xs
xsm
sm
md
lg

โบราณคดีใต้น้ำ จากซากเรือ Viking จนถึงซากเรือ Endurance

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนจีนโบราณมีคำกล่าวอันเป็นที่รู้จักกันดีว่า ถ้าอยากจะรู้อนาคต ให้ดูดาวบนท้องฟ้า ถ้าอยากจะรู้ปัจจุบัน ให้ดูสรรพสิ่งบนโลก แต่ถ้าอยากจะรู้อดีต ก็ให้ดูสิ่งที่อยู่ใต้ดิน (และใต้น้ำ) ดังนั้นในกรณีของความรู้ประวัติศาสตร์ เรามักจะรู้จักผลงานของนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะองค์ความรู้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นบนบก ตลอดจนถึงการได้พบหลักฐานมากมายที่เป็นฟอสซิล และซากปรักหักพัง ทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดิน แต่เรามีความรู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งที่พบจมอยู่ใต้ทะเลค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ประวัติศาสตร์บนดิน ทั้งนี้เพราะการศึกษาโบราณคดีใต้น้ำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทค ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษานาน ต้องการเงินลงทุนสูง และเต็มไปด้วยภัยอันตราย แม้โลกจะมีซากเรืออับปางให้นักโบราณคดีได้ศึกษามากถึง 300,000 ซากก็ตาม


ในอดีตเมื่อ 64 ปีก่อน George Bass (1932–2021) ได้บุกเบิกการศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้เทคโนโลยี sonar และ lidar (เพื่อฟังเสียงและดูแสงสะท้อนตามลำดับ) และได้พบหลักฐานที่สำคัญมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตยุคทองสัมฤทธิ์ (1,600-1,100 ปีก่อนคริสตกาล) เมื่อเขาได้พบซากเรือสินค้าที่ได้อับปางลง ณ บริเวณนอกแหลม Gelidonya ในตุรกี การให้นักประดาน้ำดำลงไปสำรวจซากเรือ ทำให้ได้พบแท่งโลหะ และแผ่นโลหะที่มีลวดลายจารึกจำนวนมากเป็นภาษาตะวันออกใกล้ ซึ่งล้วนบรรยายการติดต่อค้าขายทางเรือ จากประเทศในดินแดนตะวันออกสู่กรีซ แต่มิใช่จากกรีซสู่เอเชียความรู้นี้จึงได้ล้มล้างความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับการค้าในยุคทองสัมฤทธิ์หมด และได้เปิดศักราชของวิทยาการโบราณคดีใต้น้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลงานของ Bass ในการเป็นบิดาของวิทยาการสาขานี้ ได้ทำให้เขาได้รับเหรียญ National Medal Science ของสหรัฐฯ ประจำปี 2002


ในความเป็นจริง ความสนใจเกี่ยวกับการรู้สาเหตุที่ได้ทำให้เรืออับปาง และการกู้ซากเรือ เพื่อนำทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่จมไปกับเรือกลับมา ตลอดจนถึงการรู้เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นบนเรือก่อนที่เรือจะจมลงนั้น ก็ได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อโลกยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะให้นักประดาน้ำลงไปในน้ำลึกเป็นเวลานานๆ แล้วกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย ทำให้การวิจัยเรื่องนี้จึงมีน้อย


ดังเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 1628 ขณะเวลาบ่ายโมง ที่ท่าเรือกรุง Stockholm ในสวีเดน ประชาชนกำลังสนุกสนาน เพราะเป็นวันชาติ และทุกคนกำลังตื่นเต้นกับการได้เห็นเรือรบหลวง Vasa (ชื่อนี้ตั้งตามพระนามในกษัตริย์แห่งสวีเดน) กำลังจะแล่นออกจากท่าเป็นครั้งแรก

เรือลำนี้ได้รับการออกแบบโดยกษัตริย์ Gustavus Adolphus (1594-1632) ให้สามารถมีทหารประจำการบนเรือได้ 300 คน และมีพนักงานประจำเรือ 133 คน เรือหนัก 1,400 ตัน ตัวเรือสร้างด้วยไม้เนื้อดี มีเสากระโดงสูง 55 เมตร และมีปืนใหญ่ที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ 64 กระบอก

