona) อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดอุณหภูมิของ corona จึงสูงถึง 2 ล้านองศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิที่ผิวดวงอาทิตย์มีค่าเพียง 5,500 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง

การรู้สาเหตุที่ทำให้ corona มีอุณหภูมิสูงมากเช่นนี้ จะเป็นกุญแจเปิดเส้นทางให้นักฟิสิกส์สามารถเนรมิตปฏิกิริยา fusion บนโลกได้ แล้วนำพลังงานรูปแบบนี้มาใช้ในการขับเคลื่อนจรวดเพื่อเดินทางไปต่างดาวได้ภายในเวลาที่เหมาะสม เช่น จรวดที่ขับเคลื่อนโดยพลังงาน fusion จะเดินทางถึงดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์ได้ภายในเวลาเพียง 2 ปี แทนที่จะเป็น 4 ปี ถ้าใช้จรวดเชื้อเพลิงธรรมดา


นอกจากจะสนใจเรื่องธรรมชาติของ plasma ใน corona แล้ว นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ก็ยังสนใจการเกิดพายุสุริยะ (solar storm) ซึ่งเป็นกระแสอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์มาสู่โลก ตลอดจนถึงการระเบิดที่ผิวดวงอาทิตย์อย่างรุนแรง จนทำให้พลาสมามวลมหาศาลหลุดจากผิวพุ่งมาสู่โลก (Coronal Mass Ejection; CME)


ซึ่งถ้าพลาสมาร้อนมวลมหาศาลนี้พุ่งชนโลก ความหายนะก็จะบังเกิด เพราะพายุประจุไฟฟ้าจะรบกวนหรือทำลายระบบการสื่อสารของโลก จะทำร้ายมนุษย์อวกาศที่ทำงานอยู่นอกยานอวกาศจนเสียชีวิต และพลาสมาร้อนจะทำให้บรรยากาศของโลกมีความหนาแน่นน้อยลง ซึ่งมีผลทำให้วงโคจรของดาวเทียมและสถานีอวกาศลดลงมาเสียดสีกับบรรยากาศเบื้องล่าง จนลุกไหม้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จึงมีความประสงค์จะรู้เวลาที่เกิดพายุสุริยะ และ CME ตลอดจนถึงความรุนแรง เพื่อหาวิธีป้องกันภัยล่วงหน้าให้แก่ประชากรโลก

ในอดีต เวลาที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เป็นช่วงเวลาเดียวที่นักฟิสิกส์สามารถสังเกตและศึกษา corona ได้ แต่ปัจจุบัน เราสามารถใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (space telescope เช่น Chandra, Compton, James Webb ฯลฯ) สังเกตดูดวงอาทิตย์ได้แล้ว ด้วยการใช้แผ่น disc ปิดดวงอาทิตย์ โดยไม่จำเป็นต้องคอยให้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงอีกต่อไป


นับตั้งแต่สมัยโบราณ ชนชาติต่างๆ ทั้งใน Babylon, Egypt, Greece, China, Persia, India, Peru และ Japan ฯลฯ มักเชื่อว่า สุริยุปราคาเป็นเหตุการณ์บอกลางร้ายที่จะเกิด เช่น กษัตริย์จะสิ้นพระชนม์ โรคร้ายจะระบาด แผ่นดินจะไหว มหาอุทกภัยจะเกิด และภูเขาไฟจะระเบิด ฯลฯ เพราะดวงอาทิตย์ได้ถูกอสูรกายบนสวรรค์จับกลืน ดังนั้นผู้คนจึงพากันตีกลอง ฆ้อง ระฆัง ปี๊บ ฯลฯ เพื่อให้ภูติร้ายตกใจกลัว และคายดวงอาทิตย์กลับออกมา ซึ่งก็ “ได้ผล” เพราะดวงอาทิตย์ได้กลับมาส่องแสงสว่างให้มวลมนุษยชาติได้มีชีวิตอยู่ต่อทุกครั้งไป


