xs
xsm
sm
md
lg

คณิตศาสตร์จีนโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 1984 คณะนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์จีนได้ขุดหลุมฝังศพหมายเลข 247 ในสุสานใกล้เมือง Zhangjiashan ของมณฑล Hubei และพบเอกสารซึ่งระบุว่า ชายคนที่อยู่ในหลุมนี้ในสมัยเมื่อ 186 ปีก่อนคริสตกาล เป็นทหารธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียงใด ๆ ขณะมีชีวิตอยู่ ได้เคยถวายงานแด่ จักรพรรดิ Qin shi Huang Di (จิ๋นซีฮ่องเต้) ผู้ทรงปราบอริราชศัตรูจนราบคาบ เมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้พระองค์ทรงสามารถรวบรวมรัฐจีนต่าง ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายมาเป็นอาณาจักรจีนที่ยั่งยืนตราบจนทุกวันนี้


ครั้นเมื่อจักรพรรดิจิ๋นซีเสด็จสวรรคตเมื่อ 210 ปีก่อนคริสตกาล พระศพถูกอัญเชิญไปฝังในสุสานที่มีทหารรูปปั้นดินเผาห้อมล้อมเต็ม แม้ช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์จะเป็นเวลามินาน แต่ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ที่พระองค์ทรงริเริ่มก็ยังมีคนจีนปฏิบัติให้เห็นตราบจนวันนี้

หลักฐานที่ปรากฏในโลงศพของชายคนนั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ตายในหลุม 247 เคยมีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ Han ครั้นเมื่อนักวิจัยได้พิจารณาสิ่งต่าง ๆ เช่น หนังสือ จาน ตะเกียบ หม้อ รองเท้า ฯลฯ ที่ญาติ ๆ ใส่ไว้โลงศพเพื่อให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในปรภพ ทีมนักโบราณคดีก็ได้พบวัสดุชิ้นหนึ่งเป็นตำราคณิตศาสตร์ที่นับว่าเก่าแก่และโบราณมากที่สุดของจีน

ก่อนปี 1983 คนทั้งโลกเคยเชื่อว่า ตำรา Chou-pei ที่คนจีนเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ได้รวบรวมสถานภาพทางคณิตศาสตร์ของจีนเมื่อ 100 ปีก่อนคริสตกาลว่า เป็นตำราคณิตศาสตร์ที่เก่าแก่มากที่สุด และตำราที่มีอายุรองลงมาคือ Chiu-chang, Suan-shu (Nine Chapters on Mathematical Procedures) ที่ไม่ปรากฏชื่อคนเรียบเรียง และเวลาที่ถูกจัดทำ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้นจักพรรดิจิ๋นซีได้ทรงบัญชาให้เผาหนังสือทุกเล่ม และทรงโปรดให้ทหารขุดหลุมฝังปัญญาชนจีนทุกคนทั้งเป็น แต่ตำรายังเล็ดรอดมาได้ และในเวลาต่อมา ปราชญ์ชื่อ Chang Tsang ก็ได้เขียนตำราเพิ่มเติม หลังจากที่จักรพรรดิจิ๋นซีสวรรคตแล้ว


ตำรายังมีสูตรการหาปริมาตรของปริซึม ทรงกระบอก และพีระมิดด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีโจทย์ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น กำหนดให้กำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้ทุกด้านของกำแพงมีประตูเมืองอยู่ที่จุดกึ่งกลาง ณ ที่ห่างจากประตูเมืองไปทางทิศเหนือ 20 ก้าว มีต้นไม้ต้นหนึ่ง ให้ชายคนหนึ่งเดินทางออกประตูเมืองทางใต้ไป 14 ก้าว แล้วเดินต่อไปทางทิศตะวันตก 1,775 ก้าว เขาก็เห็นต้นไม้นั้นพอดี ถามว่ากำแพงเมืองมีความยาวเท่าใด (คำตอบคือ 200 ก้าว)

