โลกของเราเปรียบเสมือนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลให้ได้เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งระบบสุริยะจักรวาล ระบบดวงดาวที่โลกของเราโคจรอยู่ ก็ยังมีปริศนามากมาย ที่รอให้เหล่านกวิทยาศาสตร์ไขปริศนาเพื่อหาคำตอบ ใน วันเด็กแห่งชาติ 2567 MGROnline Science ขอนำ 13 ความรู้วิทยาศาสตร์เรื่องโลกและระบบสุริยะจักรวาลของเรา ที่เด็กๆ น่ารู้ หรือผู้ใหญ่อาจหลงลืมไปแล้ว มาทบทวนเนื้อหากันอีกครั้ง
1.ระบบสุริยะจักรวาล คือระบบดาวที่ประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่นๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่จุดศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ 8 ดวง โคจรโดยรอบเรียงตามลำดับวงโคจรคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และ ดาวเนปจูน
2. ดาวฤกษ์ คือ วัตถุขนาดใหญ่ในอวกาศ ที่มีแสงสว่างและพลังงานในตัวเอง เป็นวัตถุที่เป็นก้อนพลาสมาสว่างขนาดใหญ่ที่คงอยู่ได้ด้วยแรงโน้มถ่วง ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ ดวงอาทิตย์ ส่วน ดาวเคราะห์ คือ วัตถุขนาดที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเองให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีวงโคจรที่ชัดเจนและสอดคล้องกับดาวเคราะห์ข้างเคียง
3. ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และยังเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุดเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ ส่วนดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่รองลงมา เรียงลำดับ คือ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน โลก ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ
4. โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ ที่อยู่ในวงโคจรลำดับที่ 3 จากดวงอาทิตย์ และเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ในปัจจุบันทราบว่ามีสิ่งมีชีวิต หมุนรอบตัวเองใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมง 56 นาที ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วัน 5 ชั่วโมง 49 นาที 12 วินาที หรือ 365.2425 วัน ส่งผลต่อการนับจำนวนวันให้ทุกๆ 4 ปีจะมีวันเพิ่มขึ้นหนึ่งวันเป็น 366 วัน เพื่อทดแทนระยะเวลาที่ไม่พอดีวันในการโคจรรอบดวงอาทิตย์
5. ฤดูกาลต่างๆ บนโลก เกิดขึ้นจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นี้ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก
6. ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก มีระยะห่างจากโลกประมาณ 385,000 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้โลกที่สุด และยังเป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 5 ในระบบสุริยะ
7. ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล คือ “ดาวเสาร์” ปัจจุบันได้ถูกค้นพบแล้ว 145 ดวง โดยมีดวงจันทร์ไททันเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ ดาวเคราะห์ลำดับที่ 1 อีกด้วย
8. เปลือกโลกเป็นชั้นนอกสุดของโลกที่มีความหนาประมาณ 0 - 70 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นชั้นที่บางที่สุดเมื่อเปรียบกับชั้นอื่น ๆ คล้ายกับ เปลือกไข่ไก่หรือเปลือกหัวหอม มีหน้าที่ห่อหุ้มพลังงานความร้อนของโลก และมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
9.โลกของเราเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะจักรวาลที่มีน้ำอยู่ครบทั้ง 3 สถานะ คือ 1.ของแข็ง (น้ำแข็ง) 2.ของเหลว (น้ำ) และ 3.แก๊ส (ไอน้ำ) สถานะของน้ำจะเปลี่ยนไปมารูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของบริเวณรอบๆ นั้น
10. บรรยากาศของโลก คือ อากาศที่ห่อหุ้มโลก มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ แก๊สชนิดต่างๆ ไอน้ำ ฝุ่นละออง และอื่น ๆ บรรยากาศสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชั้น ได้แก่
1. โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไปประมาณ 0-10 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีไอน้ำ เมฆ หมอก และพายุ
2. สตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) มีความสูงตั้งแต่ 10-50 กิโลเมตร เป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ มักใช้ในการเดินทางทางอากาศ เช่น การเดินทางโดยใช้เครื่องบิน
3. มีโซสเฟียร์ (Mesosphere) อยู่สูงจากพื้นดินในช่วง 50-80 กิโลเมตร เริ่มพบการลุกไหม้ของวัตถุนอกโลก หรืออุกกาบาต
4. เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไปตั้งแต่ 80-600 กิโลเมตร พบอนุภาคต่าง ๆ อยู่อย่างเบาบางมาก และแก๊สต่าง ๆ จะเป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ไอออน สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้
5. เอกโซสเฟียร์ (Exosphere) อยู่สูงจากพื้นดินเริ่มตั้งแต่ 600 กิโลเมตร เป็นต้นไป เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงที่สุด มีบรรยากาศเจือจางมากจนไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศ
11 .ดาวเทียมดวงแรกของโลก มีชื่อว่า “สปุตนิก 1” (Sputnik 1 เป็น) สร้างขึ้นโดยสหภาพโซเวียต ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโลกในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1957 ใช้เวลาโคจรรอบโลก 3 สัปดาห์ก่อนที่แบตเตอรีจะเสีย และตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลก
12. ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวรัสเซีย (สหภาพโซเวียต) เป็นคนแรกของโลกที่นำยานอวกาศวอสตอค 1 (Vostok 1) ขึ้นสู่อวกาศและโคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยระยะเวลาการโคจร 108 นาที ซึ่งถือเป็นภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
13. ภารกิจอพอลโล 11 คือภารกิจที่มนุษย์โลกได้เดินทางทำยานไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 โดยมี นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อัลดริน สองนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินสำรวจดาวเคราะห์อื่นและกลับมายังโลกได้สำเร็จ