จารึกอักษรลิ่มบนแผ่นดินเหนียว (cuneiform) ที่พบ ณ เมือง Ugarit ในดินแดน Mesopotamia ได้กล่าวถึงความรู้สึกของชาวเมือง เมื่อ 2,350 ปีก่อนคริสตกาลว่า เวลาเกิดสุริยุปราคา ชาวเมืองได้รู้สึกเสมือนว่าถูกเทพดวงอาทิตย์ทรงทอดทิ้งให้ชาวเมืองต้องเผชิญปีศาจร้ายตามลำพัง

ในวันที่ 28 พฤษภาคม เมื่อ 593 ปีก่อนคริสตกาล Herodotus (484–425 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์กรีกได้เคยบันทึกว่า เป็นช่วงเวลาที่ชาว Medes ทำสงครามกับชาว Lydia ทันทีที่เกิดสุริยุปราคา ทหารของทั้งสองฝ่ายได้พากันวางอาวุธ เพราะเชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ทรงบัญชาให้ยุติการสู้รบ

ชนชาว Aztec ในทวีปอเมริกากลางที่เจริญรุ่งเรืองมากในช่วงปี 1300-1521 ก็เชื่อว่า เวลาเกิดเหตุการณ์สวรรค์มืดในเวลากลางวันแสก ๆ ปีศาจจะออกมาอาละวาดกินคนแคระและคนพิการ เพื่อให้เทพ Xolotl แห่งฟ้าและไฟทรงพอพระทัย


ด้านชาว Viking ใน Scandinavia เชื่อว่า เมื่อสุนัขจิ้งจอก Sköll จับดวงอาทิตย์ได้ และกลืนลงท้อง สุริยุปราคาจะบังเกิด สำหรับชาวเวียดนามโบราณก็มีเรื่องเล่าว่า เวลากบยักษ์ที่อาศัยอยู่บนสวรรค์กลืนดวงอาทิตย์ เหตุการณ์สุริยคราสก็จะเกิด และชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือ เวลาเห็นดวงอาทิตย์หายไปจากท้องฟ้า มักจะพากันยิงธนูไฟขึ้นท้องฟ้า เพื่อให้ดวงอาทิตย์ลุกเป็นไฟ และก็ “ได้ผล” อีกเช่นเคย

ในปี 498 นักดาราศาสตร์ชาวอินเดีย Aryabhata (476-550) ได้พยายามพยากรณ์วันเวลาที่จะเกิดสุริยคราส

ในปี 968 Leo Diaconus (Leo the Deacon) (950-992) นักประวัติศาสตร์กรีก ได้จดบันทึกการเห็นแสงสว่างที่ปรากฏเป็นวงกลมรอบเงามืดของดวงจันทร์ (corona) เป็นครั้งแรก

ด้าน Ibn al-Jaros (895-976) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวอาหรับ ที่กรุง Baghdad ได้กล่าวถึงอุณหภูมิของอากาศในวันที่เกิดสุริยุปราคาว่า ได้ลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้ฝูงนกกาหลงเวลา และได้พากันบินกลับรังเร็วกว่าเวลาที่ควร


เมื่อจักรพรรดิ Charlemagne (747-814) แห่งอาณาจักรโรมัน ทรงทอดพระเนตรเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง พระองค์ทรงตกพระทัยกลัวมาก จนพระหทัยวาย จากนั้นจักรวรรดิโรมันก็ได้เริ่มล่มสลาย

ในปี 1600 บาทหลวง Matteo Ricci (1552-1610) ได้เริ่มสอนวิชาดาราศาสตร์ให้คนจีนได้เรียนรู้ และเข้าใจ

ในปี 1608 Galileo Galilei (1564-1642) เป็นบุคคลแรกที่ใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจดวงดาว และได้เห็นเทือกเขาบนดวงจันทร์ พบดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดี และเห็นวงแหวนของดาวเสาร์

เมื่อเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผลงานดาราศาสตร์ของ Galileo Galilei (1564-1642), Isaac Newton (1642–1727) และ Johannes Kepler (1571-1630) ได้ทำให้ผู้คนเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ธรรมชาติมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา

ที่ Austria ในปี 1868 นักดาราศาสตร์ Theodor von Oppolzer (1841–1886) ได้บันทึกประวัติการเกิดสุริยุปราคาตั้งแต่เมื่อปี 1208 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปี 1868


ที่ Munich ใน Germany เมื่อปี 1851 นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวที่นั่นได้ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นครั้งแรก

