เมื่อวันที่ 25 ก.พ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ณ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยแนวทางกระบวนการ “วิศวกรสังคม” โดย วช. สนับสนุนให้มีกระบวนการนำวิศวกรสังคมที่ผ่านการบ่มเพาะนำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้เลือกประเด็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทักษะกระบวนการวิศวกรสังคมเพื่อนำความรู้มาพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยวิศวกรสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกันพัฒนาโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม เป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์พันธ์ ใจห้าว วีระพงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นอย่างเข้มข้น โดยโครงการวิศวกรสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการสร้างกระบวนการคิดและการทำงานที่เป็นระบบของนักศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ใน โซนป่า โซนเขา โซนนา และโซนทะเล ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้พัฒนาชุมชนหลากหลายกิจกรรม และเห็นการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระพงศ์ สุจริตพันธ์หัวหน้าโครงการวิจัย ได้กล่าวถึง การให้ความสำคัญและการสนับสนุนงานวิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มเครื่องแกงตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ส่งเสริมทักษะให้นักศึกษามีคุณลักษณะตามพระบรมราโชบาย 4 ประการ และทักษะ วิศวกรสังคม 4 ประการ เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น สู่การพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จากการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้มีการลงพื้นที่ของนักวิจัยและนักศึกษาวิศวกรสังคมบริเวณบ้านเขาเหล็ก ตำบลนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มกับกลุ่มวิสาหกิจเครื่องแกงและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรม มีดังนี้
1. เครือข่ายกลุ่มเครื่องแกง
2. เครือข่ายกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ได้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน
3. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
4. เครือข่ายภาคเอกชน
5. เครือข่ายของชุมชน เช่น กลุ่มผ้ามัดย้อมกลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มชุมชนบ้านจีนแคะ
ถัดมา คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการที่กระบวนการวิศวกรสังคมร่วมดำเนินการกับเครือข่ายชุมชน ได้แก่
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องแกงตำมือ ไม้กวาดดอกหญ้า กล้วยฉาบรสต่าง ๆ ปลาดุกไสอวน ผ้ามัดย้อม แกงไตปลาอื้อ(อาหารพื้นถิ่น) ขนมพื้นถิ่น
2. กลุ่มท่องเที่ยว อาทิ วัดภูเขาเหล็ก ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช การทำผ้ามัดย้อมดินเหมืองแร่ โคก หนอง นา โมเดล และการทำสปาทราย
ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย และนักศึกษาวิศกรสังคม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลนบพิตำ ต่อไป