เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2024 ที่ผ่านมานี้ Ali Umut Türkcan กับทีมนักโบราณคดีแห่ง BİTAM (Necmettin Erbakan University Science and Technology Research and Application Center) ได้ประกาศข่าวการพบซากขนมปังในสภาพแป้งหมักที่ยังไม่ถูกอบ วางอยู่ใกล้เตาอบใน หมู่บ้านโบราณ Çatal Höyük ทางตอนกลางของประเทศตุรกี ซากขนมปังชิ้นนี้มีอายุประมาณ 8,600 ปี จึงนับเป็นซากขนมปังโบราณที่สุดในโลก
ข่าวการพบซากขนมปังยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เรารู้ว่า ชาวพื้นเมืองที่เคยอาศัยอยู่บนเนินดินสูง (คือ บน höyük ในภาษาตุรกี) ที่ชื่อ Catal ในอดีตเมื่อ 9,000 ปีก่อน อันเป็นช่วงเวลายุคหินใหม่ (Neolithic period) ได้รู้จักทำขนมปังเป็นอาหาร ก่อนชาวอียิปต์และชาวเมโสโปเตเมียถึง 2,000 ปี
ยุคหินใหม่เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการกินอยู่อาศัยเหมือนสัตว์โดยอยู่ในถ้ำและบนต้นไม้ แล้วหาอาหารโดยการล่าสัตว์และเก็บผลไม้ป่า มาดำรงชีพในรูปแบบใหม่ คือ อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก สร้างภาษา รู้จักทำการเกษตรด้วยการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร ตลอดจนถึงการรู้จักฝึกใช้สัตว์ในการทำงาน และเป็นพาหนะเดินทาง ในเวลาเดียวกันก็รู้จักทำอาหาร เช่น ขนมปังและเบียร์ การอยู่รวมกันทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จากหมู่บ้านก็ได้กลายเป็นเมือง และเริ่มมีอารยธรรมด้านศิลปกรรม ด้านการปกครองด้วยการมีผู้นำหรือกษัตริย์ และเริ่มรู้จักทำสงคราม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง ตลอดจนถึงรู้จักการช่วงชิงทรัพยากรของชุมชนอื่นมาเป็นของตน เป็นต้น
คำถามหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสนใจใคร่จะรู้คำตอบมาก คือ มนุษย์เริ่มรู้จักทำเกษตรกรรม ณ สถานที่ใดเป็นครั้งแรก และเมื่อใด ตลอดจนใคร่จะรู้ว่า ชนกลุ่มใดได้ปลูกพืชอะไร และด้วยเหตุผลอะไร
การขุดหาซากวัตถุเกษตรกรรม เช่น เมล็ดพืชและคันไถในดินแดนที่รู้จักในนามว่า “พระจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์” (Fertile Crescent) ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นว่า การเกษตรกรรมได้เริ่มอุบัติเป็นครั้งแรกในดินแดนแถบนี้ คือ ตั้งแต่ Israel, Lebanon, Iraq, Turkey ตลอดไปจนถึงอ่าว Persia
ส่วนพืชที่นิยมปลูกได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ถั่ว องุ่น แตงกวา อินทผลัม และอัลมอนด์ สำหรับสัตว์ที่นิยมเลี้ยงก็ได้แก่ แพะ แกะ หมู และวัว ซึ่งการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนยุคนั้นจากสภาพร่อนเร่มาอยู่รวมเป็นหมู่บ้าน ได้เกิดขึ้นภายในเวลาที่รวดเร็วมาก คือ เพียงไม่กี่ศตวรรษเอง
ทีมวิจัยภายใต้การนำของ Manfred Heun แห่งมหาวิทยาลัย Norway ได้ใช้ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ทั้งของพืชและของคน จนได้พบว่าบริเวณเทือกเขา Karacadag ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของตุรกี และอยู่ติดพรมแดนของอาณาจักร Mesopotamia ได้เป็นดินแดนที่มีการปลูกข้าวสาลีเป็นครั้งแรกเมื่อ 11,000 ปีก่อน โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ DNA ของเมล็ดข้าวสาลีที่ชาวบ้านปลูก จำนวน 68 สายพันธุ์ และพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเมล็ดข้าวสาลี 261 สายพันธุ์ ที่ขึ้นในป่าบริเวณนั้นมาก