การพบตำราคณิตศาสตร์ในหลุมศพได้ทำให้เอกสาร Suan shu-shu (Writings on Reckoning งานเขียนเรื่องการคำนวณ) เป็นตำราคณิตศาสตร์จีนที่โบราณที่สุด ตัวตำราทำด้วยไม้ไผ่ที่มีอักษรจารึกบนซี่ไม้ไผ่ด้วยหมึกสีดำ แล้วซี่ไม้ไผ่ทั้ง 1,200 ซี่ ได้ถูกนำมาเรียงกันเพื่อใช้เชือกมัดให้เรียงกันเป็นแผง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เชือกได้เปื่อยขาด ทำให้ซี่หลุดกระจายจากแผง

หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามนาน 17 ปี ทีมนักโบราณคดีก็ประสบความสำเร็จในการนำซี่ไม้ไผ่ทั้งหมดมาวางเรียงกันได้อย่างถูกลำดับ และพบว่านอกจากจะมีเนื้อหาทางคณิตศาสตร์แล้ว ตำรายังมีเนื้อหาด้านกฎหมาย ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ ด้วย


Christopher Cullen แห่ง Needham Research Institute ของมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในทีมวิจัยร่วมกับนักประวัติศาสตร์จีนกล่าวว่า มันเป็นตำราที่ได้เก็บรวบรวมโจทย์คณิตศาสตร์ 60 ข้อ มารวบรวมไว้ ในโจทย์แต่ละข้อ มีวิธีทำและคำตอบ บางข้อมีวิธีหาคำตอบได้หลายวิธี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนที่เขียนคำตอบมีหลายคน เช่น Wang กับ Yang ซึ่งต่างก็ได้ใส่ชื่อของตนเป็นหลักฐาน

ตำรา Suan shu shu ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการคิดด้านคณิตศาสตร์ของจีนตั้งแต่สมัยโบราณ และได้กล่าวถึงการเปลี่ยนความคิดของนักคณิตศาสตร์ตะวันตกที่เคยคิดกว่า นักคณิตศาสตร์จีนโบราณสนใจแต่โจทย์ประยุกต์ กลับเป็นว่าโจทย์คณิตศาสตร์ของจีนโบราณมีทั้งบริสุทธิ์ และประยุกต์ เพื่อรับใช้สังคมด้วย

การพบตำรา Suan shu shu ยังทำให้ทุกคนรู้อีกว่า ถ้าใครได้อ่านตำรานิ้ คนอ่านจะสามารถทำบัญชีและคำนวณโจทย์ง่าย ๆ ได้ เพราะตำรามีโจทย์ลับสมองและโจทย์ประยุกต์ที่หลากหลาย

Cullen ยังได้พบอีกว่า ในสมัยก่อนเวลาใครพบวิธีคิดอะไรใหม่ๆ ได้ ก็จะบันทึกความรู้ที่พบลงบนซี่ไม้ไผ่ แล้วนำมารวบรวมเป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้อ่าน ส่วนเหตุผลที่ต้องนำตำราไปให้คนตายอ่านนั้น เพราะคนจีนเชื่อว่าหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว คนดีจะได้ไปสวรรค์ และจะได้ทำงานชนิดเดียวกันบนสวรรค์ต่อไป ดังนั้น ชายที่ถูกฝังในหลุม 247 ก็คงได้พักผ่อนหลังชั่วโมงทำงาน ด้วยการทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่มีในตำรานั้นอย่างแน่นอน


ความจริงคณิตศาสตร์ในสังคมจีนโบราณเมื่อแรกเริ่มนั้น ได้มุ่งตรงไปที่การศึกษาดาราศาสตร์ เพื่อหาวิธีสร้างปฏิทินสำหรับใช้ในการหาเวลาที่เหมาะสม สำหรับการเพาะปลูกและทำพิธีกรรมต่าง ๆ มิใช่หาโครงสร้างคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม และได้พัฒนาเทคนิคการคำนวณในวิชาพีชคณิต แต่จีนมีปัญหาด้านภูมิศาสตร์ เพราะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ การสื่อสารจึงมีปัญหา เพราะคนในแต่ละท้องถิ่นใช้ภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ทฤษฎีและหลักการทางคณิตศาสตร์จึงถูกค้นพบโดยบุคคลที่แตกต่างกัน เช่น มีการอ้างว่า ขุนนาง Zhou เป็นผู้พบทฤษฎี Pythagoras และ Shen Kuo คือผู้พบ ก่อน Blaise Pascal (1623-1662) ถึงหลายร้อยปี แต่การอ้างเหล่านี้มักปราศจากหลักฐาน