ที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 เมษายน ปี 1912 ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยคราสเต็มดวงเหนือกรุง Paris และผู้คนจำนวนมากปักใจเชื่อว่า นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรือ Titanic อับปาง

คำว่า อุปราคา ตรงกับคำ eclipse ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากคำ ekleipsis ในภาษากรีก ที่แปลว่า จับหรือยึด ดังนั้นคำนี้จึงเหมาะสำหรับการใช้บรรยายเหตุการณ์ที่โลกถูกดวงจันทร์บดบังแสงจากดวงอาทิตย์ เมื่อดาวทั้งสามดวงโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน (สุริยุปราคา) ส่วนจันทรุปราคานั้น เป็นเหตุการณ์ที่ดวงจันทร์ถูกโลกบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงามืดที่ผิวดวงจันทร์


สุริยุปราคามีสามรูปแบบ คือ แบบวงแหวน แบบบางส่วน และแบบเต็มดวง ซึ่งแบบแรกนั้นเกิดจากการที่ดวงจันทร์เป็นทรงกลมที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ ดังนั้นวงแหวนที่เห็นจึงเป็นวงแหวนเกือบสมบูรณ์ แต่ถ้าดวงจันทร์มีรูปทรงไม่กลม เช่น ดวงจันทร์ Deimos และ Phobos ของดาวอังคาร ปรากฏการณ์สุริยุปราคาสำหรับคนที่ยืนอยู่บนดาวอังคารก็จะปรากฏเป็นวงแหวนที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้เพราะดวงจันทร์ทั้งสองมีรูปทรงบิดเบี้ยวไม่เป็นทรงกลม หรือในกรณีดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 146 ดวง ถ้าเราสามารถไปสังเกตดูสุริยุปราคาบนดาวเสาร์ได้ เราก็จะเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยในวันหนึ่ง ๆ จะเห็นเหตุการณ์หลายครั้ง และส่วนใหญ่จะเป็นแบบวงแหวน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนั้น ก็เพราะดวงจันทร์ของโลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 3,476 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลก 396,059 กิโลเมตร ส่วนดวงอาทิตย์มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1.3927 ล้านกิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลก 149 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์/ดวงจันทร์จึงเท่ากับ 400.66:1 และอัตราส่วนระหว่างระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก/ระยะทางจากดวงจันทร์ถึงโลก จึงมีค่า 396.21 ซึ่งมีค่าโดยประมาณเท่ากัน คือ 400:1

ด้วยเหตุนี้เวลาเราดูดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ เราจึงเห็นดาวทั้งสองดวงมีขนาดพอๆ กัน ทำให้ดวงจันทร์สามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้มืดสนิท

แต่ในอนาคตอีกพันล้านปี เราจะไม่มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้อีก เพราะดวงจันทร์กำลังถอยห่างจากโลกไปประมาณปีละ 3.8 เซนติเมตร ดังนั้นจากนี้อีก 150 ล้านปี เราก็จะเห็นแต่สุริยุปราคาวงแหวน

ในทำนองตรงกันข้าม เมื่อ 2,500 ล้านปีก่อนนี้ ดวงจันทร์เคยอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 87% ของระยะทางปัจจุบัน ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สุริยุปราคาเต็มดวงได้เกิดบ่อยกว่าในปัจจุบันมาก

ส่วนสาเหตุของการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนนั้นก็เนื่องจากการที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มิได้อยู่ในเส้นตรงแนวเดียวกัน ดังนั้นการบดบังดวงอาทิตย์โดยดวงจันทร์จึงทำได้ไม่ 100% เต็มไม่มิด และเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจน้อยกว่ากรณีสุริยุปราคาแบบเต็มดวงมาก


ดังกรณีสุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1919 ซึ่ง Arthur Eddington (1882-1944) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ใช้ปรากฏการณ์นี้ พิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปโดย Albert Einstein (1879-1955) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน โดยในเวลานั้นกำลังเป็นศัตรูกับอังกฤษว่า ทฤษฎีของ Einstein มีความถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งกว่าทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Isaac Newton และผลที่ตามมา คือ ชื่อเสียงของ Einstein ได้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกอย่างอมตะนิรันดร์กาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อว่า เหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในอนาคตอีกพันล้านปีจะไม่มี เพราะดวงอาทิตย์ของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ ตลอดเวลา และกำลังเปลี่ยนสภาพจากดาวแคระเหลือง (yellow dwarf) ไปเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ที่มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นดวงจันทร์ก็จะบดบังดวงอาทิตย์ในอนาคตไม่ได้มิดอีกต่อไป