แต่นักโบราณคดีก็ยังไม่มั่นใจเรื่องอายุของเมล็ดข้าวที่วัดโดยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ C-14 เพราะข้อมูลที่ได้มีความคลาดเคลื่อนมาก ดังนั้นการสรุปผลว่าเกษตรกรรมแห่งแรกของโลกเกิด ณ ที่ใด จึงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีข้อยุติ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีนักโบราณคดีอีกหลายกลุ่มที่ได้วิเคราะห์ DNA ของซากเมล็ดพืชที่พบในบริเวณทะเลสาบ Dead Sea ของ Israel ไปจนจรดเมือง Damascus ใน Syria และได้พบว่าสภาพดินฟ้าอากาศในแถบทะเล Mediterranean ที่ไม่มีฝนตกในฤดูร้อน และมีฝนตกปานกลางในฤดูหนาว เป็นสภาพอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวบาเลย์และข้าวสาลี แต่ที่ Jericho นั้นน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของการทำเกษตรกรรมข้าวบาเลย์มากกว่า
เมื่อการพึ่งพาเทคโนโลยี DNA ของพืชไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดว่า พืชชนิดใดเป็นพืชที่มนุษย์ยุคหินใหม่นำมาปลูกเป็นครั้งแรก นักโบราณคดีจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยี DNA ของคนในยุคนั้น เพื่อให้รู้ว่าใครทำไร่และทำนา ณ ที่ใด และเมื่อไร ชุมชนใดได้เผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรกรรมไปสู่ชุมชนใด ณ ที่ใดบ้าง ข้อมูลที่สมบูรณ์จะสามารถบอกได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมได้เกิดขึ้นในชุมชนใดเอง หรือโดยการชักจูงของบุคคลต่างถิ่น
ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปี 2016 Garrett Hellenthal ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย University College ที่ลอนดอน ได้เสนอหลักฐานที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าชนที่ให้กำเนิดการทำเกษตรกรรมมิได้เป็นชนชาติพันธุ์เดียวกัน แต่มีชนหลายกลุ่มที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกันเลย และคนเหล่านี้ได้มีความคิดจะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นเอกเทศ แต่ก็คิดเรื่องนี้ได้ภายในเวลาไล่เลี่ยกัน โดย Hellenthal ได้เสนอหลักฐานทางพันธุกรรมของคนที่เป็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ และได้ข้อสรุปว่าเมื่อ 10,000-12,000 ปีก่อน ในดินแดนที่เรียกว่า Anatolia ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของตุรกี มีหมู่บ้านโบราณชื่อ Çatal Höyük และ Barcın Höyük เป็นสถานอาศัยของชุมชนที่รู้จักทำการเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก ส่วนที่เมือง Jericho ใน Jordan กับที่ถ้ำ Wezmeh ในอิหร่าน และที่หมู่บ้าน Ain Ghazal ใน Israel ก็มีการพบหลักฐานที่แสดงว่า เกษตรกรรุ่นแรก ๆของโลกรู้จักทำไร่และเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะกับแกะเป็นครั้งแรกในเวลาไล่เลี่ยกัน
Çatal Höyük เป็นโบราณสถานที่ถูกพบโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ James Mellaart (1925–2012) เมื่อปี 1958 ซึ่งในเวลานั้น Mellaart กำลังทำงานอยู่ที่กรุง Ankara และได้เดินทางไปทางใต้เพื่อค้นหามูนดิน หรือเนินดินที่มนุษย์โบราณสร้าง โดยเฉพาะเนินดิน Çatal Höyük ที่สูง 18 เมตร ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาศัยของชุมชนยุคหินใหม่ บนพื้นที่ 130,000 ตารางเมตร และพบว่ามีซากบ้านที่ทำด้วยอิฐดินเหนียวอย่างแข็งแรง ในบ้านมีเครื่องปั้นดินเผา คันธนู และหัวลูกศรที่ทำด้วยหิน obsidian