ดังนั้นโดยสรุป ประวัติคณิตศาสตร์ของจีนก่อนยุคราชวงจิ๋นจึงไม่สมบูรณ์ เพราะเอกสารจำนวนมากถูกทำลาย และผู้คนที่รอบรู้หลายคนถูกฆ่า แต่เราปัจจุบันก็ยังรู้ความสามารถของปราชญ์จีนในด้านอื่น ๆ เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ ตลอดจนถึงศาสนสถาน และวัด รวมทั้งสุสานที่ได้รับการออกแบบโดยต้องใช้โครงสร้างทางเรขาคณิตซึ่งได้มาจากการคำนวณด้วยการใช้สูตรปริมาตร และอัตราส่วน

ครั้นถึงยุคราชวงศ์ Han จีนก็มีการจัดการเรื่องการเขียนตัวเลข ทศนิยม และใช้แท่งไม้ (chousuan) ในการนับ นักคณิตศาสตร์จีนชื่อ Liu Xu (46-23 ปีก่อนคริสตกาล) และ Zhang Heng (ค.ศ. 78-139) ได้คำนวณคำ ¶ (pi) ที่ละเอียดและถูกต้องยิ่งกว่านักคณิตศาสตร์จีนคนใดในอดีต Zhang ยังมีผลงานด้านดาราศาสตร์ด้วย


ส่วนตำรา Chiu-chang, Suan Shu นั้น ได้รับการเขียนขึ้นเมื่อประมาณ 300-200 ปีก่อนคริสตกาล นับเป็นตำราที่มีอิทธิพลมากในการใช้สอนคณิตศาสตร์ให้คนจีนเรียน เพราะมีโจทย์ 246 ข้อ มีสมการเชิงเส้นที่ต้องแก้ และมีสอนการใช้ เลขจำนวนบวก กับจำนวนลบ มีการเสนอจัตุรัสกล ขนาด 3 × 3 ที่มีเลขตั้งแต่ 1-9 ลงในแต่ละช่อง โดยผลรวมของจำนวนทั้งหมดในแนวตั้ง แนวนอน และแนวทแยง มีค่าเท่ากันหมด คือ 15 และจำนวนในแต่ละช่องไม่ซ้ำกัน


เพราะในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์ Ming ได้มีปราชญ์จีนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักเกษตรกรรม และนักมานุษยวิทยา ซึ่งได้ช่วยสอนชาวจีนจำนวนนับแสนคนให้รอดพ้นจากวินาศภัย ด้วยการออกแบบเขื่อนกั้นน้ำ และขุดคลองทดน้ำ รวมถึงสอนให้รู้จักนำพืชที่สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำมากให้ชาวบ้านปลูก บุคคลผู้นี้ ได้นำความรู้ดาราศาสตร์ของโลกตะวันตกมาใช้ในการปรับปรุงการทำปฏิทินจีนด้วย แต่ผลงานที่นับว่าสำคัญที่สุดก็คือ การร่วมมือกับบาทหลวงต่างชาติ แปลตำราเรขาคณิต The Elements ของ Euclid และแปลความนึกคิดของปราชญ์ตะวันตกหลายคนเป็นภาษาจีน ชายคนนี้จึงได้รับฉายาว่าเป็น Leonardo da Vinci ของจีน


เขาผู้นี้ชื่อ Xu Guangqi ซึ่งได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 1562 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในครอบครัวที่ยากจน บิดาเป็นชาวไร่ที่หาเลี้ยงชีพโดยการทำสวนผัก แม้จะขัดสนเงินทอง แต่บิดาก็สามารถส่งบุตรชายวัย 6 ขวบเข้าโรงเรียนได้ เพราะ Xu มีสติปัญญาเฉียบแหลมและเฉลียวฉลาด จึงเรียนหนังสือเก่ง และเรียน ระดับปริญญาตรีสำเร็จตั้งแต่มีอายุได้ 19 ปี เพราะพ่อแม่มีความประสงค์จะให้บุตรได้ทำงานเป็นข้าราชการ จึงให้ Xu เข้าสอบจอหงวน เมื่อสอบได้ Xu จึงได้งานในตำแหน่งขุนนางแห่งราชสำนัก