ครั้นเมื่อทหารบนเรือยิงสลุตแล้ว เรือก็ค่อยๆ แล่นออกจากท่า ท่ามกลางเสียงเชียร์ของฝูงชน แต่เมื่อไปได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร เรือก็ถูกพายุกระหน่ำ จนกราบเรือเอียงไปข้างหนึ่ง แล้วจมลงในที่สุด

ในปี 1961 นักโบราณคดีได้กู้ซากเรือนี้ขึ้นมาได้ นี่เป็นความสำเร็จครั้งแรกของการทำงานประเภทนี้ ซึ่งนับว่าได้ผลเกือบ 100% เต็ม เพราะเรืออยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์พร้อม ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้เห็นเทคโนโลยีการสร้างเรือรบในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ครั้นเมื่อได้พบตะกอนเกลือกำมะถันที่ติดอยู่ในซาก กำลังทำร้ายซากเรือ นักอนุรักษ์วัตถุประวัติศาสตร์จึงได้คิดหาวิธีพิทักษ์เรือ Vasa ให้คงสภาพอยู่ได้อย่างถาวร เพื่อจะได้เป็นวิธีอนุรักษ์ซากเรือลำอื่น ๆ ที่ได้จมน้ำแล้ว ให้ปลอดภัยจากการเน่าสลายด้วย

อีก 300 ปีต่อมา โลกก็ได้รู้ว่าตัวการสำคัญที่ได้ทำลายเรือลำนั้น คือ หนอน teredo navalis ซึ่งมีลำตัวยาว 30 เซนติเมตร และได้เกาะกินซากไม้ในเรือที่จมลง และคนที่พบความจริงเรื่องนี้เมื่อ 90 ปีก่อน คือ Anders Franzén (1918–1993) ซึ่งเป็นกะลาสีหนุ่มวัย 20 ปี ที่เดินทางสัญจรไปมาในทะเล Baltic เมื่อเขาได้เห็นหนอน teredo ยั้วเยี้ยอยู่ในกองไม้ที่ถูกหนอนกัดกินจนเป็นโพรง จึงได้ติดตามศึกษาจนพบว่า น้ำในทะเล Baltic มิได้มีความเค็มมากพอ หนอนจึงสามารถแพร่พันธุ์ได้ ดังนั้นเรือ Vasa ที่จมในทะเล Baltic จึงน่าจะคงสภาพดีได้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Franzén ได้ใฝ่ฝันจะกู้ซากเรือโบราณ Vasa เพราะไม่มีใครรู้ว่าเรือได้จมลง ณ ที่ใด จึงต้องใช้เวลาค้นหาใต้ทะเลเป็นเวลานานถึง 4 ปี หลังจากที่ได้ส่งคลื่น sonar ไปกระทบของแข็งที่เป็นไม้โอ๊ก (oak) สีดำ เขาก็รู้ว่า ไม้โอ๊กต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปี จึงจะเปลี่ยนเป็นสีดำได้ การติดต่อกับราชนาวีของสวีเดนให้จัดส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจดู ก็ได้พบซากเรือ Vasa จริง ๆ ฝังอยู่ที่ระยะลึก 35 เมตรใต้น้ำ และจมอยู่ในดินโคลนที่ลึก 5 เมตร

การใช้ลวดเหล็กลอดลงไปใต้ท้องเรือ แล้วใช้เรือปั้นจั่นยกเรือขึ้น ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี จึงนำซากเรือขึ้นจากน้ำได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 1961

ณ วันนี้ ซากเรือ Vasa อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุง Stockholm ความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการรู้ธรรมชาติของ “หนอน”


กรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เรือรบหลวง Mary Rose ซึ่งได้จมลงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ปี 1545 ที่ท่าเรือในเมือง Portsmouth ประเทศอังกฤษ

ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ กองทัพเรือฝรั่งเศส ซึ่งมีเรือรบ 200 ลำ ได้ดาหน้าบุกผ่านเกาะ Isle of Wight และกองทัพเรืออังกฤษตั้งรับอยู่อย่างเงียบ ๆ และทหารอังกฤษทุกคนกำลังสวดมนต์ภาวนาให้มีพายุพัดรุนแรง เพื่อให้เรือฝรั่งเศสล่มจม แล้วพายุก็เกิดขึ้นจริง กองทัพอังกฤษ ซึ่งมีเรือธง Great Harry ได้ออกนำ แล้วติดตามโดยเรือ Mary Rose ซึ่งเป็นเรือรบหลวงที่กษัตริย์ Henry ที่ 8 ทรงโปรดปรานมาก

