Bill Cooke นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์สิ่งแวดล้อมอุกกาบาตของ NASA (NASA's Meteoroid Environment Center) ได้ให้เหตุผลการพบดาวตกที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงต้นปี นอกเหนือจากการพบในช่วงปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาและวันที่ชัดเจนของทุกๆ ปี เนื่องจากการศึกษาและเก็บสถิติ พบว่า ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่อัตราการพบเห็นลูกไฟในเวลาหัวค่ำสำหรับผู้สังเกตในซีกโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นราวร้อยละ 10 - 30 และเรียกช่วงดังกล่าวว่า "ฤดูดาวตก"
นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ตลอดทั้งปีผู้คนที่มองท้องฟ้าตั้งแต่ช่วงค่ำจนถึงรุ่งเช้าสามารถคาดหวังที่จะเห็นดาวตกแบบสุ่ม ประมาณ 10 ลูก ต่อคืน นอกเหนือจากช่วงการเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก ที่จะมีดาวตกหลายสิบถึงหลักร้อยดวงที่จะมีให้เห็นในช่วงนั้น ดาวตกที่สว่างจ้าเหล่านี้เป็นผลจากเมื่อหินในอวกาศ เช่น ชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่แตกสลายและดาวหางที่กำลังสลาย กำลังถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลก
“เรารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว ที่ในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จำนวนดาวตกแบบสุ่มจะเพิ่มขึ้น 10 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และไม่เพียงแต่ดาวตกเท่านั้น อัตราการพบอุกกาบาตตกในซีกโลกเหนือก็เพิ่มขึ้นด้วยในช่วงเดียวกัน”
สาเหตุของการเกิดดาวตกและอุกกาบาตที่ตกลงมายังพื้นโลกในฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือยังคงเป็นปริศนา นักวิทยาศาสตร์กำลังรวบรวมข้อมูลและหาคำตอบ เหนือเหนือจากการเก็บสถิติ
Peter Brown ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาต จาก มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าจำนวนอุกกาบาตตามวงโคจรของโลกอาจแตกต่างกันไปตามเวลา โดยมีจุดสูงสุดของหินอวกาศที่สร้างลูกไฟขนาดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงโคจรของหินที่มีอยู่อย่างมากมายในอวกาศ
การเก็บข้อมูล ในปี 2011 พบว่าอัตราการปรากฏของดาวตกสามารถเพิ่มขึ้นได้ 10 - 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงหลายสัปดาห์รอบกลางวันกลางคืนของเดือนมีนาคม และแน่นอนว่าปี 2016 ถือเป็นปีที่ดีสำหรับดาวตกในฤดูใบไม้ผลิ อ้างอิงจากบทความเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016 โดย Vincent Perlerin จาก American meteor society fireball รายงานเหตุการณ์ดาวกตกสำคัญ 6 ครั้งทั่วสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม ถึง 8 มีนาคม 2016 ดังนั้น ดาวตกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนในซีกโลกเหนือ และอาจตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคมในซีกโลกใต้ด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : www.imo.net , www.earthsky.org , www.space.com