จุดเปลี่ยนชีวิตของ Xu ได้เกิดขึ้นในปี 1600 เมื่อ Xu วัย 38 ปี ได้พบบาทหลวง Matteo Ricci ซึ่งเป็นศิษย์ของ Chrislopher Clavius ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียง Xu รู้สึกประทับใจในความสามารถและความรอบรู้ของ Ricci มาก และเมื่อ Ricci ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านเรขาคณิตที่ Xu ไม่เคยเรียนมาก่อนให้ Xu ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก และประสงค์จะแปลตำราเรขาคณิตของ Euclid ให้ชาวจีนได้เรียนรู้บ้าง

ในยุคของราชวงศ์ Ming (1368-1644) จีนได้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปรัชญา และวรรณกรรม โดยเฉพาะในมณฑลต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี ความเจริญนี้ได้ให้กำเนิดบุคคลสำคัญหลายคน ลุถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อนักบวช Jesuit ชาวยุโรปได้เริ่มเดินทางมาเยือนจีนเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก และ Ricci ได้พบว่า ในการจะให้ชาวบ้านเปลี่ยนศาสนานั้น นักบวชจะต้องทำให้ข้าราชการชั้นสูงมีความศรัทธาในศาสนาใหม่ก่อน ดังนั้น Ricci จึงนำอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีของชาวยุโรปที่ชาวจีนไม่เคยใช้มาแสดงความสามารถให้ดู และได้นำความรู้วิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างโบราณมาสอนคนจีนด้วย ซึ่งก็ได้ผล เพราะเมื่อชาวจีนได้รับการศึกษาดี ทุกคนก็พากันชื่นชมความรู้ใหม่ๆ มาก


ในความเป็นจริง ความรู้คณิตศาสตร์ของจีนในเวลานั้นได้ตกต่ำมาก จนแทบจะไม่มีอะไรหลงเหลือมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 แล้ว หลังจากที่ Li Zhi ได้พบวิธีแก้สมการพีชคณิตชั้นเดียว ตำราคณิตศาสตร์ก็ได้ สาบสูญไป จนคนจีนแทบไม่รู้จักใช้คณิตศาสตร์ในการแก้โจทย์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเลย และนี่ก็คือช่วงเวลาที่นักบวช Ricci ชาวอิตาลีเดินทางถึงจีนในปี 1582 และได้แวะพักที่ Macau (ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของจีน) เพื่อเรียนภาษา และวัฒนธรรม อีก 7 ปีต่อมา Ricci ก็ได้เริ่มสอนคณิตศาสตร์ให้คนจีนเรียน

ในปี 1595 Ricci ได้ขออนุญาตรัฐบาลจีนเพื่อเดินทางไปกรุงปักกิ่ง แต่ถูกปฏิเสธ เพราะเป็นคนต่างชาติ Ricci จึงต้องไปพำนักที่ กรุง Nanjing เป็นเวลา 4 ปี และได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองเป็นอย่างดี จากนั้นก็ได้ขออนุญาตเข้ากรุง Peking อีก ในปี 1601 คราวนี้รัฐบาลจีนอนุญาต Ricci จึงเริ่มสอนหนังสือให้คนจีนในปักกิ่ง และพบว่าในบรรดาศิษย์ของ Ricci มีคนหนึ่ง คือ Xu Guangqi ซึ่งเมื่อได้เรียนเรขาคณิต และวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกเป็นครั้งแรก รู้สึกเลื่อมใสในวิธีคิดอย่างมีตรรกกะมาก แล้ว Xu ก็ได้ต้องการให้คนจีนคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ ด้วย เขากับ Ricci จึงร่วมมือกันแปลตำราคลาสสิกชื่อ The Elements ของ Euclid เป็นภาษาจีน