ขณะนั้นกษัตริย์ Henry ที่ 8 กำลังทรงประทับอยู่ที่พระราชวัง Southsea และทรงทอดพระเนตรเห็น Mary Rose กำลังแล่นใบเข้าสู่กองเรือข้าศึก แต่เมื่อพายุพัดจัด Mary Rose ก็เลี้ยวกลับลำ และประสบอุบัติเหตุเรือเอียง จนพลิกคว่ำ แล้วได้จมลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับชีวิตของทหารเรือ 700 นาย และปืนใหญ่ 91 กระบอก ซึ่งก็ได้จมลงไปพร้อมกับเรือ

นักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์เหตุการณ์และพบว่า สาเหตุที่เรือ Mary Rose ล่มเกิดจากการบริหารบังคับเรือที่ไร้สมรรถภาพ เพราะมีคนสั่งการหลายคน และไม่มีใครรับออเดอร์ใคร

สงครามเรือครั้งนั้นได้จบลง เพราะทั้งสองฝ่ายได้สูญเสียกำลังและกองทัพเรืออย่างมหาศาล แต่คนที่เสียใจมากที่สุด คือ กษัตริย์ Henry ที่ 8 ซึ่งทรงบัญชาให้สร้าง Mary Rose ขึ้นเมื่อปี 1509 และทรงตั้งชื่อตามพระนามในพระขนิษฐา Mary Tudor สำหรับคำว่า Rose นั้น ก็ตั้งตามสัญลักษณ์ประจำตระกูล ซึ่งเป็นดอกกุหลาบ

กษัตริย์ Henry ที่ 8 ทรงดำริจะกู้ซาก Mary Rose ขึ้นมา แต่เรือที่หนัก 700 ตัน เป็นงานหนักเกินความสามารถทางเทคโนโลยีกู้เรือในสมัยนั้นจะทำได้ แม้จะได้นักประดาน้ำจาก Venice ในอิตาลีมาช่วยก็ตาม หลังจากนั้นชื่อ Mary Rose ก็ได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์

จนกระทั่งถึงปี 1840 เมื่อ John Deane (1800–1884) ได้ดำน้ำลงไปดูแหที่เขาทอด และพบแหพัวพันอยู่กับท่อนไม้สักโบราณจำนวนมาก และกับกระบอกปืนใหญ่ที่ทำด้วยทองเหลือง 5 กระบอก ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1535 พร้อมปืน 20 กระบอก ทุกคนจึงรู้ว่านี่คือซากของเรือ Mary Rose ที่ได้ทำให้สังคมต้องการจะฟื้นชีวิตของเรือประวัติศาสตร์ลำนี้ให้มาปรากฏอีก และทำได้สำเร็จเมื่อปี 1982


อีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์จากซากเรือโบราณ คือ เรือไวกิง ซึ่งตามปกติจะอับปางลง เพราะถูกพายุกระหน่ำ และถูกคลื่นในทะเลซัดจนล่ม แต่ในกรณีของเรือ Viking 5 ลำ ที่ถูกขุดพบเมื่อปี 1962 ที่ท่าเมือง Roskilde ใกล้กรุง Copenhagen ในเดนมาร์ก กลับปรากฏว่า เรือทั้ง 5 ลำ ได้ถูกทำให้จมลงอย่างเจตนา เพื่อให้เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ชาวเมืองถูกโจรสลัดนำเรือมาปล้นสะดม


การวัดอายุของซากไม้ที่ใช้ทำเรือ ทำให้รู้ว่า เรือได้ถูกสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11 การศึกษาซากไม้ที่ใช้สร้างเรือจำนวนกว่า 100,000 ชิ้น ได้ช่วยให้นักโบราณคดีรู้ และเข้าใจเทคโนโลยีที่ชาว Viking ในเวลานั้นใช้ในการสร้างเรือ