ข้อมูลปัจจุบันได้แสดงให้เราเห็นว่า ดวงอาทิตย์มีมวล 1.989x10^30 กิโลกรัม คือ มากกว่าโลกประมาณ 333,000 เท่า มีรัศมียาวประมาณ 109 เท่าของโลก มีอุณหภูมิที่จุดศูนย์กลาง 15.4 ล้านองศาเซลเซียส สามารถสร้างพลังงานแสงและพลังงานความร้อนได้ โดยการเผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนวินาทีละประมาณ 4 ล้านตัน โดยใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบ fusion จากตัวเลขทั้งหมดนี้ นักดาราศาสตร์ก็สามารถพยากรณ์ได้ว่า ในอนาคตอีก 5,000 ล้านปี ดวงอาทิตย์ของเราจะดับ

เพราะปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบ fusion ที่ hydrogen ได้หลอมรวมกันเป็น helium ได้ทำให้บริเวณแก่นกลางของดวงอาทิตย์มี helium สะสมกันมากขึ้น ๆ และบริเวณนอกแก่นมี hydrogen น้อยลง ๆ


เมื่อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่แก่นกลางของดวงอาทิตย์มีปริมาณน้อยลง ๆ แรงดันออกของรังสีที่จะต่อต้านแรงโน้มถ่วงที่ดึงมวลเข้า ก็จะน้อยลง ๆ ด้วย helium ที่แก่นกลางจะถูกกดดันให้มีปริมาตรน้อยลง และมีอุณหภูมิสูงขึ้น พลังงานความร้อนจะทำให้เปลือก hydrogen ที่ห่อหุ้มแก่นกลางขยายตัว ดาวจะส่องสว่างมากขึ้น จนกลายเป็นดาวยักษ์แดงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 8,000 ล้านกิโลเมตร คือ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ปัจจุบันตั้งแต่ 100-1,000 เท่า ในกรณีดาวที่มีขนาดใหญ่ พลังงานความร้อนในตัวดาวจะกระจายไปทั่วผิว ทำให้ผิวดาวมีอุณหภูมิตั้งแต่ 2,200-3,200 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่ “ต่ำ” เช่นนี้ จะทำให้แสงดาวปรากฏเป็นสีแดง ดาวจึงเป็นดาวยักษ์แดง (นี่เป็นคำที่อ้างถึงรูปร่างของดาว คือ ใหญ่เหมือนยักษ์ มากกว่าที่จะอ้างถึงนิสัยอันธพาลของดาว) และเมื่อถึงเวลานั้น โลก และดวงจันทร์ก็จะถูกดวงอาทิตย์กลืนหายไปอย่างสมบูรณ์ จึงไม่มีปรากฏการณ์สุริยุปราคาให้โลกได้เห็นอีกเลย

ตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นความสมบูรณ์แบบของสุริยุปราคาแตกต่างกัน สำหรับคนที่อยู่บนบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะเห็นดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์หมด 100% แต่คนที่ยืน ณ ตำแหน่งขั้วโลกจะเห็นดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ได้ประมาณ 20% เท่านั้นเอง

เมื่อความเร็วของดวงจันทร์ขณะโคจรรอบโลกมีค่าไม่สม่ำเสมอ เพราะวงโคจรของมันเป็นวงรี ขณะดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมันจะมีความเร็วสูง และเวลาอยู่ไกลโลกมันจะมีความเร็วต่ำ ความเร็วในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ก็มีค่าไม่สม่ำเสมอเช่นกัน ดังนั้นเงามืดของดวงจันทร์ที่ทอดผ่านผิวโลกจึงมีความเร็วไม่สม่ำเสมอตามไปด้วย จะอย่างไรก็ตามในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก เวลาที่สุริยุปราคาจะเกิดได้นานที่สุดมีค่า ไม่เกิน 7.5 นาที