ในการแปลตำรานั้น Xu กับ Matteo ต้องคิดคำใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย เช่น คำว่า จุด เส้นขนาน มุมแหลม มุมป้าน ฯลฯ เพราะคำเหล่านี้ ไม่เคยมีปรากฏในภาษาจีน และในบางกรณี คำซึ่งเป็นที่เข้าใจดีในแวดวงนักคณิตศาสตร์ เช่น จุด ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีขนาด แต่มีตำแหน่ง ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้ทำให้คนจีนในเบื้องต้นคิดว่าพวกตนกำลังเรียนเรื่องเหลวไหล แต่เมื่อเวลาผ่านไปคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เขียนเป็นภาษาจีนก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จากนั้นคณิตศาสตร์ก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนจีนมากขึ้น

ในขั้นตอนการแปลตำรา Ricci จะเริ่มอธิบายเนื้อหาในตำราให้ Xu ฟังจน Xu เข้าใจก่อน แล้ว Xu ก็จะเขียนเนื้อหาตามที่ตนเข้าใจ ผลงานแปลทำให้คนจีนทุกวันนี้ ยกย่อง Xu ได้ว่าเป็นผู้เปิดยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาของจีน เพราะนอกจากจะได้แปลตำราของ Euclid แล้ว เขายังแปลตำราอุทกวิทยา และดาราศาสตร์ด้วย

แต่ความมุ่งหมายลึก ๆ ที่แท้จริงของ Ricci คือ ความต้องการให้คนจีนเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา และวิธีที่จะทำให้คนจีนเปลี่ยนศาสนานั้น Ricci คิดว่า คงต้องใช้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของโลกตะวันตก ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นจริงเพราะมีทั้งพลังและความประเสริฐ โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ ที่สามารถพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา ซึ่ง Ricci ได้คำนวณพบว่าจะเกิดใน

วันที่ 15 ธันวาคม ปี 1610 แล้วเหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดจริง ตรงตามเวลา และสถานที่ Ricci ได้ทำนายไว้ Ricci ยังได้พยากรณ์อีกว่า สุริยุปราคาในครั้งต่อไปจะเกิดในปี 1629 แต่นักปกครองจีนในเวลานั้นไม่เชื่อความสามารถเชิงวิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตกมากจึงประกาศให้มีการแข่งขันความแม่นยำ และความถูกต้องในการพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาระหว่างผู้เข้าแข่งขันที่ใช้ปฏิทินจีน ปฏิทินอิสลาม และปฏิทินยุโรป ในการทำนาย ผลปรากฏว่า คำพยากรณ์ของ Xu Guangqi ที่ใช้เทคนิคคำนวณของยุโรปใกล้เคียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด คือ ในวันที่ 21 มิถุนายน ปี 1629 เมื่อผลเป็นเช่นนี้ องค์จักรพรรดิจึงทรงบัญชาให้ Xu Guangqi กับคณะนักบวชชาวยุโรปเริ่มการปฏิรูปปฏิทินจีน แต่โครงการยังไม่ทันลุล่วง Xu Guangqi ก็สิ้นชีวิตก่อน ดังนั้นโครงการจึงถูกส่งต่อให้ Li Tang-jing ดำเนินการจนลุล่วง นี่เป็นการร่วมมือทางวิชาการครั้งแรกระหว่างนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกกับนักวิชาการตะวันออกไกล

ความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้ทำให้ Xu Guangqi เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา เพราะคิดว่า อารยธรรมจีนคงสู้อารยธรรมตะวันตกไม่ได้ ดังนั้น องค์ความรู้ของจีนเรื่องใดที่ผิดหรือไม่จริงก็จะต้องถูกเลิกสอนอีกต่อไป เปรียบเสมือนการมีรองเท้าเก่าที่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ อีกแล้ว ก็จะต้องถูกทิ้งไป โดยผู้สวมไม่จำเป็นต้องรู้สึกเสียดาย

