เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2001 ได้มีคลื่นวิทยุห้วง (pulse) หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายในเวลา 0.005 วินาที และคลื่นนี้มีพลังงานมหาศาล ซึ่งได้เดินทางจากอวกาศที่อยู่ไกลโพ้นจนถึงโลกอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครคนใดรู้ตัวเลย ดังนั้นจึงไม่มีใครติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรับฟังสัญญาณ นอกจากนักดาราศาสตร์วิทยุแห่งหอดูดาว Parkes ในรัฐ New South Wales ของออสเตรเลีย ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดลงบนเทป
วันเวลาได้ผ่านไปจนถึงปี 2007 วงการดาราศาสตร์ จึงเริ่มรับรู้ข้อมูลของสัญญาณที่ส่งมาในวันนั้น เมื่อ Duncan Lorimer (1969-ปัจจุบัน) แห่งมหาวิทยาลัย West Virginia ในรัฐ West Virginia ของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบเทปสัญญาณ ซึ่งหอดูดาว Parkes ได้เก็บไว้ และเห็นสัญญาณหนึ่งปรากฏเป็นยอดแหลมโดดเดี่ยวอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพลังงานของคลื่นวิทยุคลื่นนั้นมีค่าเทียบเท่ากับพลังงานที่ดวงอาทิตย์ 500 ล้านดวงปลดปล่อยออกมาภายในเวลา 0.005 วินาที หลังจากนั้นสัญญาณก็ได้วูบหายไปอย่างไร้ร่องรอยใด ๆ นั่นคือ ไม่มีใครได้เห็นคลื่นที่สูงเช่นนั้นอีกเลย
ความสงสัยในความถูกต้องของข้อมูลจึงเกิดขึ้น ในประเด็นว่าเหตุการณ์ปลดปล่อยคลื่นวิทยุพลังงานสูงได้เกิดขึ้นจริง หรือมันเป็นคลื่นทิพย์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ยิ่งเมื่อไม่มีใครได้เห็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนั้นเกิดขึ้นอีก ทุกคนจึงทำใจปล่อยวางและคิดว่าสิ่งที่ Lorimer เห็น เป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นจากการปล่อยคลื่นโดยดาว pulsar ซึ่งเนื้อดาวประกอบด้วยอนุภาคนิวตรอนแทบทั้งหมด และการหมุนรอบตัวเองของดาวดวงนี้อย่างรวดเร็วบ้าระห่ำ ทำให้สัญญาณที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกจากขั้วของดาวกวาดไปในอวกาศเหมือนแสงจากประภาคาร และทุกครั้งที่สัญญาณผ่านโลก นักดาราศาสตร์บนโลกก็จะรับสัญญาณนั้นได้เป็นห้วง ๆ ที่อยู่ห่างกันอย่างสม่ำเสมอ
แต่สัญญาณที่ Lorimer เห็น กลับเป็นสัญญาณโดด ๆ ที่ไม่มีสัญญาณอื่นใดใกล้เคียง ดังนั้นมันจึงมิได้มาจากดาวนิวตรอน นอกจากนี้ห้วงเวลาที่สัญญาณเกิด (0.005 วินาที) ก็สั้นมาก นั่นแสดงให้เห็นว่า แหล่งกำเนิดของสัญญาณมีขนาดเล็ก (200-300 กิโลเมตร) หลายคนจึงคิดว่า มันอาจจะเป็นหลุมดำที่กำลังระเหิด และหลุมดำนั้นกำลังสาบสูญไปจากเอกภพ เพราะมันไม่ได้ส่งสัญญาณออกมาอีกเลย บางคนคิดว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณที่เกิดจากกาแล็กซีที่กำลังชนกัน และบางคนคิดว่ามันเป็นสัญญาณจากดาว magnetar ที่มีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงยิ่งกว่าสนามแม่เหล็กโลกประมาณ 10^18 เท่า และสูงกว่าความเข้มของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากดาวนิวตรอนประมาณ 1,000 เท่า
ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับ จนกว่าจะมีนักดาราศาสตร์คนอื่นได้เห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุกล้องอื่นสังเกต ณ สถานที่อื่น และเวลาอื่นด้วย