ส่วนชาวเอเชียก็มีประวัติศาสตร์ของการใช้เรือในการทำสงครามหลายครั้ง เช่น ในปี 1281 ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า จักรพรรดิ Kublai Khan แห่งอาณาจักรมองโกล ได้ทรงกรีฑาทัพเรือเข้าบุกโจมตีญี่ปุ่น แต่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ากองทัพเรือมองโกลได้ถูกลมพายุที่เทพบนสวรรค์บันดาล พัดถล่มทำลายเรือทั้งกองทัพ จนกองเรือและทหารจมน้ำตายหมด

เรื่องเล่านี้ได้เป็นที่พูดถึงกันเป็นเวลานับพันปี โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน จนกระทั่งถึงปี 1985 เมื่อทีมนักโบราณคดีได้ดำน้ำลงไปในทะเลใกล้เกาะ Takashima ของญี่ปุ่น และได้พบเหรียญทองแดง หมวกเหล็กของทหาร และหัวลูกศรจำนวนมากอยู่เกลื่อนกลาดอยู่ที่ก้นทะเลที่ระดับลึก 21 เมตร ในอ่าว Imari


หลักฐานเหล่านี้จึงเป็นสักขีพยานว่า กองทัพเรือ Kamikaze ในจักรพรรดิ Kublai Khan ได้ถูกเทพเจ้าผู้คุ้มครองญี่ปุ่นส่งพายุจากสวรรค์มาถล่มกองทัพเรือมองโกลจนวอดวายจริง


ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ปี 2022 ที่เพิ่งผ่านมานี้ โลกโบราณคดีใต้น้ำก็ตื่นเต้นอีก เมื่อโครงการ Endurance22 ได้ออกแถลงการณ์ว่า คณะสำรวจได้พบซากเรือชื่อ Endurance ที่มี Ernest Henry Shackleton (1874–1922) เป็นกัปตันเรือ โดยมีจุดประสงค์จะเดินทางด้วยเท้าข้ามทวีป Antarctica แต่ปรากฏว่าทำได้ไม่สำเร็จ เพราะเรือ Endurance ได้จมลงในทะเล Weddell ของมหาสมุทร Antarctica ลงสู่ระดับลึกถึง 3,008 เมตร ตั้งแต่ปี 1915 และนักประดาน้ำได้เห็นสภาพภายนอกของซากเรือก็ยังอยู่ในสภาพดี

ปี 1914 เป็นช่วงเวลาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะเกิดเพียงเล็กน้อย Ernest Henry Shackleton เป็นบุคคลที่ได้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ถึง 2 ครั้ง (แต่ล้มเหลวทั้งสองครั้ง) โดยในครั้งแรกได้ไปกับ Robert Falcon Scott (1868–1912) เมื่อปี 1910 แต่ต้องเดินทางกลับอังกฤษขณะอยู่ห่างจากขั้วโลกใต้เป็นระยะทางเพียง 160 กม. เพราะ Shackleton ได้ล้มป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) และในการไปสำรวจครั้งที่ 2 นี้ Shackleton ได้เป็นหัวหน้าทีมเดินทางเอง เพราะตระหนักดีว่า คนอังกฤษยกย่อง Scott มาก Shackleton จึงได้พยายามจะสร้างวีรกรรมบ้าง โดยจะเดินทางด้วยเท้าข้ามทวีป Antarctica เป็นคนแรก (Scott ได้ใช้ม้าช่วยในการเดินทาง) โดยจะเริ่มเดินทางจากฝั่งบนทะเล Weddell แล้วเดินข้ามทวีป Antarctica ไปจนถึงฝั่งของทะเล Ross


ในการเดินทางครั้งนั้น Shackleton ได้ใช้เรื่อชื่อ “Endurance” เป็นพาหนะ ชื่อ Endurance นี้ เป็นคำที่ได้มาจากคำขวัญของวงศ์ตระกูลที่ว่า “Fortitudine Vincimus” ซึ่งประโยคภาษาละตินนี้แปลว่า “เราจะชนะอุปสรรคด้วยความอดทน” แต่การเดินทางได้ใช้เวลานาน 20 เดือน เพราะเรือ Endurance ถูกภูเขาน้ำแข็งในทะเลบีบอัดจนเรือแตก และเรือได้จมลง ทำให้ทีมสำรวจของ Shackleton ขาดการติดต่อกับโลกภายนอก และขาดพาหนะเดินทางกลับอย่างสิ้นเชิง จนใครๆ ในอังกฤษก็คิดว่า ทุกคนในทีมได้ล้มตายไปแล้ว