หลังปี 1610 Xu ได้ขอลาออกจากราชการ เพื่อไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่บ้านเกิด และได้นำเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมของโลกตะวันตกมาใช้ ด้วยการขุดคลองระบายน้ำ สร้างเขื่อน และแนะนำให้คนจีนปลูกมันฝรั่ง กับฝ้าย ผลงานเหล่านี้ทำให้ Xu ได้รับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ตามปรกติ Xu เป็นคนรักชาติมาก และมีความวิตกกังวลว่าจีนอาจจะถูกกองทัพแมนจูรุกราน จึงได้เขียนตำราทหารและกลยุทธที่ใช้ในการทำสงคราม ชื่อ Cook Xu’s Words ซึ่งได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงต่อต้านว่า ผู้เขียนมิใช่ทหาร ดังนั้นจึงไม่รู้จริง ในหนังสือเล่มนั้น Xu ได้เสนอความคิดว่า “ประเทศชาติจะมั่งคั่ง ถ้ากองทัพเข้มแข็ง”

นักวิชาการจีนปัจจุบันยอมรับแล้วว่า Ricci เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอารยธรรม และวัฒนธรรมของจีน เพราะนอกจากจะได้นำความรู้ของชาวตะวันตกมาสู่จีนแล้ว ยังได้นำวัฒนธรรมและอายรธรรมจีนไปสู่โลกตะวันตกด้วย โดยการแปลตำราที่ขงจื้อเขียนหลายเล่มเป็นภาษาละติน ทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังชื่นชม Ricci ที่มิได้แปลคำภีร์ใบเบิลเป็นภาษาจีน แต่ได้แปลตำรา The Elements ของ Euclid เป็นภาษาจีนแทน


ในด้านชีวิตส่วนตัว Xu Guangqi มีภรรยาชื่อ Wu และมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ Xu Ji ปราชญ์ Xu ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 1633 สิริอายุ 71 ปี ศพของเขาถูกนำไปฝังในสุสานที่กรุง Beijing ซึ่งอยู่ห่างจาก Pasteur Institute for Computational Biology (PICB) ประมาณ 30 กิโลเมตร เมื่อเดือนตุลาคมปี 2007 จีนได้จัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบสี่ศตวรรษแห่งการพิมพ์ตำรา
The Elements เล่มแรกจากทั้งหมด 6 เล่ม เป็นภาษาจีน ที่ประชุม PICB ได้กล่าวสรรเสริมยกย่อง Xu ว่าเป็นคนริเริ่มให้คนจีนเรียนรู้วิทยาการที่ทันสมัยจากโลกตะวันตก เป็นคนที่ฝึกทหารจนให้รู้จักใช้ปืนใหญ่ และเป็นปราชญ์ที่มีความสามารถรอบด้าน อีกทั้งเป็นคนที่เผยแพร่วิทยาการตะวันตกไปสู่คนจีนทั้งประเทศ

แต่ก็มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับ Xu คือรัฐบาลจีนไม่ได้กล่าวถึงการที่ Xu เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสตศาสนานิกายโรมันแคทอลิก เมื่อปี 1603 เลย รวมถึงการเปลี่ยนชื่อเป็น Paul Xu Guangqi
ซึ่งคนบางคนคิดว่าการที่ Xu ทำเช่นนี้ เพราะต้องการตอบแทนความช่วยเหลือของ Ricci ในความเป็นจริง Xu ยังนับถือและศรัทธาในลัทธิขงจื้ออย่างแนบแน่น เพราะตำราและหนังสือที่ Xu เขียนมีปรัชญาขงจื้อแอบแฝงอยู่มากมาย

เมื่อราชวงศ์ Ming ล่มสลายในปี 1644 มรดกความรู้ของ Xu เริ่มถูกเมิน แต่ถึงวันนี้ คนจีนได้กลับมาชื่นชม Xu อีกว่าเป็นคนที่เปิดประตูสนทนาระหว่างโลกตะวันตกกับจีน และการสนทนากับความผูกพันในครั้งนั้นก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ และจะมีตลอดไปในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมจาก Mathematics and Sciences of the Heavens and the Earth (Science and Civilization in China, Vol. III) New York: Cambridge University Press. 1959


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น