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2001 นั้น ก็เป็นที่รู้จักในนาม “Lorimer burst” ซึ่งเป็นการระเบิดอย่างรวดเร็ว เพื่อปล่อยคลื่นวิทยุออกมาเป็นห้วง หรือที่เรียกว่า “fast radio burst” (FRB) และปรากฏการณ์นี้ยังเป็นปริศนาลึกลับอีกหนึ่งปริศนาของโลกดาราศาสตร์มาจนทุกวันนี้
หลังจากที่ผู้คนในวงการดาราศาสตร์เริ่มยอมรับปรากฏการณ์ FRB กล้องโทรทรรศน์วิทยุแทบทุกกล้องบนโลกก็ได้เริ่มเสาะหาเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะกล้อง Canadian Hydrogen Intensity Mapping Experiment (CHIME) ของแคนาดา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Penticton ในรัฐ British Columbia ที่สามารถเห็น FRB ได้มากถึงวันละ 10 เหตุการณ์
ในปี 2010 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่ Lorimer พบเหตุการณ์ FRB 010724 (รหัสนี้ตั้งตามตัวเลขปี เดือน และวันที่ Lorimer พบสัญญาณ) Sarah Burke-Spolaor แห่งมหาวิทยาลัย Swinburne ในออสเตรเลีย ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่หอดูดาว Parkes เก็บไว้อีก และพบ FRB เพิ่มอีก 16 สัญญาณ การพบของเธอได้เพิ่มความมั่นใจให้กับทีมวิจัยของ Lorimer ขึ้นอีกมาก เพราะทุกสัญญาณมีลักษณะคล้ายกับสัญญาณที่ Lorimer ได้เห็น แต่มีรายละเอียดมากกว่า
เพราะสัญญาณประกอบด้วยคลื่นวิทยุหลายความถี่ และคลื่นเหล่านี้เวลาเดินทางถึงเครื่องรับสัญญาณจะมาถึงไม่พร้อมกัน คือ มีความแตกต่างกันประมาณ 0.002-0.003 วินาที โดยคลื่นที่มีความถี่สูงจะถึงเครื่องรับก่อน
ปรากฏการณ์การกระจายความเร็ว (velocity dispersion effect) นี้ ได้ทำให้ทุกคนรู้ว่า FRB มีแหล่งกำเนิดที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก และจากแหล่งกำเนิดจนกระทั่งถึงโลก ได้มีเมฆอิเล็กตรอนอยู่กันอย่างหนาแน่น และแก๊สอิเล็กตรอนนี้จะมีอันตรกิริยากับคลื่น FRB ที่มีความถี่ต่ำอย่างรุนแรงยิ่งกว่าคลื่น FRB ที่มีความถี่สูง ดังนั้นคลื่นที่มีความถี่ต่ำ หลังจากที่เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มอิเล็กตรอนแล้ว จะมีความเร็วลดลงเล็กน้อย การรู้เวลาที่แตกต่างกันของเหล่าคลื่น ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้ความหนาแน่นของอิเล็กตรอนในอวกาศ รวมถึงสสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในห้วงอวกาศ และระยะทางที่แหล่งกำเนิด FRB อยู่ห่างจากโลกได้
Burke-Spolaor ยังได้พบอีกว่า FRB มีพบในแทบทุกบริเวณของเอกภพ คือ มิได้มีแหล่งกำเนิดเพียงแหล่งเดียว
ลุถึงปี 2013 Matthew Bailes ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ Lorimer และเป็นอาจารย์ในสังกัดของ Swinburne University of Technology ก็ได้พบ FRB เพิ่มขึ้นอีก 4 แหล่ง ต่อจากนั้น Laura Spitler แห่ง Max Planck Institute for Radio Astronomy (MPIfR) ที่กรุง Bonn ในเยอรมนี ก็ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ Arecibo ใน Puerto Rico สังเกตดู FRB ด้วย
ซึ่งการพบ FRB โดยนักดาราศาสตร์เหล่านี้ได้ทำให้ Lorimer รู้สึกดีใจมาก เพราะนั่นแสดงว่า FRB มีในเอกภพจริง ๆ และมิได้เป็นการส่งสัญญาณโดยมนุษย์ต่างดาว หรือเป็นสัญญาณที่มาจากเรดาร์ทางทหารใด ๆ แต่เป็น FRB ที่มาจากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ยิ่งกว่าที่มาจากบริเวณในทางช้างเผือก