Jules Janssen (1824–1907) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งที่สนใจและติดตามดูสุริยุปราคาทุกครั้งไป ในปี 1870 ขณะ Paris ถูกกองทหาร Prussian ห้อมล้อม Janssen ได้นั่งบอลลูนหนีการจับกุม เพื่อไปสังเกตดูสุริยุปราคาที่ประเทศ Algeria ในแอฟริกา และ Janssen ผู้นี้เอง คือ คนที่ได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์บนยอดเขา Mont Blanc ของฝรั่งเศส เพื่อสังเกตดูสเปกตรัมของแสงอาทิตย์ และได้พบธาตุใหม่ คือ ธาตุ helium (ที่ยังไม่มีใครเคยพบมาก่อนบนโลก) โดย Janssen ได้ชื่อนี้จากคำ Helios ซึ่งเป็นชื่อของสุริยเทพ และ helium เป็นธาตุที่มีในปริมาณมากเป็นอันดับสองของเอกภพ รองจาก hydrogen


ครั้นถึงยุคของเครื่องบินเจ็ท ในปี 1973 นักดาราศาสตร์ในเวลานั้นได้ติดตามดูเหตุการณ์สุริยุปราคา โดยใช้เครื่องบิน Concorde ที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง เป็นเวลานานถึง 74 นาที

สำหรับคำถามเรื่องช่วงเวลาที่เราสามารถเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้นั้น ก็มีปัจจัยกำกับและควบคุมเรื่องนี้หลายเรื่อง เช่น ระยะทางที่ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก และความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก เพราะโลกเราหมุนช้าลงประมาณ 0.0023 วินาที/ศตวรรษ จากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กระทำต่อน้ำในมหาสมุทรบนโลก

ตัวแปรเหล่านี้ ล้วนมีบทบาทในการทำให้ความสามารถพยากรณ์เวลาที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในอดีต แต่ในปัจจุบันเราสามารถทำได้แล้ว โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แทนการใช้สมองคำนวณอันตรกิริยาโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ โลกกับดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโจทย์กลศาสตร์ของวัตถุ 3 ก้อน (three-body problem) ที่คำตอบไม่มีสูตรสำเร็จ


ความรู้สุริยุปราคาปัจจุบันยังช่วยให้เรารู้อีกว่า พระเยซูสิ้นพระชนม์จากการถูกตรึงบนไม้กางเขน เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 30 หรือวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.33 เพราะในวันดังกล่าว คัมภีร์ไบเบิลของนักบุญได้บันทึกการเกิดสุริยคราสเหนือกรุง Jerusalem

พระพุทธเจ้าของเราประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันที่เท่าไร

ในขณะที่เรายังไม่รู้คำตอบนี้ แต่เราก็รู้ว่า ในอนาคตอีก 10 ปี จะมีเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นเหนือสถานที่ต่าง ๆ ของโลก ดังต่อไปนี้

วันที่ 12 สิงหาคม ปี 2026 ที่ Iceland, Greenland, ทางตอนเหนือของรัสเซีย ฯลฯ เป็นเวลานาน 2 นาที 18 วินาที
วันที่ 2 สิงหาคม ปี 2027 ที่ Egypt, Spain, Tangier, Saudi Arabia เป็นเวลานาน 6 นาที 23 วินาที
วันที่ 22 กรกฎาคม ปี 2028 ที่ Australia, New Zealand เป็นเวลานาน 5 นาที 10 วินาที
วันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 2030 ที่ Namibia, Botswana, South Africa เป็นเวลานาน 3 นาที 44 วินาที
วันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2031 ที่ Hawaii เป็นเวลานาน 1 นาที 8 วินาที
วันที่ 30 มีนาคม ปี 2033 ที่ Alaska, Russia เป็นเวลานาน 2 นาที 37 วินาที
และในวันที่ 20 มีนาคม ปี 2034 ที่ Iran, Benin, Nigeria, Pakistan, India, China เป็นเวลานาน 4 นาที 9 วินาที

อ่านเพิ่มเติมจาก American Eclipse โดย David Baron จัดพิมพ์โดย Liveright ปี 2017


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น