การเดินทางด้วยเท้าฝ่าพายุลมที่หนาวจัด เพราะในบางครั้งมีอุณหภูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส และมีความเร็วสูงถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ทารุณมาก นอกจากนี้คณะสำรวจก็ยังต้องหาเสบียงอาหารกินตลอดทาง จึงได้ฆ่าเพนกวินเป็นอาหาร และกินเนื้อสุนัขเพื่อประทังชีวิต


ตารางเวลาของการต่อสู้ เพื่อเอาชีวิตของทีมสำรวจทุกคนให้รอด มีดังนี้

วันที่ 5 ธันวาคม ปี 1914 ทีมสำรวจได้ออกเดินทางจากสถานีล่าวาฬบนเกาะ South Georgia

วันที่ 7 ธันวาคม ปี 1914 เรือ Endurance ได้เผชิญภูเขาน้ำแข็งในทะเลเป็นครั้งแรก

วันที่ 18 มกราคม ปี 915 เรือถูกยึดแน่นโดยภูเขาน้ำแข็งในทะเล Weddell

วันที่ 27 ตุลาคม ปี 1915 ท้ายเรือ Endurance ได้ถูกก้อนน้ำแข็งบีบอัดจนแตก แล้วเรือก็ได้จมลงอย่างช้า ๆ ทีมสำรวจจึงจำเป็นต้องสละเรือ เพราะเรือได้จมลง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 1915 จากนั้นคณะสำรวจจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแผ่นน้ำแข็งหนา ในการดำรงชีพเหนือทะเล โดยมีเรือชูชีพ 3 ลำ ติดไปด้วย


วันที่ 9 เมษายน ปี 1916 ทีมสำรวจในเรือชูชีพได้เดินทางถึงเกาะ Elephant

ในวันที่ 24 เมษายน ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 1916 Shackleton กับลูกเรือ 5 คน ได้แล่นเรือชูชีพเป็นระยะทาง 1,300 กิโลเมตร จนถึงเกาะ South Georgia เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนที่นั่น ให้ไปช่วยเหลือลูกเรือของตนที่ยังตกค้างอยู่บนเกาะ Elephant และในที่สุด ลูกเรือทั้ง 28 ชีวิตก็ปลอดภัย

วีรกรรมครั้งนั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ระดับตำนาน แต่ในเวลานั้นไม่มีใครสนใจมาก เพราะคนอังกฤษทุกคนกำลังสนใจวีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 1 มากกว่าวีรบุรุษผจญภัย
ความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมครั้งนั้น เกิดจากความเชื่อมั่นของลูกน้องที่มีต่อผู้นำ และในเวลาเดียวกัน ผู้นำ Shackleton ก็ให้ความสำคัญสุดยอดกับสวัสดิการของลูกน้องทุกคนว่า จะต้องรอดชีวิตให้ได้ ความจงรักภักดีที่มีต่อกันนี้ ทำให้การเดินทางไปสำรวจ Antarctica ครั้งนั้นเป็นตำนานที่ได้รับการเล่าขานกันตราบจนทุกวันนี้

การมีเพียงเรื่องเล่าคงไม่เพียงพอสำหรับนักประวัติศาสตร์ เพราะถ้ามีภาพของเหตุการณ์ และภาพของซากเรือประกอบด้วย ตำนานนั้นก็จะเป็นตำนานที่สมบูรณ์แบบ

Frank Hurley (1885-1962) เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ร่วมเดินทางไปกับทีมสำรวจ และเป็นนักถ่ายภาพมืออาชีพ หลังจากที่เรือ Endurance ได้จมลงแล้ว Hurley ก็ได้ถ่ายภาพลงบนฟิล์มแผ่นแก้ว เพื่อเก็บไว้ในกล่องตะกั่ว แล้วนำไปซุกใต้น้ำแข็ง จากฟิล์มเนกาทีฟ 400 แผ่น ที่หนักมาก Hurley จำเป็นต้องทิ้งไป 280 แผ่น เพื่อลดน้ำหนักของสัมภาระที่จะต้องแบกไป เหลือภาพไว้เพียง 120 ภาพ ให้โลกได้เห็นประวัติศาสตร์