เนบิวลาปู Crab nebula ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดาว supernova ที่นักดาราศาสตร์จีนได้เห็นเมื่อปี 1054 ก็เป็นดาว pulsar ที่ถูกห้อมล้อมด้วยแก๊สที่เปล่งแสง และ pulsar ดวงนี้ ในบางเวลาก็สามารถปล่อยคลื่นวิทยุออกมาด้วย
คำถามที่คนหลายคนสงสัย คือ FRB อยู่ห่างไกลจากโลกเพียงใด อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด FRB และปรากฏการณ์นี้มีความสำคัญอย่างไร ฯลฯ
ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2023 นี้ Ryan Shannon แห่ง Swinburne University of Technology ที่ออสเตรเลีย ได้รายงานการเห็น FRB ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 8,000 ล้านปีแสง จึงเดินทางถึงโลกได้ การอยู่ไกลเช่นนี้ทำให้คลื่นวิทยุคลื่นนั้นต้องเดินทางผ่าน “สสาร” หลายรูปแบบที่อยู่ในอวกาศระหว่างกาแล็กซีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งได้ทำให้สัญญาณเคลื่อนที่ช้าลง การรู้ปริมาณสสารที่มองไม่เห็นหรือที่หายไปนี้ ได้มีบทบาทมากในการทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจโครงสร้างปัจจุบัน และวิวัฒนาการของเอกภพในอนาคต
ทีมวิจัยภายใต้การนำของ Shannon ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Australian Square SKA Pathfinder (ASKAP) ซึ่งเป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (SKA มาจากคำเต็มว่า Square Kilometre Array) ที่ประกอบด้วยจานรับคลื่นวิทยุที่มีรูปทรงแบบ parabola จำนวน 36 จาน โดยจานรับคลื่นแต่ละจานมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 12 เมตร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ตารางเมตร ซึ่งได้ทำงานประสานกันเป็นจานโทรทรรศน์วิทยุจานเดียว เพื่อสังเกตุดู FRB 20220610A ที่ได้เห็นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ผลการคำนวณระยะทางที่ FRB อยู่ห่างจากโลกได้ข้อสรุปว่า มันอยู่ไกลยิ่งกว่า FRB อื่นใดทั้งหมด
ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ นักวิจัยจึงต้องให้ทีมวิจัยอื่นมาตรวจสอบ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์แสงที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก คือ กล้อง Very Large Telescope (VLT) ซึ่งติดตั้งอยู่ในพื้นที่ Antofagasta Region ของ Chile กล้อง VLT นี้ ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์แสงจำนวน 4 กล้อง ทำงานประสานกันและกล้องถ่ายภาพที่ทันสมัยที่สุดในโลก เพื่อศึกษาสมบัติกายภาพทั้งหมดของ FRB ดังกล่าว
การวัดความยาวคลื่นของแสงที่กล้องได้รับ แสดงให้เห็นว่า มันมีค่า redshift ค่อนข้างสูง และมีความยาวคลื่นที่มีค่าเกือบ 2 เท่าของความยาวคลื่นปกติ นั่นแสดงว่า FRB กำลังเคลื่อนที่หนีจากโลก และเอกภพกำลังขยายตัว
การพบ redshift ที่มีค่ามากกว่า 1 แสดงให้เห็นว่า การระเบิด FRB ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 8,000 ล้านปีก่อน ขณะที่เอกภพกำลังมีอายุประมาณครึ่งหนึ่งของอายุปัจจุบัน
