หลังจากถูกลดสถานะให้กลายเป็นดาวเคราะห์แคระ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2006 ผลจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล IAU (International Astronomical Union) ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ล่าสุดดาวพลูโตได้รับการคืนสถานะให้กลับมาเป็น “ดาวเคราะห์” อีกครั้ง หลังผ่านมาถึง 17 ปี ซึ่งเมื่อครั้งอดีตเคยได้รับสถานะเป็นดาวเคราะห์มาถึง 76 ปี
ทำให้ดาวดวงนี้ได้กลับมาเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 9 ของระบบสุริยะจักรวาลอีกครั้ง เนื่องใน “วันโกหกโลก” (April Fools Day)
ปัจจุบันดาวพลูโตยังคงสถานะดาวเคราะห์แคระเหมือนเดิม สาเหตุที่ทำให้ดาวพลูโตถูกลดสถานะให้เป็นดาวเคราะห์แคระ เป็นผลจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้มีการประชุมและกำหนดนิยามของดาวเคราะห์ใหม่คือ
1. ดาวเคราะห์จะต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นหลัก
2. มีมวลมากพอที่จะดึงรูปร่างให้เป็นทรงกลมหรือเกือบกลม
3. วงโคจรต้องไม่ทับกับดาวอื่น
และด้วยคำนิยามที่ถูกกำหนดขึ้นในข้อสุดท้ายทำให้ดาวพลูโต ซึ่งมีวงโคจรเป็นวงรีและมีการทับซ้อนกันกับดาวเนปจูน ไม่สามารถนับเป็นดาวเคราะห์ได้ และถูกลดสถานะให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะ
การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ทั้ง 8 ในระบบสุริยะนั้น จะมีวงโคจรที่อยู่ในระนาบเดียวกัน เรียกว่าระนาบ Ecliptic แต่พลูโตกลับมีองศาการโคจรที่เอียงจากระนาบนี้ถึง 17 องศา การสังเกตจะมองเห็นดาวพลูโตหมุนระเกะระกะ ท่ามกลางดาวเคราะห์อื่นที่โคจรอย่างเป็นระเบียบ
"ดาวพลูโต" ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1930 โดย ไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) และวงการดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กับสมาชิกใหม่ของระบบสุริยะด้วยชื่อดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่า“เทพแห่งความตาย”
อดีตดาวเคราะห์ลำดับที่ 9 ดวงนี้ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 5,900 ล้านกิโลเมตร มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีซึ่งแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ และต้องใช้เวลา 248 ปี จึงจะโคจรครบ 1 รอบ มีดาวบริวารที่ทราบแล้ว 5 ดวง ได้แก่ แครอน สติกซ์ นิกซ์ เคอร์เบอรอส และ ไฮดรา
แม้ว่าปัจจุบันพลูโตจะถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ แต่ยังมีนักดาราศาสตร์บางคนที่ยังคงจัดให้ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์เหมือนเดิม และพลุโตยังคงเป็นอีกหนึ่งดวงดาวที่น่าสนใจและเหมาะกับการสำรวจ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ดวงจันทร์แครอน หนึ่งในดวงจันทร์บริวาร ที่มีขนาดใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของดาวพลูโต และจากนิยามใหม่ของดาวเคราะห์และดาวเคราะห์แคระ อาจถือได้ว่า ดาวสองดวงนี้ เป็นดาวคู่ที่เป็นดาวเคราะห์แคระระบบสุริยะจักรวาลของเรา
อนึ่ง “วันโกหกโลก” (April Fools Day) ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี ในวันนี้จะเป็นวันที่ผู้คนจะเล่นมุกตลกและเรื่องหลอกลวงโกหกต่อกัน แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ก่ออันตรายให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่เกี่ยวกับความสูญเสีย โดยจะเห็นได้จากโลกโซเชียลสื่อต่างๆ อาจจะมีการนำเสนอข่าวลวงในวันนี้ และเริ่มเป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลกมากขึ้นเนื่องจากสื่อโซเชียลได้รับความนิยมในปัจจบุัน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง – รูปภาพ : NASA , wikipedia.org