ที่ผนังบ้านมีภาพวาดเป็นรูปพราน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านบางคนยังใช้ชีวิตเป็นพราน ภายในบ้านที่ถูกสร้างเรียงติดกัน ไม่มีประตูเข้าบ้าน การเข้า-ออกบ้าน สามารถกระทำโดยการหย่อนตัวลงทางรูที่เจาะผ่านหลังคาบ้าน การที่เป็นเช่นนี้คงเพราะเจ้าของบ้านไม่ต้องการให้สัตว์ลอบเข้ามาขโมยของกินในบ้าน ในบ้านมีรูปปั้นเทพเจ้าและหัววัว ในครัวมีเตาไฟสำหรับหุงหาอาหาร และมีอุปกรณ์อบอาหาร เช่น ขนมปัง เป็นหม้อดินขนาดใหญ่ สำหรับใส่ก้อนหินขนาดใหญ่ที่ร้อนเพื่อใช้ในการอบอาหาร พื้นบ้านมีหลุมที่สามารถเปิดได้ เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ ซึ่งจะถูกฝังลึกลงไปประมาณ 1.5-1.8 เมตร ศพที่ฝังมักเป็นของเด็กและผู้หญิง ส่วนศพของผู้ชายจะถูกฝังนอกบ้าน ในบ้านหนึ่ง ๆ มีศพของตระกูลตั้งแต่ 8-30 ศพ ผู้ชายในยุคนั้นมีความสูงตั้งแต่ 1.68-1.75 เมตร และผู้หญิงตั้งแต่ 1.52-1.70 เมตร คนเหล่านี้มีกระดูกแข็งแรง กระดูกฟันดีไม่ผุ เพราะกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก
บริเวณกลางบ้านมีเสื่อ ภายในบ้านถูกแบ่งเป็นที่ทำงาน ที่นั่งเล่น มีเบาะนอนที่ทำด้วยผ้าสักหลาด เจ้าของบ้านนิยมเลี้ยงสุนัขให้เฝ้าฝูงแกะ และช่วยล่าสัตว์ สัตว์เลี้ยงได้แก่ ม้า วัว หมู กวาง ลาป่า และละมั่ง
ผู้ชายนิยมนุ่งผ้าเตี่ยวและหนังสัตว์ โดยมีเข็มขัดรัด ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อไม่มีแขน รัดรูป เสื้อมีลวดลาย สำหรับเข็มที่ใช้ในการเย็บผ้านั้นทำจากกระดูกสัตว์
อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัว มักถูกนำไปฝังรวมกับศพผู้ชาย และเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยหิน เช่น แหลนและกริชที่มีด้ามทำด้วยกระดูกสัตว์ และมีปลอกหนังสัตว์หุ้ม เครื่องประดับ มักทำด้วยหินลูกปัดเป็นประคำสวมที่แขน
อารยธรรม Çatal Höyük เมื่อ 8,500 ปีก่อน มีอาคารประมาณ 300 หลัง แต่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง กระนั้นก็สามารถยืนยงอยู่ได้โดยการนับถือศาสนาร่วมกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ผู้นำในหมู่บ้านในระยะแรก ๆ คือ นักบวช เพราะในหมู่บ้านมีศาสนสถาน เป็นที่บูชาเทพเจ้าสูงสุด ซึ่งเป็นผู้หญิง
บนผนังบ้านมีภาพวาดของเทพเจ้าสตรีที่ทรงให้กำเนิดวัวและแกะ สำหรับสีที่ใช้ในการวาดนั้นก็มีความหมาย โดยสีแดง หมายถึง ความมีชีวิตชีวา และสีดำหมายถึงความตาย ส่วนสีอื่น ๆ ก็มีบ้าง เช่น ชมพู คราม ขาว เหลืองมะนาว ม่วง และฟ้า แต่ไม่มีสีเขียว
ซากพืชที่ขุดพบในบริเวณ Çatal Höyük ยังแสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเพาะปลูก ตลอดไปจนถึงการรู้จักนำพืชหลากหลายสายพันธุ์มาปลูก แล้วนำมาทำเป็นอาหาร โดยการต้มหรืออบจนสุก พืชที่ปลูกได้แก่ ต้นโอ๊ก แอปเปิ้ล องุ่น ถั่วpistachio ต้นwalnut ที่ขึ้นบนที่ราบในป่าใกล้ Çatal Höyük
ชุมชนนี้ยังมีการติดต่อค้าขายกับชุมชนในแดนไกลด้วย เพราะได้มีการพบเครื่องปั้นดินเผาของอารยธรรม Çatal Höyük ในดินแดน Cilicia ที่อยู่ไกลออกไปถึง 160 กิโลเมตร ว่าคนทั้งสองชุมชนมีความเชื่อทางศาสนาร่วมกัน และมีการพบช้อนที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ให้ผู้หญิงใช้ใส่ครีมเป็นเครื่องสำอางทาหน้า ตลอดจนการได้พบภาชนะใส่อาหารเป็นจาน และหม้อหุงต้มมีลักษณะเหมือนกับที่พบที่ Çatal Höyük ด้วย
สำหรับกรณีบรรพบุรุษของชุมชน Çatal Höyük นั้น ว่ามาจากที่ใด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า คงมาจากมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ Kara’In และ Okuxlu’In เพราะตุ๊กตาแกะสลักที่พบในถ้ำก็เป็นศิลปะของชุมชน Çatal Höyük