นักดาราศาสตร์ก็เช่นเดียวกับนักกรีฑาทั้งหลาย คือ ต้องการจะทำลายสถิติโลก ดังนั้นการพบครั้งนี้จึงเป็นสถิติการอยู่ไกลที่สุดของ FRB ในปี 2023 แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ FRB นี้ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมามากเท่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์หนึ่งดวง ปลดปล่อยออกมาใน 30 ปี คำถามที่น่าสนใจต่อไป คือ พลังงานที่ FRB สามารถปลดปล่อยออกมาได้มีค่ามากที่สุดเพียงใด ในการตอบคำถามนี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์อาจจะต้องพึ่งพาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมของดาว magnetar และต้องอาศัยการตรวจสอบความถูกต้องของคำพยากรณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ว่องไวระดับสุด ๆ (ultra-sensitive)
ด้านนักดาราศาสตร์จีนก็สนใจเรื่องดาราศาสตร์วิทยุมากเช่นกัน ดังเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2023 นี้ ทีมวิจัยในโครงการ FAST All Sky HI survey (FASHI) ได้รายงานในวารสาร Science China Physics, Mechanics & Astronomy ว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 500 เมตร และตั้งอยู่ที่มณฑล Guizhou ได้ติดตามศึกษาคลื่นวิทยุที่โมเลกุลไฮโดรเจน ซึ่งมีสภาพเป็นกลาง (neutral hydrogen) ได้ปล่อยออกมา ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปี 2023 และได้พบกลุ่มเมฆที่มีไฮโดรเจนที่มีสภาพเป็นกลางล่องลอยอยู่ในอวกาศ จำนวน 41,741 กลุ่ม และทีมวิจัยได้คาดหวังจะเห็นกลุ่มเมฆชนิดเดียวกันนี้ให้ได้มากถึง 100,000 กลุ่มในอนาคต
การที่นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จีนให้ความสำคัญสำหรับเรื่องนี้ เพราะไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีพบมากที่สุดในเอกภพ และเป็นธาตุที่มักพบในดาวฤกษ์ การรู้ปริมาณของไฮโดรเจนจะช่วยให้เรารู้วิวัฒนาการของเอกภพในระยะยาว และการรู้ปริมาณของไฮโดรเจนในอวกาศจะสามารถกระทำได้ โดยการวิเคราะห์คลื่นวิทยุที่ไฮโดรเจนเหล่านั้นส่งออกมา ซึ่งตามปกติจะมีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตร
เหตุการณ์การพบคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตร นับเป็นการค้นพบที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในประวัติของดาราศาสตร์ ก่อนที่นักดาราศาสตร์จะพบ FRB เสียอีก เมื่อ Hendrik Christoffel van de Hulst (1918–2000) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ แห่งมหาวิทยาลัย Leiden ได้คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนระดับพลังงานของอิเล็กตรอนในอะตอมไฮโดรเจน จะสามารถส่งคลื่นวิทยุออกมาได้ แต่ในเวลานั้น (ปี 1944) เนเธอร์แลนด์กำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซี นักวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์จึงไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอกใด ๆ ความคิดฝันของ van de Hulst จึงไม่มีใครได้รับรู้ หรือวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ข่าววิทยาศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ก็ได้เริ่มแพร่ออกสู่โลกภายนอก กระนั้นนักดาราศาสตร์วิทยุส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะความเข้มของสัญญาณดังกล่าวน่าจะต่ำมาก คือ ประมาณ 10^(-18) วัตต์