ณ วันนี้ ภาพที่ Hurley ถ่าย ได้ถูกนำไปติดแสดงที่ National Library of Australia (Hurley เป็นชาวออสเตรเลีย)


สำหรับซากเรือ Endurance ที่จมลงในทะเลนั้น ทีมสำรวจในโครงการ Falklands Maritime Heritage Trust ภายใต้การนำของ John Shears ที่ใช้เรือสำรวจชื่อ Agulhas II ที่มีลูกเรือ 63 คน เป็นนักสมุทรศาสตร์ นักธรณีฟิสิกส์ แพทย์ วิศวกร และนักนำทาง เพื่อค้นหาซากเรือ Endurance เพื่อศึกษากระแสน้ำในมหาสมุทร สภาวะอากาศ ตลอดจนสนามแม่เหล็กโลก ด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์มากมาย เช่น หุ่นยนต์บังคับใต้น้ำ (underwater autonomous vehicle; AUV) ด้วย


ในการสำรวจโดยใช้หุ่นยนต์ลงไปใต้น้ำเป็นจำนวน 30 ครั้ง แล้วตรวจดูภาพถ่ายบนจอคอมพิวเตอร์นานครั้งละ 4-8 ชั่วโมง ซึ่งภาพทั้งหมดถูกส่งผ่านขึ้นมาตามเส้นใยแก้วนำแสง ได้ทำให้พบซากเรือ Endurance ในที่สุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2022 และเรืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทั้ง ๆ ที่ได้จมน้ำมานาน 107 ปีแล้ว
ก่อนเดินทางกลับ ทีมคณะสำรวจของ John Shears ได้แวะเยี่ยมคารวะหลุมฝังศพของ Sir Ernest Henry Shackleton ที่เกาะ South Georgia

ณ วันนี้ สถาบันโบราณคดีใต้น้ำได้ยกย่อง Endurance ให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Titanic และประกาศให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งประวัติศาสตร์โลก โดยมิให้ใครมารบกวนซากเรือ Endurance ตลอดไป

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี 2024 นี้ รัฐบาล Saudi Arabia ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์สำรวจและพิทักษ์โบราณวัตถุใต้น้ำในทะเลแดง (Red Sea) และในอ่าว Arabia เพื่อให้เป็นแหล่งอารยธรรมของโลกใต้น้ำ และให้นานาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเทศในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์

ศูนย์นี้จะศึกษาซากเรือที่จมลงในทะเลแดง รวมทั้งซากเรือที่ได้เคยบรรทุกสินค้าจากเมืองต่าง ๆ ในทะเล Mediterranean โดยใช้อุปกรณ์ไฮเทค เช่น หุ่นยนต์ที่ควบคุมบังคับได้จากระยะไกล และมีอุปกรณ์ magnetometer ที่สามารถตรวจสอบสนามแม่เหล็กในทะเล ที่ระดับลึกมากได้อย่างละเอียด และมีอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำที่มีสมรรถภพสูงด้วย

โครงการนี้ มีความประสงค์จะให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์ฯ นี้ด้วย และกำลังได้รับความสนใจจากนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ทั่วโลก

ประเทศเรายังไม่มีพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณใต้น้ำ คงเพราะเรายังไม่ได้สำรวจซากเรือสินค้าที่จมอยู่ในอ่าวไทย และในแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งถ้าได้ทำ ประวัติศาสตร์ของชาติเราก็จะสมบูรณ์ขึ้น

อ่านเพิ่มเติมจา
ก Bruno, F.; Barbieri, L.; Muzzupappa, M.; Tusa, S.; Fresina, A.; Oliveri, F.; Lagudi, A.; Cozza, A.; Peluso, R. (2019). "Enhancing learning and access to Underwater Cultural Heritage through digital technologies: the case study of the "Cala Minnola" shipwreck site". Digital Applications in Archaeology and Cultural Heritage. 13: e00103. doi:10.1016/j.daach.2019.e00103. S2CID 155526789


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น