อารายธรรม Çatal Höyük ได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลาหลายพันปี จนถึงยุคสำริดเมื่อ 5,000 ปีก่อน อันเป็นเวลาที่ชุมชนในที่ราบ Konya ซึ่งอยู่โดยรอบได้เจริญเติบโตยิ่งกว่า และมีประชากรมากกว่า Çatal Höyük จึงได้อพยพทิ้งเนินดินของตนไป เมื่อ 4,000 ปีก่อน แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยของชีวิตให้เราได้เห็นกันจนทุกวันนี้
ในปี 2012 Çatal Höyük ได้รับการยกย่องโดยองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกโลก
โดยสรุป การถือกำเนิดของชุมชนขนาดใหญ่ได้อุบัติขึ้นเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลายยุคน้ำแข็ง เมื่อภูมิภาคส่วนเหนือของโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมเป็นเวลานานนับพันปีได้เริ่มละลาย และดินแดนพระจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์ในตะวันออกกลาง เริ่มมีอากาศอบอุ่นขึ้น น้ำแข็งจึงละลาย
จากอดีตนับพันปีที่ผู้คนเคยแสวงหาอาหารโดยการออกป่าล่าสัตว์ ตกปลา และเก็บผลไม้เป็นอาหาร เหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีร่างกายสูงใหญ่ มนุษย์ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสมองและมีวิวัฒนาการในการสร้างเทคโนโลยี และสามารถทำได้ เพราะสภาพดินฟ้าอากาศในเวลานั้นเอื้ออำนวย ด้วยการมีฤดูหนาวที่อากาศเย็นและมีฝนตกบ้าง ต่อจากนั้นก็เป็นฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด วิถีชีวิตของผู้คนในแถบนั้นก็จำต้องมีการเปลี่ยนตาม และเมื่อพืชเช่น ข้าวสาลีป่า (einkorn wheat) และข้าวบาเลย์ สามารถขึ้นได้ดีในฤดูใบไม้ผลิ และงอกงามได้ดีก่อนที่ดินจะแห้ง เมื่อมนุษย์ถ้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์นี้ก็ตระหนักได้ว่า การย้ายตนเองออกจากถ้ำไปสู่ที่ ๆ มีอาหารน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการที่จะนำป่าเข้าไปอยู่ในถ้ำ กลุ่มคนที่มีความคิดเช่นนี้ จึงได้มาตั้งรกรากใกล้กัน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหาร โดยการหว่านเมล็ดพืชลงดิน แล้วได้พบเทคโนโลยีรดน้ำพรวนดิน อาหารก็เริ่มมีในปริมาณมากเพียงพอ จนชุมชนใดที่มีอาหารมากก็จะได้รับการยกย่องเป็นผู้นำ จากนั้นผู้คนก็จะหลั่งไหลมาอาศัยอยู่ใกล้ๆ สถานที่ๆ มีอาหารปริมาณมาก
ต่อจากนั้นหมู่บ้านก็ได้กลายเป็นเมืองให้พลเมืองมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า และสร้างศิลปะ นี่จึงเป็นที่มาของเมืองๆ หนึ่ง เมื่อ 8,000 ปี ที่ชื่อ Çatal Höyük
ในอดีตที่ผ่านมา นักโบราณคดีมักศึกษาวัตถุโบราณที่จับต้องได้ เพื่อจะได้รู้ความเป็นไป และความเป็นอยู่ของคนโบราณ
งานวิจัยของทีมวิจัย BİTAM ซึ่งได้พบวัสดุ “ฟองน้ำ” ที่มีรูพรุน และได้วิเคราะห์พบว่า มันเป็นขนมปังหมักที่ยังไม่ได้ถูกอบ อยู่ใกล้เตาในบริเวณสำรวจ โดยมีเมล็ดข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ เมล็ดถั่ว กระจายอยู่เกลื่อนกลาด ทำให้ได้ข้อสรุปว่าวัสดุฟองน้ำนั้น คือ ขนมปังโบราณ
นี่จึงเป็นการวิจัยบุกเบิกด้านโบราณคดีเชิงอาหาร ที่จะช่วยให้เราปัจจุบันรู้ว่า ผู้คนในอดีตกินอะไรกัน ปรุงอาหารอย่างไร และใช้อะไรเป็นวัตถุดิบบ้าง
ขนมปังที่พบนั้นถูกห่อหุ้มด้วยดินเหนียวชั้นบางๆ จึงทำให้องค์ประกอบทางเคมีของขนมปังคงรูปอยู่ได้ การวัดอายุโดยเทคโนโลยี C-14 แสดงให้เห็นว่า ขนมปังมีอายุประมาณ 8,600 ปี จึงนับเป็นสถิติขนมปังที่โบราณยิ่งกว่าขนมปังของชาวอียิปต์ถึง 2,000 ปี
อ่านเพิ่มเติมจาก “The Roots of Cultivation in Southwestern Asia” โดย George Willcox ใน Science ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2013
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์