จนกระทั่งปี 1951 Harold Irving Ewen (1922–2015) ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ในอเมริกา ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ Edward Mills Purcell (1912 –1997) ที่ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ในปี 1952 จากการค้นพบเทคโนโลยี Nuclear magnetic resonance (NMR) ได้ประสบความสำเร็จในการรับคลื่นวิทยุความยาวคลื่น 21 เซนติเมตรจากเมฆไฮโดรเจนที่อยู่ในอวกาศได้เป็นครั้งแรก ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุของมหาวิทยาลัย Leiden เพราะความยาวคลื่น 21 เซนติเมตรนี้ ยาวมากกว่าขนาดของฝุ่น ละออง และผงต่าง ๆ ในอวกาศมาก ดังนั้นคลื่นจึงสามารถทะลุทะลวงผ่านมลภาวะทั้งหลายเหล่านั้นได้หมด และอันตรกิริยาระหว่างคลื่นวิทยุ 21 เซนติเมตรคลื่นนั้นกับมลภาวะต่าง ๆ ก็สามารถบอกสมบัติของสสารที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกได้หมด ความประเสริฐที่น่าตื่นเต้นจึงเกิดขึ้น เพราะนักดาราศาสตร์ทุกคนรู้ว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาวต้องการจะสื่อสารกับมนุษย์โลก เขาจะต้องใช้คลื่นที่มีความยาว 21 เซนติเมตรนี้ส่งมาอย่างแน่นอน
การค้นพบนี้เกือบทำให้ Purcell ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์เป็นครั้งที่ 2
หลังจากนั้นกล้องโทรทรรศน์วิทยุก็ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตรนั้น เป็นคลื่นที่ถือกำเนิดจากอะตอมไฮโดรเจนที่อยู่ในอวกาศ ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำมาก (-270 องศาเซลเซียส) และมีสถานภาพทางไฟฟ้าเป็นกลาง คือ มีอนุภาคโปรตอนและอิเล็กตรอนอย่างละตัว อันตรกิริยาระหว่างโปรตอนกับอิเล็กตรอนจึงเป็นแบบไฟฟ้า (คือระหว่างประจุบวกกับประจุลบ) นอกจากนี้ก็ยังมีอันตรากิริยาระหว่าง spin ของโปรตอนกับ spin ของอิเล็กตรอนด้วย (คือ เป็นอันตรกิริยาสปิน-สปิน (spin-spin interaction)) อันเป็นปรากฏการณ์ควอนตัม
ดังนั้นถ้า spin ของอิเล็กตรอนสวนทิศกับ spin ของโปรตอน สถานภาพของพลังงานในระบบจะมีค่าต่ำ จึงเป็นสถานะพื้นฐาน (ground state)
แต่ถ้า spin ของโปรตอนกับอิเล็กตรอนทั้งคู่ชี้ทิศเดียวกัน คือ ขนานกัน อะตอมจะอยู่ในสถานะกระตุ้น (excited state) ที่มีพลังงานสูงกว่าสถานะพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้เวลาอิเล็กตรอนกลับทิศของ spin จากสถานะกระตุ้นมาสู่สถานะพื้นฐาน มันจะปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณร้อยล้านปี แต่การมีอะตอมไฮโดรเจนเป็นจำนวนมาก และการชนกันระหว่างอะตอมได้เกิดขึ้นบ่อย การกลับทิศของ spin จึงมีโอกาสเกิดได้มาก
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะมีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตร และเมื่อความเร็วแสงมีค่า c= 3 x (10^8) เมตร/วินาที ดังนั้นความถี่ (f) ของคลื่นวิทยุดังกล่าวจึงเท่ากับ
การรู้ความถี่ของคลื่นต่าง ๆ จะช่วยให้เรารู้ความเร็วในการเคลื่อนที่ของแหล่งปล่อยคลื่นด้วยตามหลักของ Doppler ซึ่งถ้าวัดได้แม่นยำ จะทำให้รู้ระยะทางที่แหล่งกำเนิดคลื่นอยู่ห่างจากโลกด้วย
ดาราศาสตร์วิทยุจึงทำให้นักดาราศาสตร์ได้พบ quasar, รังสี CMB (Cosmic Microwave Background), pulsar และ FRB ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมจาก Tognetti, Laurence (22 October 2023). "Now Astronomers have Discovered "Ultra-Fast Radio Bursts" Lasting Millionths of a Second". Universe Today. Archived from the original on 23 October 2023. Retrieved 23 October 2023.
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์